xs
xsm
sm
md
lg

เตือนรับมือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี’52 ส่งออก-ลงทุนทรุด-เลือกตั้งใหม่ชี้ชะตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จักรมณฑ์” เตือนไทยรับมือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เห็นผลชัดปี 2552 คาดส่งออก ลงทุนหดตัว แต่จีดีพีมองยังโต 5% เหตุพื้นฐานแข็งแกร่งจากภาคการผลิต ชี้ ตัวแปรสำคัญ คือ การเมือง หากยุบสภาเลือกตั้งใหม่ต้องเฟ้นกุนซือเศรษฐกิจมาบริหารให้ดีกว่าปัจจุบัน เพื่อสร้างเชื่อมั่นให้ได้ “ส.อ.ท.” เตือนภาคผลิตรับมือตลาดหดการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น แถมกำลังซื้อในประเทศจะซบเซา สศอ.ปรับลดเป้าจีดีพีภาคอุตฯโตไม่เกิน 7% ขณะที่ผู้บริหารซีพี ชี้ ส่งออกจะไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอีกต่อไป แต่ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจจะมาจากการลงทุนของภาครัฐบาลในโครงการเมกะโปรเจกต์ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศ แนะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลง จี้ รัฐต้องเร่งสางปัญหาการเมือง

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลกระทบวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา ว่า ไม่ว่าผลการแก้ไขปัญหาของสหรัฐฯจะออกมาในรูปแบบใดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอนและผลจะชัดเจนขึ้นในปี 2552 เนื่องจากกำลังซื้อสหรัฐฯจะหดตัว ดังนั้น จะกระทบกับการส่งออกของไทยที่ลดลงทั้งจากการส่งออกทางตรง คือ การส่งออกไปสหรัฐฯและทางอ้อมคือการส่งออกชิ้นส่วนไปยังประเทศอื่นๆเพื่อผลิตแล้วส่งไปยังสหรัฐฯอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ ยังจะกระทบกับภาวะการลงทุน เพราะเม็ดเงินจะถูกดูดกลับภาพรวมการลงทุนในประเทศจะชะลอตัวลง

“วิกฤตการเงินครั้งนี้ อาจจะลากยาวไป 2-3 ปี แต่โชคดีที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งเพราะเราโตจากภาคการผลิตที่แท้จริงไม่ได้โตแบบการเก็งกำไร และผ่านบทเรียนวิกฤตปี 2540 มาแล้ว มองภาพรวมปีหน้าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพียังโตได้ 5% ถือว่าไม่ได้เลวร้าย แต่ที่น่าห่วง คือ เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งเสถียรภาพการเมือง ซึ่งหากมองแล้วคดียุบพรรคอาจนำมาซึ่งการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการสรรหาทีมเศรษฐกิจที่จะมาบริหารได้ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะอารมณ์คนไทยเวลานี้เบื่อการเมืองทำให้ไม่เกิดการจับจ่ายใช้สอย” นายจักรมณฑ์ กล่าว

*****ทีม ศก.ปัจจุบันไม่มีเอกภาพ

สำหรับการเมืองปัจจุบันการบริหารด้านเศรษฐกิจมาจากต่างพรรคไม่มีเอกภาพ การทำงานจึงยากในการประสานงานและให้นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถือเป็นจุดอันตรายที่จะมีผลให้การลงทุนชะลอยาวได้ แม้ว่า นายโอฬาร ไชยประวัติ จะมานั่งรองนายกรัฐมนตรีดูแลเศรษฐกิจ แต่อาจจะประสานได้เพียงแค่กระทรวงการคลังเท่านั้น ซึ่งวิกฤตการเงินสหรัฐฯจำเป็นที่การเมืองต้องมีเสถียรภาพ แต่การเมืองไทยแปลกตรงที่รัฐบาลไม่มีที่ทำงาน เพราะโดนยึดทำเนียบ แถมผู้ตั้งรัฐบาลมีคดีที่ฟ้องร้องอยู่ในศาลซึ่งไม่มีที่ใดในโลกเป็นเช่นนี้ ขณะเดียวกัน ต้องสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับการเมือง ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลเน้นการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจทั้งที่สามารถแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจได้

