ซีคอนสแควร์ เบรกแผนผุดโครงการซีคอนซิตี้ หมื่นล้าน รออีก 2 ปีผังเมืองใหม่คลอด คุยกำไรปีที่แล้วขึ้นหลัก 300 ล้านบาทเป็นครั้งแรก ลั่นอีก 5 ปีต้องกำไรเกิน 500 ล้านบาท ปีนี้ทุ่มงบ 300 ล้านรีโนเวตใหญ่ เพิ่มพื้นที่โซนการศึกษา ตั้งเป้าปีนี้รายได้ทะลุพันล้าน
นายตะติยะ ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการซีคอนซิตี้ ที่เคยประกาศตัวไปด้วยมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 7,000-10,000 ล้านบาทนั้น บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ถนนศรีนครินทร์ติดกับซีคอนสแควร์ ปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ อะไรมากนัก เนื่องจากล่าสุดต้องรอเวลาอีกประมาณ 2 ปี เพื่อรอผังเมืองฉบับใหม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่ใช้ผังเมืองเก่านี้มาแล้วประมาณ 2 ปี ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่เฉลี่ยทุก 5 ปี
โดยปัจจุบันพื้นที่ที่เตรียมลงทุนพัฒนานี้อยู่ใน โซนสีส้ม หรือ ย 7 ซึ่งสามารถพัฒนาเชิงธุรกิจได้เกือบทุกประเภท โดยแนวโน้มอาจจะมีการปรับเป็น สีน้ำตาลหรือ ย 8 ซึ่งจะสามารถพัฒนาอะไรได้อีกมากในเชิงกว้างและลึกขนาดใหญ่กว่าเดิม
“เราทำมาสเตอร์แพลนมา 3 ปีแล้ว แต่มันยังไม่ได้เริ่ม คอนเซ็ปท์หลักยังคงเป็นโครงการขนาดใหญ่โดยมีรีเทลเป็นหลัก และมีอาคารสำนักงาน และอื่นๆ เพื่อรองรับความเจริญในละแวกนี้ อีกทั้งเมื่อถนนศรีนครินทร์มีการขยายเป็น 8 เลน ขึ้นมา ก็ยิ่งจะทำให้ย่านนี้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งดี เพราะเรารู้สูตรการทำโครงการขนาดใหญ่ดี ซึ่งเราไม่ทำโครงการเล็กๆแน่นอน” นายตะติยะกล่าว
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2547-2550 มีประชากรย้ายเข้ามาอยู่ในแคทชเม้นท์แอเรียนี้ ( Catchment Area) ประมาณ 50,000 ครัวเรือน หรือ 200,000 คน ซึ่งประกอบไปด้วย เขตประเวศ บึงกุ่ม บางนา สวนหลวง ลาดกระบัง พระโขนง มีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นร่วม 100 โครงการ เป็นคอนโดมิเนียมระดับราคา 1.3-3 ล้านบาท และบ้านเดี่ยวระดับราคา 3-20 ล้านบาท
ส่วนแผนการรับบริหารโครงการนั้นยังไม่ได้มีอะไรที่เป็นเชิงแอคทีฟมากเท่าใด ขณะที่ธุรกิจโรงแรมนั้นเริ่มดำเนินการแล้ว โดยเมื่อเดือนที่แล้วเริ่มก่อสร้างโรงแรม เรอเนสซองส์ ภูเก็ต มูลค่า 1,200 ล้านบาท กำหนดเสร็จเดือนกันยายนปีหน้า มอบหมายให้เครือแมริออทบริหารงาน เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว คาดจุดคุ้มทุน 7 ปี และอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 70% และยังมีโครงการโรงแรมในอนาคตอีกที่ กระบี่ สมุย
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของซีคอนสแควร์ในปี 2551 ตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 1,100 ล้านบาท คาดจะมีกำไรสุทธิประมาณ 335 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตรายได้ประมาณ 10% ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่เข้าศูนย์การค้าซีคอนสแควร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% หรือมีประมาณ 6.3 ล้านคัน เฉลี่ย 520,000 คันต่อเดือน
ทั้งนี้การลงทุนปีนี้ตั้งงบไว้ที่ 300 ล้านบาท เพื่อรีโนเวทใหญ่ คาดเสร็จปีหน้า โดยจะปรับให้ศูนย์ออกมาเป็นแนวโมเดิร์น แต่ยังคงกลิ่นอายเดิมของซีคอนสแควร์ไว้ พร้อมกับมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดด้วยงบตลาด 50 ล้านบาท พร้อมกับจะใช้งบอีก 20 ล้านบาท ในการขยายพื้นที่โซนการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 8,000 ตารางเมตรในเฟสที่สี่ เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พื้นที่รวม 25,000 ตารางเมตร บนชั้น 3-4 ซึ่งจะทำให้อัตราการใช้พื้นที่เป็น 99%
โดยปี 2550 ซีคอนสแควร์ มีรายได้ประมาณ 992 ล้านบาท เติบโต 7% กำไรสุทธิ 305 ล้านบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มีกำไรเกิน 300 ล้านบาท ปรกติจะกำไรเฉลี่ย 200 กว่าล้านบาท มีรถยนต์เข้ารวม 6 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 5% เฉลี่ย 500,000 คันต่อเดือน โดยวันธรรมดา 14,000-17,000 คันต่อวัน เพิ่มจาก 12,000-15,000 คันต่อวัน วันเสาร์-อาทิตย์ จำวน 20,000 – 22,000 คันต่อวัน จากเดิม 18,000-20,000 คันต่อวัน
ความถี่ในการเข้าใช้บริการของลูกค้ามากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน มีจำนวน 8.6%, เดือนละ 3-4 ครั้งต่อเดือน จำนวน 34.3%, เดือนละ 2 ครั้ง จำนวน 47.6%, เดือนละครั้ง จำนวน 8.1%, และน้อยกว่าเดือนละครั้ง จำนวน 1.43% ซึ่งการใช้จ่ายแต่ละครั้งมี 0-500 บาท จำนวน 18.6%, 501-1,000 บาท จำนวน 41.9%, 1,001-3,000 บาทจำนวน 30%, 3,001-5,000 บาท จำนวน 7.6% และ มากกว่า 5,000 บาท จำนวน 1.9%
ทั้งนี้นายตะติยะกล่าวด้วยว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายว่า จะต้องมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 500 ล้านบาทขึ้นไป ในอีก 5 ปีนับจากนี้