"เฮนรี พอลสัน" คาดอาจมีธนาคารในสหรัฐฯ ล้มละลายอีก ฉุดดาวโจนส์ร่วง 2% เมื่อคืนนี้ พร้อมยอมรับมาตรการ 7 แสนล้านดอลลาร์ ไม่อาจดูแลสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนและไม่ตื่นตระหนก
วันนี้ ( 9 ต.ค.) นายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กระทรวงการคลังเมื่อคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย โดยแสดงความเห็นว่า ตลาดการเงินทั่วโลกยังคงตึงตัวมาก ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ พร้อมระบุว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าที่กระทรวงการคลังจะเริ่มเข้าไปซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินตามมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์
นายพอลสัน ระบุว่า แม้สหรัฐใช้มาตรการฟื้นฟูภาคการเงินเพื่อซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน แต่ก็อาจมีธนาคารอีกหลายแห่งล้มละลาย พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนและไม่ตื่นตระหนก
"ภาวะผันผวนในตลาดการเงินอาจจะไม่จบลงเร็วนัก และสหรัฐยังมีความท้าทายที่ใหญ่หลวงรออยู่ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของเรากำลังดำเนินการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เพื่อกอบกู้ระบบการเงินให้กลับมาทำงานตามกลไกปกติ"
ทั้งนี้ การแสดงความเห็นของพอลสันเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลง 189.01 จุด หรือ 2.00% ปิดที่ 9,258.10 จุดเมื่อคืนนี้ ซึ่งส่งผลบดบังปัจจัยบวกที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ร่วมกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางสวีเดน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางแคนาดา ประกาศลดดอกเบี้ยพร้อมกันที่ระดับ 0.5% เมื่อวานนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นายพอลสันขานรับความร่วมมือของ 6 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย โดยกล่าวว่าการที่ธนาคารกลางพร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นความพยายามร่วมกันที่จะยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย และเป็นการรับมือกับวิกฤตการณ์สินเชื่อแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กัน
"ผมขอย้ำว่าตลาดการเงินสหรัฐและทั่วโลกยังคงอยู่ในสภาพที่ตึงตัวมาก ในช่วงสุดสัปดาห์นี้เราจะมีการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 การประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และการประชุมธนาคารโลก ซึ่งเชื่อว่าวาระการประชุมจะชูประเด็นวิกฤตการณ์ด้านสินเชื่อเป็นวาระหลัก"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของกระทรวงการคลังสหรัฐหรือไม่ ที่ปล่อยให้เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย จนเป็นเหตุให้สถาบันการเงินรายอื่นๆล้มละลายตามมามากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ พอลสัน กล่าวว่า ตนเองและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกมากนัก และเมื่อมองย้อนกลับไป ผมเชื่อว่าเราดำเนินการถูกต้องแล้ว และขอย้ำว่าในขณะนั้นไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดต้องการเข้าซื้อ "เลห์แมน บราเธอร์ส" อีกเลย