xs
xsm
sm
md
lg

ทรูคอฟฟี่เบรกแผนลงทุนจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทรูคอฟฟี่ เลื่อนขั้น แยกตัวบริหารตัวเอง ภายใต้ “ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล” เดินหน้ามุ่งทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เต็มตัว ทั้งไทยและเทศ สิ้นปีรายได้โตพรวดอีก 20% จาก 100 กว่าล้านบาทในปีก่อน เหตุไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน ใช้เน็ตรับข่าวสารเพิ่มขึ้น เผย แผนขยายลงทุนจีนสะดุด

นายปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่/ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด ดูแลธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ “ทรูคอฟฟี่” เปิดเผยว่า เดิมทรูคอฟฟี่ เปิดให้บริการขึ้นมาเพื่อสนับสนุนลูกค้าในร้านทรูชอป แต่หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา มีการทดลองให้บริการหลายรูปแบบ ล่าสุด ปีนี้จึงได้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาดูแลธุรกิจ ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ “ทรูคอฟฟี่” อย่างจริงจัง ภายใต้ชื่อ บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 130 ล้านบาท ดูแลในส่วนร้านทรูคอฟฟี่ และรีเทลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของทางทรูที่มีอยู่ เพื่อสะดวกในการดำเนินธุรกิจในอนาคต

สำหรับธุรกิจร้านทรูคอฟฟี่ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ลูกค้ายังให้การตอบรับที่ดีอยู่ ล่าสุดยอดขายในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนถึง 21% เชื่อว่า น่าจะมาจากลูกค้ามีไลฟ์สไตล์ในการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลง ส่วนในอีก 3 เดือนที่เหลือ คาดว่า พฤติกรรมลูกค้าจะยังคงใกล้เคียงกับที่ผ่านมา หรือทั้งปี บริษัทจะมีรายได้เติบโตขึ้น 20% จาก 100 กว่าล้านบาทในปีก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนของแผนการขยายสาขา ปัจจุบันเปิดให้บริการ 34 สาขา แบ่งเป็นเปิดเอง 95% และขายแฟรนไชส์ 5% สิ้นปีจะเปิดให้ครบ 40 สาขา ทั้งในต่างจังหวัด คือ ขอนแก่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ รวมถึง 3 สาขาที่เป็นแผนจะเปิดในสถาบันอุดมศึกษา คือ หอการค้า, เอแบค และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแผนการเปิดร้านทรูคอฟฟี่ในมาหาวิทยาลัยนั้น วางไว้ถึง 8 สาขา จะเปิดให้ครบภายในเดือน พ.ย.ปีนี้ ซึ่งแต่ละสาขาลงทุนประมาณ 1.5 ล้านบาท พื้นที่เฉลี่ย 40 ตารางเมตร

สำหรับแผนการขยายสาขาไปต่างประเทศ จากเดิมในปีก่อนที่จะมีการขยายสาขาไปปักกิ่ง ประเทศจีน ล่าสุด ได้ระงับแผนดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากเจอผลกระทบในเรื่องราคานมและเศรษฐกิจโลก ทั้งที่มีการพูดคุยและเจรจาเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน บริษัทห่วงเรื่องการลงทุนครั้งนี้ด้วยว่า คนจีน หรือกลุ่มแรงงานค่อนข้างเซนซิทีฟเกี่ยวกับค่าแรง หากที่ใดให้มากกว่า เขาก็จะไปทันที ซึ่งเสี่ยงในการอบรมพนักงานที่เป็นคนจีนอย่างมาก ขณะที่การเปิดร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในจีน อย่างน้อยต้องมีคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 200 เครื่อง ซึ่งถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แต่การลงทุนไม่สูง เพียง 10 ล้านบาท อีกทั้งการขยายสาขาครั้งนี้เป็นรูปแบบการขายแฟรนไชส์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะชะลอแผนไปจีน แต่สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุด เจรจาขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ประกอบการในประเทศลาวไปแล้ว โดยในเดือน ต.ค.นี้จะเปิดให้บริการได้ในจังหวัดเวียงจันทน์ นอกจากนี้ ยังมี ดูไบ ที่จะเข้าไปเปิดให้บริการด้วย คาดว่า หลังจากการก่อสร้างดูไบมอลล์เรียบร้อยจะเปิดให้บริการได้ โดยเป็นการขายแฟรนไชส์อีกเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น