xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพื้นที่รบใหม่ NGVพลิกวิกฤตเทียบชั้นบิ๊ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - -โปรตอน-ฮุนได ชิงส่งรถติด NGV ตัดหน้าโตโยต้า

-หนีภาวการณ์แข่งขันรุนแรง แบ่งเค้กคนละก้อน โปรตอนกินเก๋งเล็ก-ฮุนไดซิวเก๋งกลาง

-ตลาดรถ NGV จากโรงงานยังสดใส เน้นจุดขายมาพร้อมประกัน 3 ปี ลูกค้าออเดอร์เพียบ

ตลาดรถยนต์ติดก๊าซ NGV กลายเป็นสมรภูมิ Blue Ocean สำหรับค่ายรถยนต์ใหญ่เล็กที่กำลังโดดลงโกยยอดขาย โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันทั้งเบนซิน และดีเซล ถีบตัวสูงลิ่วอย่างไม่มีวันหยุด และยิ่งตลาดส่วนที่เป็นอู่ติดตั้งก๊าซทั่วไปกำลังประสบปัญหาถังก๊าซขนาดตลาด ทำให้เป็นแรงดันให้ตลาดรถยนต์ NGV ที่ติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิตมีความต้องการสูงเป็นเท่าตัว

บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ระบุว่าขณะนี้มีจำนวนรถทั้งรถบ้าน และรถขนส่งขนาดใหญ่ ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซ NGV เฉลี่ยสูงถึง 300 คันต่อวัน หรือประมาณ 10,000 คันต่อเดือน จากเมื่อปีที่ผ่านมามียอดการปรับเปลี่ยนเฉลี่ยเพียง 20-30 คันต่อวันเท่านั้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนรถ NGV ทุกประเภทรวมกันถึง 81,00 คัน

ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ปริมาณถังก๊าซ NGV ไม่เพียงพอให้บริการกับลูกค้าทั่วไป ทำให้ค่ายรถยนต์หลายๆ แบรนด์เล็งเห็นโอกาสอันสดใสของตลาดรถยนต์ในกลุ่มนี้ และเพื่อสร้างยอดขายให้รถยนต์ในตนเองในเซ็กเมนท์ที่มีความเสียเปรียบในด้านผลิตภัณฑ์ และความแข็งแกร่งของแบรนด์กับคู่แข่งรายใหญ่

เกิดก่อนโกยก่อน
ฮุนได และโปรตอน ในประเทศไทย เป็น 2 ค่ายรถยนต์ล่าสุดที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์ติดตั้ง ก๊าซ NGV โดยฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกาศเจาะตลาดด้วยรถยนต์รุ่น โซนาต้า ในเซ็กเมนท์รถยนต์นั่งขนาดกลาง ฮุนได ถือเป็นรถธงรุ่นหนึ่งที่ใช้ในการรุกตลาดรถยนต์เมืองไทย หลังจากแบรนด์นี้หายไปจากตลาดรถยนต์ไทยหลายปี

โซนาต้า เป็นรถยนต์ที่ต้องฟาดฟันกับค่ายรถยนต์รายใหญ่ทั้ง โตโยต้า คัมรี่, ฮอนด้า แอคคอร์ด และนิสสัน เทียน่า 2 รุ่นแรกนั้นถือครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด โดยโตโยต้า คัมรี่มียอดขายในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 6,095 คัน และฮอนด้า แอคคอร์ด ทำยอดขายในช่วงเดียวกัน 5,782 คัน ส่วนนิสสัน เทียน่าทำยอดขายได้ 375 คัน ขณะที่ฮุนได โซนาต้า ทำยอดขายเป็นอันดับสุดท้าย 53 คัน

ดังนั้นภารกิจการกลับเข้าสู่ตลาดเมืองไทย ด้วยรถยนต์รุ่นโซนาต้า จึงเป็นงานที่หนักพอสมควรสำหรับค่ายฮุนได แม้ว่าจะใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ต่ำที่สุดในเซ็กเมนท์คือ 1,075,000 บาท ในการเปิดคัวต่อตลาด ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือระดับเดียวกับฮอนด้า ซีวิค ในรุ่นท้อป ที่ราคา 1,069,000 บาท

