ครม.อนุมัติ 6 มาตรการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ “ออมสิน” พร้อมนำร่องหั่น ดบ.ธนาคารประชาชน 0.25% ทันที พร้อมเปิดเคาน์เตอร์เซอร์วิสเพิ่ม ตั้งเปล้าลดเอ็นพีแอลจาก 5% เหลือ 2%
วันนี้ (1 เม.ย.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการพักหนี้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ NPL ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นเวลา 2 ปี, โครงการธนาคารประชาชนของธนาคารออมสิน
รวมทั้ง โครงการสินเชื่อบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำหรับที่อยู่อาศัยหลังแรกของผู้มีรายได้น้อย, โครงการสินเชื่อเพื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส., โครงการกองทุนหมู่บ้านเพิ่มเติมอีก 1,600 แห่ง และโครงการกองทุนสนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้าน SML
**ออมสิน โชว์นำร่องหั่น ดบ.เหลือ 0.25%
นายวิศิษฐ์ วงศ์รวมลาภ กรรมการธนาคารและรักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า มติที่ประชุม ครม.วันนี้ เห็นชอบให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยโครงการธนาคารประชาชน 0.25% สำหรับลูกค้าค้าที่มีประวัติการชำระดีใน 12 เดือน หลังจากการกู้วงเงินไปแล้ว โดยธนาคารพร้อมที่จะเริ่มนโยบายในทันที
“ปกติธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยโครงการประชาชนในอัตรา 1% ต่อเดือน ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่ชำระเงินต่อเนื่องในระยะเวลา 12 เดือน ธนาคารก็จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ประมาณ 0.25% และหากลูกค้าชำระคดีต่อเนื่องก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยลงให้อีก 0.25% ในช่วงปีต่อไป”
อย่างไรก็ตาม มองว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น
**เปิดจุดชำระเงินเพิ่ม หวังลดหนี้เสียเหลือ 2-3%
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารพร้อมที่จะเปิดจุดชำระเงินเพิ่มในส่วนของไปรษณีย์ไทยและเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการ ที่สำคัญ เชื่อว่า ตรงนี้จะมีส่วนช่วยในเรื่องของการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารลง โดยเฉพาะโครงการธนาคารประชาชนซึ่งในแต่ละปี NPL อยู่ในระดับที่ 4-5%
ทั้งนี้ การเพิ่มจุดชำระเงินก็ช่วยให้ NPL โดยเฉลี่ยน่าจะลดลงเหลือ 2-3% ซึ่งธนาคารพร้อมที่จะเปิดให้บริการดังกล่าวในวันที่ 1 พ.ค.2551 นี้ เป็นต้นไป