******เตือนรับมือตลาดหด-แข่งขันรุนแรง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองสหรัฐฯจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งคงต้องติดตามว่าจะออกมารูปแบบใดแม้ว่า รัฐสภาสหรัฐไม่ผ่านแผนกู้วิกฤติการเงินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯก็คาดว่าจะมีการเสนออีกรอบหรือไม่ ก็อาจรอการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ แต่เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ยังมีอยู่ดังนั้นย่อมกระทบกับการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยและไทยจะได้รับผลพวงในแง่ของการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ลดลงชัดเจน และผลดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันการส่งออกรุนแรงมากขึ้น

“ปีหน้าเอกชนต้องทำงานหนัก เพราะหากพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯก็ต้องหาตลาดใหม่เพิ่ม และจะเกิดการแข่งขันรุนแรงเพราะจีนส่งออกไปสหรัฐฯไม่ใช่น้อย ประกอบกับช่วงโอลิมปิกหมดแล้วจีนย่อมต้องการตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ในประเทศเองก็จะเหนือยด้วยเพราะแรงซื้อก็จะลดลงตามเพราะหากตลาดหุ้นซบเซาก็มีผล และสำคัญคือหากปัญหาการเมืองไม่จบก็จะทำให้แรงซื้อชะลอตัวต่ออีก” นายสันติ กล่าว

******ลดเป้าจีดีพีอุตฯโตไม่เกิน 7%

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์อาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในที่สุด ซึ่ง สศอ. ประมาณการของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปี 2551 คาดว่าจะมากกว่า 7% แต่เมื่อดูปัจจัยต่างๆ แล้วคาดว่าจะขยายตัวไม่เกิน 7% เท่านั้น

******ซีพีชี้ส่งออกไทยปีหน้าหด 10%

ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามที่สภาสหรัฐฯปฏิเสธแผนกู้วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐ 7 แสนล้านดอลลาร์ ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง 10 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลเหลือ 96 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ซึ่งวิกฤตการณ์การเงินไม่เพียงแต่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงเท่านั้น แต่ได้ลามไปถึงสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เช่นกัน

ผลกระทบจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯแม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทย แต่จะส่งผลกระทบทางอ้อม หากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลง จะทำให้ประเทศที่ส่งสินค้าไปขายสหรัฐฯได้รับกระทบตามมา ซึ่งได้แก่ จีนและอินเดียที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐฯไม่ถึง 20% ของมูลค่าการส่งออก ดังนั้น เชื่อว่า ปีหน้าการส่งออกของไทยจะไม่สดใสเหมือนปีนี้ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือย เช่นอัญมณี ขณะที่การส่งออกอาหารจะได้รับผลกระทบน้อย

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำอย่างเร่งด่วนและต้องทำควบคู่กันไป คือ ปัญหาการเมืองที่ต้องเร่งสร้างความสมานฉันท์ สามัคคี ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐต้องเร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์อย่างจริงจัง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินไหลเวียนอยู่ในระบบมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องหาแนวทางกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศ เพื่อทดแทนการส่งออกที่จะลดลง รวมทั้งหามาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน โดยทำให้ปัญหาการเมืองสงบเรียบร้อย

“ผมคิดว่าวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินตึงตัวทั่วโลก รวมทั้งไทย การจัดหาสินเชื่อทำได้ยากขึ้น ดังนั้น แบงก์ชาติน่าจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอยู่ที่ 3.75% และรัฐต้องเร่งเบิกจ่ายนำเงินมาช่วยเหลือคนด้อยโอกาส หรือธุรกิจขนาดกลางและย่อม โดยจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง ให้ธุรกิจอยู่รอดได้ รวมทั้งดูแลเรื่องต่างชาติถอนเงินทุนออกไปด้วย”

ดร.อาชว์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาวิกฤตการเงินทั่วโลกคงไม่ยุติโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง 2-3 ปี ส่งผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง โดยปีนี้คาดว่า จีดีพีของไทยอยู่ที่ 5% แต่ปีหน้าจีดีพีจะอยู่ที่ 4-4.5% ส่วนเศรษฐกิจไทยจะซึมยาวแค่ไหน คงต้องรอดูนโยบายรัฐว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรออกมา รวมทั้งการแก้ปัญหาการเมืองที่ต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งอายุของรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน เพราะมีปัจจัยลบ เช่น คดียุบพรรค เป็นต้น