การตัดสินใจกลับเข้าสู่ตลาดเมืองไทย ในเซ็กเมนท์รถยนต์นั่งขนาดกลาง เป็นสิ่งที่ฮุนไดคาดหวังว่า เป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันไม่สูงนัก โดยมีคู่แข่งเพียงแค่ 3 รายใหญ่ๆ เพราะหากลงไปเล่นในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก คงเป็นเรื่องยากที่จะดันแบรนด์ฮุนได กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง เพราะนอกจากโตโยต้า ฮอนด้า แล้ว ยังต้องเจอกับค่ายขนาดกลางทั้ง นิสสัน มิตซูบิชิ รวมถึงเชฟโรเลตที่กำลังมาแรง

นอกจากนึ้รถยนต์ขนาดกลางพอจะสร้างผลกำไรจากการทำยอดขายได้สูงกว่ารถขนาดเล็ก เพราะการใช้กลยุทธ์ด้านราคาจะได้กำไรน้อยกว่า และต้องทำปริมาณยอดขายให้ได้มากๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่หินมาก

แต่ผลจากตัวเลขยอดดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งไม่สามารถสร้างแรงจูงใจได้มากนัก สาเหตุหนึ่งมาจากความล้มเลวของฮุนไดในตลาดเมืองไทยในอดีต ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในแบรนด์ โดยเฉพาะบริการหลังการขาย หัวใจสำคัญของการทำตลาดรถยนต์เมืองไทย

ดังนั้นการปรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ ด้วยการติดตั้งก๊าซ NGV ให้กับรถยนต์โซนาต้า รุ่น 2.0 ลิตร จากสายการประกอบรถยนต์ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ในประเทศไทย จึงเท่ากับว่า รถรุ่นนี้สามารถใช้พลังงานทางเลือกก๊าซ NGV ได้ ในราคาที่ต่ำกว่ารถยนต์คู่แข่งที่ใช้ได้เฉพาะเชื้อเพลิงเบนซินเท่านั้น

ฮุนได บอกว่า การเพิ่มทางเลือกด้วยโซนาต้า NGV ซึ่งเป็นถังก๊าซในแบบ แคปซูล ติดตั้งมากกว่า 1 ถึง เพื่อใช้พื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายเก็บถังก๊าซให้น้อยที่สุด และแม้จะติดตั้งระบบก๊าซ NGV และมีราคาสูงกว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซินปกรติแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับราคาต่ำกว่าทั้งโตโยต้า คัมรี่ ที่มีราคาเริ่มต้น 1,190,000 บาทและฮอนด้า แอคคอร์ด ที่มีราคาเริ่มต้น ที่ 1,090,000 บาททำให้โซนาต้า สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ต้องการใช้รถยนต์ ที่ต้องการรถยนต์นั่งขนาดกลางที่มีความประหยัดมากกว่า และยังเป็นตลาดที่ไร้คู่แข่งในเซ็กเมนท์นี้ด้วย

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ฮุนได ต้องเร่งสร้างคือ ความมั่นใจต่อแบรนด์ และเครือข่ายศูนย์บริการ ปัจจุบันฮุนไดมีโชว์รูมและศูนย์บริการทั้งหมด 25 แห่ง ซึ่งฮุนได มีแนวคิดในการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการทำยอดขายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้รถฮุนได วิ่งอยู่บนท้องถนน และทำให้ผู้บริโภคได้เห็น และจะทำให้ความเชื่อมั่นของลูกค้าเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้นหากโซนาต้า CNG สามารถทำยอดขายได้มากกว่ารุ่นปกรติ

