xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.ศึกษาทำประกันเพาะปลูกข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คปภ.เตรียมศึกษาการรับประกันเพาะปลูกข้าว โดยใช้ดัชนีน้ำฝนเป็นเครื่องชี้วัด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับชาวนา หลังประสบความสำเร็จในการรับประกันข้าวโพดเป็นพืชนำร่องก่อนหน้านี้แล้ว

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ คปภ.กำลังศึกษาร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มกลุ่มสินค้า เช่น พื้นที่เพาะปลูกข้าวนอกเหนือจากการรับประกันข้าวโพคในโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝน (Weather Index) ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนได้ในเร็วๆ นี้

“หากสามารถดำเนินการได้เร็ว จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าว เพราะหากประสบปัญหาภัยแล้งและเครื่องชี้วัดบ่งบอกว่าเข้าเกณฑ์ในการประกัน ก็จะดำเนินการจ่ายประกันให้กับเกษตรกรพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายในทันที” นางจันทรา กล่าว

นางจันทรา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คปภ.ได้ร่วมกับหน่วยงานข้างต้น เปิดตัวโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝนไปแล้ว เริ่มประกันภัยให้กับข้าวโพด ในเขตพื้นที่เพาะปลูกอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.สนใจซื้อประกันภัยมากกว่า 35 ราย รวมพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 962 ไร่ ในฤดูเพาะปลูกปีแรก 2550 รวมเบี้ยประกันภัยรวม 89,030 บาท วงเงินคุ้มครอง 1,331,900 บาท คุ้มครองเริ่มตั้งแต่ 16 ก.ค.-13 ต.ค.2550 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ผลจากปัญหาภัยแล้งไม่ได้กระทบจนสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทำประกันภัยไว้แต่อย่างใด

ส่วนในปีนี้ คปภ.ได้ขยายพื้นที่รับประกันตามโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝน โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพคใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี นครสวรรค์ และ นครราชสีมา เริ่มเปิดรับประกันและจำหน่ายกรมธรรม์ดังกล่าวได้ ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.นี้เป็นต้นไป หากเกษตรกรต้องการทราบรายละเอียดสามารถสอบถามสายด่วนประกันภัย 1186 ได้ทั่วประเทศ

สำหรับความคุ้มครองและชดเชยความเสียหายจากการประกันภัยดังกล่าว จะวัดจากค่าดัชนีน้ำฝนสะสมขั้นสูงเทียบกับปริมาณน้ำฝนสะสมที่วัดได้จากสถานี หรือเครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำฝนหนัก โดยมีหลักเกณฑ์ คือ 1.หากปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ระหว่างดัชนีน้ำฝนสะสมชั้นต่ำ-ชั้นสูง ถือว่าเป็นภัยแล้งบางส่วน ก็จะชดเชยในอัตราหนึ่งมิลลิเมตรของปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าดัชนีน้ำฝนสะสมชั้นสูง/ไร่ 2.ถ้าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงต่ำกว่าค่าดัชนีน้ำฝนสะสมขั้นต่ำถือว่าเป็นภัยแล้งหนัก จะชดเชยเท่าเงินคุ้มครองสูงสุดต่อไร่เป็นจำนวนเท่าไหร่ก็เอาจำนวนไร่ที่เอาประกันภัยคูณ 3.ถ้าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงเฉลี่ยสูงกว่าดัชนีน้ำฝนสะสมชั้นสูงถือว่าไม่เป็นภัยแล้ง จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชย

ทั้งนี้ เกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชที่เอาประกันภัยจริง และมีอายุ 20 ปีขึ้นไป แบบประกันภัยมีให้เลือก 2 แบบ ซึ่งทั้ง 2 แบบ จะแยกระยะเวลาคุ้มครอง 3 ระยะคือ ช่วงเพาะปลูก( 30 วัน) ช่วงเติบโต (20 วัน) ช่วงออกดอกออกผล (30 วัน) แบบแรกเบี้ยประกันภัย 114 บาท/ไร่ ค่าชดเชยสูงสุดต่อไร่ตั้งแต่ 1,000-1,700 บาท แบบ 2 เบี้ยประกันภัย 80 บาท/ไร่ ค่าชดเชยสูงสุดต่อไร่ตั้งแต่ 700-1,200 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น