xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.แฉกลโกงผ่านเว็บไซต์ บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล เสี่ยงสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เปิดกลโกงลูกค้าสถาบันการเงิน ผ่านเว็บไซต์ ธปท. ทั้งกลโกงบัตรเครดิต กลโกงเกี่ยวสินเชื่อบุคคล การหลอกลวงข้อมูลทางการเงินลูกค้าผ่านโทรศัพท์ ยันไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ ธปท.โทรหาลูกค้าสถาบันการเงินไม่ว่ากรณีใด เตือนอย่าให้ข้อมูลลับใคร ไม่ว่าจะมีข้ออ้างอย่างไร หากพบเรื่องดังกล่าวให้ติดต่อสถาบันการเงินทันที หรือ ร้องเรียนมายัง ธปท.ได้เช่นกัน

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้ออกแนวทางเตือนลูกค้าสถาบันการเงินไม่ให้หลงเชื่อการหลอกลวงประชาชนให้เสียทรัพย์ผ่านช่องทางระบบการเงินและสถาบันการเงิน เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่า การลอกลวง แลฉ้อโกงประชาชนในรูปแบบต่างๆ มีเพิ่มขึ้นจำนวนมากทั้ง การล่อลวงข้อมูลลูกค้าจากกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น การโกงบัตรเครดิต กลโกงเกี่ยวสินเชื่อบุคคล รวมไปถึงการกระทำความผิดในรูปแบบใหม่คือ การปลอมแปลง และสร้างเว็บไซด์ และอีเมล์ของสถาบันการเงินปลอม เพื่อให้ลูกค้ายืนยันข้อมูลทางการเงิน และนำข้อมูลไปโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตให้บุคคลที่ 3

ทั้งนี้ เท่าที่ ธปท.รวบรวมได้การหลอกลวงโดยใช้ช่องทางของสถาบันการเงิน พบว่า ในกรณีของบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรสินเชื่อส่วนนุคคลนั้น กลโกงลูกค้าของกลุ่มมิจฉาชีพ จะประกอบด้วย 1. การใช้อุปกรณ์อ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็ก (เครื่อง Skimmer) คัดลอกข้อมูลส่วนตัวที่บันทึกในแถบแม่เหล็กบนบัตรเครดิต แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปทำบัตรปลอม และนำบัตรปลอมนั้นไปซื้อสินค้าหรือบริการ 2. การขโมยบัตรเครดิตหรือนำบัตรเครดิตที่สูญหายไปใช้โดยเจ้าของบัตรไม่รู้ตัว 3. การปลอมแปลงเอกสารสำคัญเพื่อสมัครบัตรเครดิต หรือบัตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือน เพื่อหลอกลวงให้สถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิต และบัตรต่างๆ ให้หลงเชื่อ และนำบัตรนั้นไปใช้จ่ายในนามของท่าน

ดังนั้น เพื่อป้องกันเป็นผู้ใช้บริการบัตรเครดิตควรจะอยู่ ณ จุดที่พนักงานทำรายการชำระบัตรเครดิตอยู่ หรืออยู่บริเวณใกล้ ๆ ในระยะที่สังเกตได้ทุกครั้งที่ชำระเงินผ่านบัตร หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตในร้านค้าที่มีความเสี่ยงหรือมีข่าวเรื่องการทุจริต นอกจากนั้น ลูกค้าควรตรวจสอบความถูกต้องของรายการใช้จ่ายในสลิปบัตรเครดิต เช่น จำนวนเงิน วันที่ทำรายการ เลขที่บัญชี ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต และควรเก็บสำเนาสลิปบัตรเครดิตเอาไว้เพื่อใช้ตรวจกับใบแจ้งยอดบัญชีว่าถูกต้องและตรงกัน หากพบรายการผิดพลาด ต้องรีบแจ้งผู้ออกบัตรเครดิตทันที รวมทั้งระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลทางการเงิน และบัตรเครดิตตกกับคนอื่น