ภาพลักษณ์ในแง่ลบในอดีตของฮุนได ก็อาจจะค่อยๆ ถูกลบออไป นั่นหมายถึงการกลับมาของฮุนได ในเมืองไทยก็จะสมบูรณ์ และพร้อมแข่งขันกับค่ายรถอื่นๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบ เหมือนกับในประเทศอื่นๆ ที่รถยนต์ฮุนไดสามารถสร้างยอดขายได้เหนือรถยนต์จากญี่ปุ่น

โปรตอนชูรถถูกแถมติดก๊าซให้
ด้านโปรตอน รถยนต์จากมาเลเซีย ที่อยู่ในมือของ พระนครยนตรการ ผู้นำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทย เตรืยมบุกตลาดรถยนต์ติดตั้ง NGV เช่นกัน ปัจจุบันโปรตอนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา ด้วยรถยนต์ ด้วยรถยนต์ 3 รุ่นประกอบด้วย เชฟวี่, นีโอ และเจนทู ใน 3 ตลาดหลักคือ รถยนต์นั่งซิตี้, รถยนต์นั่งขนาดคอมแพ็กต์ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ตามลำดับ

เชฟวี่นั้น ถือว่าทำยอดขายได้จนเป็นที่น่าพอใจให้กับ พระนครยนตรการ เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่มีราคาต่ำคือ 399,000 บาทเท่านั้น ถือว่าเป็นเซ็กเมนท์ใหม่ ทำให้ไม่มีคู่แข่งมากนัก นอกเหนือจาก นาซ่า รถยนต์ราคาถูกจากมาเลเซียที่ทาง กลุ่มยนตรกิจนำเข้ามาทำตลาด ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน นีโอนั้นอาจทำยอดขายได้ไม่ดีนัก เนื่องจากต้องแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า ยาริส และวีออส รวมถึง ฮอนด้า แจ๊ซ และซิตี้ แม้ราคาของโปรตอนจะต่ำกว่าพอสมควร

ขณะที่ เจนทู นั้น เมื่อต้องแข่งกันรายใหญ่ด้วยเช่นกันคือ โตโยต้า อัลติส และฮอนด้า ซีวิค ไม่รวมกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางทั้ง นิสสัน ทีด้า, มาสด้า 3 และมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ทำให้เจนทู อยู่ในเซ็กเมนท์ที่มีการแข่งขันหนักที่สุด

โดยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โปรตอนมียอดขายทั้งหมด 1,500 คัน เป็นเชฟวี่ 50% , นีโอ 20% และเจนทูอีก 30% ที่เหลือ

แม้ทางพระนครยนตรการจะมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ ที่มีรูปร่างไม่เป็นรองรถในกลุ่มเดียวกัน พร้อมกับราคาที่จูงใจ จะทำให้ตลาดให้ความสนใจรถรุ่นนี้ไม่แพ้ค่ายรถญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามพระนครยนตรการได้มีการปรับแปลผลิตภัณฑ์เพิ่มด้วย การติดตั้งระบบก๊าซ NGV ให้กับโปรตอนเจนทู

เจนทู รุ่น NGV จะเปิดตัวราวปลายเดือนนี้ พระนครยนตรการ บอกว่า นอกจากเชฟโรเลต ออพตร้า NGV แล้ว เจนทูจะเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ติดตั้งก๊าซ NGV ออกจากสายการประกอบ และมั่นใจว่า ตลาดกลุ่ม NGV จะให้การตอบรับรถยนต์รุ่นดังกล่าวพอสมควร

การที่เป็นค่ายรถยนต์ขนาดเล็ก ทำให้โปรตอนสามารถปรับแผนผลิตภัณฑ์ได้เร็วกว่า ผู้นำตลาดอย่างโตโยต้า ที่ต้องใช้เวลาอีกจนถึงเกือบสิ้นปีถึงจะสามารถเปิดตัวรถยนต์ โตโยต้า ลิโม่ NGV ออกมาได้ พระนครยนตรการเปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการว่า จะผลิต เจนทู NGV ออกมาทำตลาดราวเดือนละ 150 คัน แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าความต้องการของตลาด แต่ปริมาณดังกล่าวจะเพียงพอสำหรับการให้บริการหลังการขายสำหรับ โปรตอน จะเร่งขยายศูนย์บริการให้ได้ครบ 40 สาขาภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 30 แห่ง