สำหรับการส่งออกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คิดว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นการส่งออกสินค้าอาหาร ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นต้องการดำรงชีพ และมีการหาตลาดส่งออกใหม่ๆอยู่เสมอ ขณะที่ตลาดสหรัฐฯเองนั้น ซีพีได้มีการสร้างเครือข่ายค่อนข้างแข็งแรง โดยการลงทุนมานานนับสิบปี

**** ส่งออกปีหน้าหด 10%

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เขตประเทศไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้ปีหน้าการส่งออกไทยจะลดลงประมาณ 10% จากมูลค่าการส่งออกรวม 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน ดังนั้นการส่งออกจะไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกต่อไป แต่ตัวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย คือ การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ และโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่การส่งออกหดตัวลง ภาคธุรกิจเองก็ควรหันไปปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับตลาดฟื้นตัวในอนาคต หลังจากที่ผ่านมาภาคธุรกิจละเลยการปรับปรุงโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ที่ปัจจุบันมีอยู่ 1,000 โรง แต่ผ่านมาตรฐานสากลเพียง 200-300 โรงเท่านั้น โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่อุตสาหกรรมเหล่านี้เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เชื่อว่าปัญหาวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง 2 ปี ส่งผลให้การส่งออกไทยจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งในปี 2554 ขณะที่ปัจจัยอีกตัวหนึ่ง คือ น้ำมัน ซึ่งจะเป็นตัวกดดันตลาดว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีกหรือไม่

“จากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อไทยทั้งภาคการผลิตและตลาดส่งออก โดยคาดว่า การส่งออกจะลดลง 10% ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯต้องระมัดระวัง ขณะเดียวกัน ตลาดส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ก็น่าจะหดตัวเช่นกันคิดเป็น 60% ของตลาดส่งออก ดังนั้น ในปีหน้า การส่งออกจะไม่ใช่ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น รัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ส่วนอัตราดออกเบี้ยเชื่อว่าแบงก์ชาติคงไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากกังวลปัญหาเงินเฟื้อเป็นสำคัญ”

ปีหน้าการส่งออกที่หดตัวลงนี้ ภาคธุรกิจคงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขอะไรได้ เพียงแต่ต้องพยายามลดต้นทุนการผลิตให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะเดียวกัน การจ้างงานเชื่อว่าคงมีผลกระทบบ้าง โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลกทรอนิกส์ อัญมณี สิ่งทอ ส่วนที่กระทบน้อย ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหาร

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า หากรัฐมัวแต่เพิกเฉยปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน(เมกะโปรเจ็กต์) แต่มุ่งเน้นตั้งแง่การเมือง จะทำให้ประเทศชาติยิ่งเสียหายหนัก

***ปีหน้าการบริโภคของ ปชช.ไม่เพิ่ม

นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ในปีนี้เกษตรกรได้มีการขยายพื้นที่ในการปลูกข้าวโพด และมันสำปะหลังเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 5.5 ล้านไร่ เป็น 6 ล้านไร่ และ 6 ล้านไร่ เป็น 7 ล้านไร่ ตามลำดับ เนื่องจากราคาพืชผลการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การขายพันธุ์พืชต่างของซีพีเป็นไปได้ด้วยดี โดยปีนี้คาดว่ากลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรจะมีรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.2-4.3 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯจะมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชชนิดต่างๆมาจำหน่ายให้เกษตรกรมากขึ้น ทั้งพันธุ์ข้าวลูกผสม พันธุ์ปาล์มและยาง เป็นต้น รวมทั้งมีการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

โดยบริษัทจะเร่งขยายการเพาะปลูกพืชต่างๆในประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาว กัมพูชา เวียดนามและพม่า เพิ่มขึ้นประมาณ 20% โดยปีหน้าจะเน้นเรื่องพันธุ์ข้าวโพดเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มการส่งออกผลไม้ ทั้ง ส้มโอขาวน้ำผึ้ง มะม่วงไปเพิ่มขึ้น 30% ซึ่งยอมรับว่า ปีหน้าการบริโภคของประชาชนคงไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่น ทำให้ลดการบริโภคลง
กำลังโหลดความคิดเห็น