ผลสำรวจ ม.หอการค้าฯ ชี้ตัวเลขการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีเงินสะพัดประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พร้อมระบุ คนไทแห่เที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 21% เพราะผลพวงเงินบาทแข็งค่า
วันนี้(9 เม.ย.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำนวน 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 4 เมษายน พบว่า ร้อยละ 53 เชื่อว่าบรรยากาศสงกรานต์ปีนี้จะสนุกกว่าปีที่แล้ว มีเพียงร้อยละ 14 ที่เห็นว่าจะสนุกน้อยกว่า และร้อยละ 33 เห็นว่าจะเหมือนเดิม พร้อมคาดว่าจะมีเงินสะพัด 96,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 4.5 ซึ่งถือว่าคึกคักน้อยกว่าที่ควร เพราะผู้บริโภคยังกังวลเรื่องราคาสินค้าและน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีส่วนทำให้คนไทยเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปีที่แล้วเป็นร้อยละ 21 ในปีนี้ ส่วนใหญ่ไปเที่ยวในย่านเอเชีย เพราะค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับในประเทศ
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า โครงสร้างการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงสงกรานต์ปีนี้ พบสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ไม่มากนัก โดยร้อยละ 42 จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนร้อยละ 47 จะใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลงและร้อยละ 10 จะใช้จ่ายลดลง เนื่องจากกังวลเรื่องราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น ส่วนแผนการใช้จ่ายนอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีเรื่องการทำบุญร้อยละ 33 ด้วยเงินใช้จ่ายเฉลี่ย 1,060 บาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคร้อยละ 31 จำนวนเฉลี่ย 1,122 บาท และเลี้ยงสังสรรค์ร้อยละ 21 จำนวนเฉลี่ย 2,233 บาท เงินที่จะนำมาใช้จ่าย พบว่า กลุ่มตัวอย่างจะใช้เงินจากเงินเดือนร้อยละ 39 ใช้เงินโบนัสและรายได้พิเศษร้อยละ 26 ส่วนเงินออมใช้เพียงร้อยละ 34 สำหรับสถานที่ที่คนไทยตั้งใจจะไปเที่ยวคือ เที่ยวทะเลร้อยละ 44 น้ำตกร้อนละ 24 ภูเขาร้อยละ 19 จังหวัดยอดนิยม 3 อันดับแรกคือ ชลบุรี ระยองและพระนครศรีอยุธยา
ขณะที่ผู้บริโภคยังกังวลเรื่องอุบัติเหตุร้อยละ 80 และกังวลเรื่องอากาศร้อนกับปัญหาจราจรในสัดส่วนร้อยละ 76 เท่ากัน ซึ่งถือเป็นปีแรกที่คนกังวลเรื่องอากาศเท่าเรื่องอุบัติเหตุ รองลงไปคือ การเล่นสงกรานต์รุนแรงและขโมยทรัพย์สิน