CNG โอกาสปั้นยอดสู้รถญี่ปุ่น
การเข้าสู่ตลาด NGV ของ 2 ค่ายรถเล็กที่ว่านี้ เป็นการเดินตามรอยของ เชฟโรเลต ภายใต้การบริหารงานของ เจอเนอรัล มอเตอร์ ประเทศไทย ชาติชาย สุวรรณเสวก กรรมการอำนวยการบริหาร บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ จำกัด และผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ประจำภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แผนการรุกตลาดรถยนต์ NGV หรือ CNG ในตอนนี้ถือว่าเป็น บวกอย่างมาก เป็นผลมากจากความนิยมรถติดตั้งก๊าซ NGV ในเมืองไทยที่สูงขึ้น ประกอบกับการที่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เร่งดำเนินการติดตั้งสถานีให้บริการก๊าซ NGV เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซ สำหรับให้บริการได้อย่างทั่วถึง

ภายหลังจากการเปิดตัว เชฟโรเลต ออฟตร้า CNG ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันรถรุ่นนี้มียอดขายในสัดส่วนมากถึง 80% ของยอดขายเชฟโรเลตออพตร้าในประเทศไทยในช่วง5 เดือนที่ผ่ามาที่มีกว่า 2,671 คัน ซึ่งเป็นยอดขายสูงเป็นอันดับ4 ของเซ็กเมนท์รถยนต์นั่งขนาดเล็ก โดยผู้นำตลาดในช่วง 5 เดือนแรกของปีเป็นของ ซีวิค จากฮอนด้า 13,463 คัน ตามด้วยโตโยต้า อัลติส 12,075 คัน และนิสสันทีด้าอีก 2,720 คัน

ตัวเลขยอดขายดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนารถยนต์ CNG ของเชฟโรเลตในประเทศไทย เนื่องจากเซ็กเมนท์นี้มีคู่แข่งจากค่ายรถญี่ปุ่นมากมาย แต่ก็สามารถทำยอดขายแซง มาสด้า 3 และมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ได้

ชาติชาย ระบุว่า ก่อนการเปิดตัวออพตร้า CNG มีการประเมินว่าจะทำยอดขายกันประมาณเดือนละ 50 คันเท่านั้น แต่ปัจจุบันยอดขายของรถรุ่นนี้สูงถึงเดือนละ 500 คัน แม้ราคาจะสูงกว่ารุ่นปกติ แต่ผู้บริโภคก็ยอมรับ เพราะในที่สุดแล้วรถที่ใช้ CNG สามารถประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากถึงปีละกว่า 100,000 บาท

ออพตร้า ถือเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ให้ความประหยัดในหลายๆ ด้าน เพราะนอกจากจะใช้เชื้อเพลิงก๊าซ NGV แล้ว ยังสามารถใช้น้ำมันเบนซินได้ทั้ง E10 และ E20 หรือแม้แต่ในอนาคตหากมีการผลัดกัน E85 ซึ่งนอกพื้นที่ให้บริการ NGV ผู้บริโภคสามารถใช้น้ำมันก๊าดโซฮอล์ได้ทุกประเภทควบคู่กัน

นอกจากนี้เชฟโรเลต ยังขยายตลาดรถยนต์ NGV ไปถึงรถปิกอัพ โคโรล่าโด ทั้งรุ่นซิงเกิลแค็ป และปิกอัพตอนเดียว โดยเป็นเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ที่ใช้น้ำมันดีเซล ผสมกับกับก๊าซ NGV ในสัดส่วน 65%:35% เดิมนั้นปิกอัพโคโรล่าโด CNG ต้องการผลิตเพื่อเจาะตลาดที่เป็นกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะภาคขนส่ง แต่หลังการส่งมอบรถในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามียอดสั่งจองเข้ามามากถึง 400 คัน จากเป้าหมายการผลิตทีเตรียมไว้ 200 คันในปีนี้