ขณะที่การหลอกลวงเพื่อให้รู้ข้อมูลของลูกค้านั้น ธปท.พบเป็น 2 กรณี กรณีแรก เป็นการโทรศัพท์เพื่อหลอก ลวงข้อมูล ซึ่งในช่องทางนี้ ธปท.ขอให้ทราบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่มีเจ้าหน้าที่ของ ธปท. มีส่วนเกี่ยวข้องในการโทรศัพท์ขอข้อมูลท่านอย่างแน่นอน อย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอ้างของพวกมิจฉาชีพ เพราะที่ผ่านมาจะมีลักษณะของการโทรศัพท์ไปหาลูกค้าประชาชนและแจ้งว่า ท่านค้างชำระหนี้จำนวนหนึ่งและจะมีเจ้าหน้าที่ของฝ่ายกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โทรมาสอบถามข้อมูลเพื่อแก้ไขข้อมูลหนี้ที่ค้างชำระนั้นให้ถูกต้อง

ต่อมาผู้ที่อยู่ในกลุ่มมิจฉาชีพอีกคนหนึ่งจะโทรศัพท์มาเป็นครั้งที่สองโดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ธปท. มาขอข้อมูล เช่น วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตร ATM หรือหลอกลวงให้ไปที่ตู้ ATM และทำรายการตามที่บอก โดยอ้างว่าเพื่อแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ซึ่งจะกลายเป็นการโอนเงินไปให้กลุ่มมิจฉาชีพ

นอกจากนี้อาจมีพฤติกรรมอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกัน วิธีการปกติในการที่จะล่อลวงเอาเงินของลูกค้าประชาชนที่มีบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตร ATM หรือบัตรที่ใช้ในการถอนเงินต่าง ๆ พวกมิจฉาชีพจำเป็นต้องรู้ข้อมูลของลูกค้าเสียก่อน โดยเฉพาะรหัสต่าง ๆ เช่น Security Code (หมายเลข 3 ตัวสุดท้ายที่อยู่ด้านหลังบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต) และใช้ข้อมูลรหัสดังกล่าวไปทำบัตรปลอมเพื่อลักลอบถอนเงินของลูกค้า ดังนั้น จึงไม่ควรเปิดเผยข้อมูลทางการเงินทุกประเภทของลูกค้าให้คนไม่รู้จักไม่ว่าจะมีข้ออ้างอย่างไร และควรตรวจสอบไปยังธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินนั้น เพื่อสอบถามความจริง หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น หากไม่แน่ใจว่ามิจฉาชีพเหล่านี้ได้ข้อมูลของตนเองไปหรือไม่

สำหรับกรณีที่ 2 ในการหลอกลวงข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นวีธีใหม่ที่สุด คือ การหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของการปลอมแปลง e-mail หรือสร้าง Website ปลอม เพื่อหลอกให้ลูกค้าเปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงินหรือข้อมูลส่วนตัวต่างๆ วิธีการที่พบในปัจจุบัน คือ การหลอกให้ลูกค้าหลงเชื่อว่ามี e-mail มาจากสถาบันการเงินและใช้หัวข้อและข้อความที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ขอให้ลูกค้าแจ้งยืนยันข้อมูลทางการเงินเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยของบัญชีลูกค้า หรือ การแจ้งลูกค้าว่าถึงรอบระยะเวลาที่การตรวจสอบข้อมูลลูกค้า หรือ การแจ้งว่าบัญชีของลูกค้าได้ถูกอายัดไว้ชั่วคราว จึงขอให้ลูกค้ายืนยันข้อมูล เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าสามารถดำเนินการได้ต่อไป เป็นต้น โดยมีการแนบแบบฟอร์มการสอบถามข้อมูล เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หมายเลขบัตรเครดิต เลขที่บัญชีเงินฝาก ชื่อบัญชีผู้ใช้บริการ (Username) และรหัสผ่าน (Password)

หลังจากที่ลูกค้าได้กรอกข้อมูลลงใน Website ปลอม หรือแบบฟอร์มการสอบถามนั้น ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น การโอนเงินหรือการชำระเงินให้บุคคลที่สามผ่านการให้บริการ Internet Banking หรือ Telephone Banking หรือ Mobile Banking หรือ การซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตโดยใช้บัตรเครดิต ดังนั้น ธปท.ข้อเตือนว่า อย่าตอบรับ e-mail ที่ขอให้ท่านส่งข้อมูลส่วนตัวให้ รวมทั้ง ไม่ส่งข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลสำคัญทางการเงินผ่านทางระบบอีเมล์ให้กับคนที่ไม่รู้จัก และหากไม่แน่ใจกรณีใดๆ ควรติดต่อที่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของบัญชี หรือ สามารถร้องเรียนมายัง ธปท.ได้ในเวลาทำการ
กำลังโหลดความคิดเห็น