ทำให้ปัจจุบัน เชฟโรเลตมีการศึกษา และพัฒนา การใช้ก๊าซ NGV กับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่มีอยู่ ซึ่งบางรุ่นอาจต้องมีการพัฒนาการออกแบบภายในใหม่ เพื่อรองรับถังก๊าซที่บรรจุเข้าไป

ชาติชายระบุว่า ความสำเร็จในตลาดรถยนต์ติดก๊าซ NGV ดังกล่าว เป็นเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และการรับประกันจากบริษัทผุ้ผลิตรถยนต์ เนื่องจากรถยนต์บางรุ่นบางญี่ห้อหากนำไปติดตั้งก๊าซแล้วจะทำให้ การรับประกันตัวรถและเครื่องยนต์สิ้นสุดลง แต่สำหรับเชฟโรเลตนั้น มีการติดตั้งระบบก๊าซ CNG ในขั้นตอนสุดท้ายของสายการผลิต โดยวิศวกรของเชฟโรเลตเอง ทำให้สามารถให้การรับประกันตัวรถและเครื่องยนต์เหมือนกับรถยนต์เชฟโรเลตทั่วไป

ทั้งนี้การตัดสินใจรุกตลาดติดก๊าซ NGV จากโรงงานเป็นรายแรกของเชฟโรเลตครั้งนี้ เป็นการบุกเบิกตลาด และเมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันสูงจนผู้บริโภคส่วนใหญ่ ไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ และหาหนทางในการลดภาระดังกล่าว เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ยอดขายเชฟโรเลตเติบโตมากกว่าค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นหลายๆ ค่าย และเมื่อรวมกับแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ เชฟโรเลต ถือเป็นผู้นำในเรื่องนี้ รวมถึงจำนวนเครือข่ายศูนย์บริการที่มากถึง 100 แห่งทั่วไประเทศ ทำให้ลูกค้าเริ่มให้การยอมรับทั้งตัวผลิตภัณฑ์ และแบรนด์

CNG ตลาดหรูเบนซ์จองยาว
เมอร์เดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) เป็นค่ายรถยนต์หรูเพียงรายเดียวที่เข้าสู่ตลาดรถยนต์ NGV ด้วยการส่งรุ่น E-200 CNG เข้าสู่ตลาดในช่วงปีเศษๆ จนปัจจุบันรถยนต์รุ่นนี้สามารถทำยอดขายในสัดส่วนมากกว่า 50% ของเบนซ์ C-Class ในเมืองไทย ฉัตวิทัย ตันตราภรณ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด และสื่อสารองค์กร เมอร์เดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) บอกว่า รถยนต์รุ่นนี้เป็นรถที่ผลิตจากประเภทเยอรมัน ดังนั้นลูกค้าส่วนใหญ่จะมั่นใจได้ทั้งในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัย

อย่างไรก็ดี E-200 CNG เป็นทางเลือกหนึ่งให้กับลูกค้าเบนซ์ และกลุ่มผู้ใช้รถหรู ที่ต้องการในเรื่องพลังงานทดแทน และความประหยัด ซึ่งเป็นเรื่องปกรติที่เบนซ์ จะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ให้กับลูกค้าได้เลือก เพราะลูกค้าของเบนซ์ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ต้องการความประหยัดเพียงอย่างเดียว บางกลุ่มก็ต้องการรถที่ให้สมรรถนะสูงด้วยเช่นกัน ทำให้ในระยะเวลาอันใกล้ เบนซ์ ยังจะไม่เพิ่มรถรุ่น CNG

ทั้งนี้เบนซ์ เป็นเพียงค่ายเดียวในตลาดรถยนต์ระดับหรู ที่รุกตลาดเครื่องยนต์ NGV ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยู คู่แข่งสำคัญนั้น กลับพุ่งเป้าไปที่ตลาดเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นตลาดที่เบนซ์ อยู่มาค่อนข้างนาน ส่วนตลาดเครื่องยนต์ NGV นั้นคาดว่าจะไม่อยู่ในเป้าหมายของบีเอ็มดับเบิลยู เนื่องจากในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปแล้ว บีเอ็มดับเบิลยู พุ่งเป้าไปที่เครื่องยนต์พลังงานทดแทนประเภทไฮโดรเจน ทำให้คาดว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ จะครองตลาดรถหรู NGV ได้อย่างถาวร

มาที่หลังแต่ไม่พลาดตำแหน่งแชมป์
สำหรับโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยนั้น หลังการประกาศนโยบายวิจัย และพัฒนาในเรื่องพลังงานทดแทนในประเทศไทย โครงการต่างๆ ก็ทยอยออกมาให้เห็น ทั้งเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ดีโฟร์ดีที่รองรับการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10หรือโครงการ Bio –Hydrogenated Diesel ซึ่งมีโครงสร้างเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลแต่มีคุณภาพที่เหนือกว่า ด้วค่าซีเทนที่สูงกว่า 80 % จนถึงโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริด หรือเครื่องยนต์ลูกผสมระหว่าน้ำมัน และมอเตอร์ไฟฟ้า

ขณะที่รถยนต์ติดตั้ง NGV นั้น โตโยต้าบอกว่า จะผลิตรถยนต์โตโยต้า โคโรล่า ลิโม่ สำหรับเป็นรถรับส่งสาธารณะ หรือแท็กซี่ พร้อมติดตั้งก๊าซ NGV ออกจากโรงงานในช่วงปลายปีนี้ แม้ค่ายรถอื่นๆ ชิงเปิดตัวกันก่อน แต่คาดกันว่าจะไม่ส่งผลต่อยอดขายโคโรล่า NGV ที่จะออกมา เนื่องจาก โตโยต้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด และโคโรล่าเป็นรถยนต์รุ่นที่ตลาดต้องการมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยเห็นได้จากปริมาณรถแท็กซี่ที่มีความต้องการอยู่ที่เดือนละประมาณ 500 คัน และที่ผ่านมารถแท็กซี่ทั้งหมดถึงนำไปติดตั้งระบบก๊าซ NGV นอกโรงงานทั้งสิ้น

ส่วนในตลาดรถปิกอัพนั้น โตโยต้าเผยว่าอยูระหว่างการศึกษาและพัฒนา ปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ ติดตั้งก๊าซ NGV ด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวต่อตลาดได้ราวๆ กลางปี 2552 ทำให้โตโยต้าจะเป็นผู้ผลิตรายที่สองในตลาดปิกอัพที่เข้าสู่ตลาด NGV ต่อจากเชฟโรเลต และด้วยกำลังการผลิต เครือข่ายศูนย์บริการที่มากถึง 300 แห่ง รวมทั้งงบประมาณการตลาด น่าจะทำให้โตโยต้า สามารถดึงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่ง และรถปิกอัพติดตั้งก๊าซ NGV มาอยู่ในมือได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ด้านอีซูซุ คู่ปรับสำคัญนั้น ปัจจุบันยับไม่แสดงท่าทีในการเข้าสู่ตลาด รถปิกอัพ NGV แต่อย่างใด แม้ว่ารถปิกอัพดีแมคซ์ ส่วนหนึ่งจะผลิตในโรงงานเดียวกันกับ เชฟโรเลต โคโรล่าโด ของกลุ่มจีเอ็มในประเทศไทย ซึ่งอีซูซุ สามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลกับ ก๊าซ NGV กับเชฟโรเลตได้ ดังนั้นอยู่ที่การตัดสินใจของอีซูซุ ว่าจะเดินทางเดียวกันหรือไม่ และหากอีซูซุ รุกเข้าตลาด NGV ก็จะเป็นคู่แข่งสำคัญของโตโยต้า แน่นอน

มิตซูฯส่งCNG ขัดตาทัพ
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทยเองก็มีแนวคิดที่จะทำโครงการติดตั้งเครื่องยนต์ซีเอ็นจีในรถยนต์รุ่น แลนเซอร์ ในเซ็กเมนท์เดียวกับออพตร้า และโคโรล่า โดยขณะนี้ได้มีการทดลองวิ่งและส่งไปทดสอบยังประเทศญี่ปุ่น เบื้องต้นคาดว่าแลนเซอร์ CNG จะผลิตออกมาเดือนละ 500 คัน และ ทำออกมา 3 รุ่นด้วยกันคือ รุ่นเกียร์ธรรมดา ,รุ่นเกียร์อัตโนมัติ และรุ่นท้อป

โดยใช้จุดขายเดียวกันกับ รถยนต์ CNG ที่ผลิตจากโรงงานเช่นเดียวกันค่ายอื่น เช่นเงื่อนไขการรับประกันนั้นรถใหม่ 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ส่วนราคาของรถจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 30,000 -45,000 บาท อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ หลายๆ แห่งได้ติดตั้งก๊าซ NGV เพื่อทำตลาดเองไปก่อนแล้ว เพื่อแข่งกับรถยนต์จากคู่แข่ง เนื่องจากมิตซูบิชิ แลนเซอร์รุ่นปัจจุบัน เป็นช่วงปลายโมเดลทำให้ตัวผลิตภัณฑ์ขนาดความสดใหม่ ทำให้แข่งขันกับรถคู่แข่งในตลาดค่อนข้างลำบาก ดังนั้นการเพิ่มรุ่นก๊าซ NGV จึงเป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้า และยังเป็นเซ็กเมนท์ใหม่ที่มีโอกาสค่อนข้างสดใส ก่อนที่จะมีการปรับโฉมมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ใหม่ในปี 2552

น้องใหม่ทาทา แจ้งเกิดNGVปั้นแบรนด์
ด้านทาทา ที่เพิ่งเปิดตัวปิคอัพต้นแบบ รุ่น ซีนอน ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 29 ที่ผ่านมา ก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาปิคอัพ ซีนอน ให้เป็นรุ่น CNG ซึ่งขณะนี้กำลังทำการศึกษาและพิจารณา โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาและออกมารองรับกับตลาดได้ภายในสิ้นปี 2551

สำหรับ ซีนอน CNG ในรุ่นนี้แตกต่างจากค่ายอื่นๆเพราะมีการพัฒนาจนสามารถรองรับพลังงาน CNG100 % โดยไม่จำเป็นต้องผสมกับน้ำมันดีเซลเหมือนรถยนต์ของเชฟโรเลต ทั้งนี้ทาทา ประกาศจุดขายของปิกอัพซีนอน CNG ให้เป็นปิคอัพแบบยกสูงหรือ ไฮ เทอร์เรน ทุกรุ่น จะมีการติดตั้งถังก๊าซระหว่างแซสซีย์ กับพื้นรถปิคอัพ ส่งผลให้ไม่เปลืองพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายปิคอัพ

แม้ทาทา จะเป็นน้องใหม่ในตลาดรถปิกอัพ แต่การตัดสินใจรุกตลาดในเซ็กเมนท์ รถ NGV เป็นการเลือกเจาะตลาดที่มีการแข่งขันไม่รุนแรง และเมื่อทาทารุกตลาดปิกอัพด้วยเรื่องราคา บวกกับจุดขายในเรื่องก๊าซ NGV 100% ทำให้ทาทา มีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจกว่าค่ายรถคู่แข่ง

แต่สิ่งที่ทาทา ยังไม่สามารถสร้างให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้คือ เครือข่ายและศูนย์บริการ เนื่องจากบริการหลังการขายเป็นสิ่งจำเป็นของตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถปิกอัพที่ใช้เทคโนโลยีก๊าซ NGV ซึ่งเป็นของใหม่ ดังนั้นเครือข่ายศูนย์บริการที่มีอยู่รางๆ 25 แห่งอาจต้องเร่งขยายเพื่อรองรับการปริมาณยอดขายในอนาคตอันใกล้
กำลังโหลดความคิดเห็น