รมว.พาณิชย์ เตรียมเรียกพ่อค้าปุ๋ย แจงต้นทุน-บีบลดราคา สัปดาห์นี้ ขณะที่ รมว.เกษตรฯ เสนอเงื่อนไขเจรจาลดกำไร แทนการบีบให้ลดต้นทุน พร้อมเสนอเข้า ครม.อังคารนี้ ด้านกรมการค้าภายใน เตรียมพิจารณาราคาปุ๋ย ให้มีราคากลาง เป็นมาตรฐานเดียว
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง ซึ่งตอนนี้ กำลังเป็นปัญหาต้นทุนที่สำคัญของชาวนานั้น ภายในสัปดาห์นี้ (31 มี.ค.-4 เม.ย.) ตนเองจะเชิญผู้ผลิตและผู้นำเข้าปุ๋ยในประเทศทุกรายมาหารือ เพื่อขอดูต้นทุนราคาของแต่ละราย รวมไปถึงให้แต่ละรายแสดงราคาตามใบสั่งซื้อ เพื่อตรวจสอบว่าแต่ละบริษัทมีการกำหนดราคาจำหน่ายสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่า บางรายมีการตั้งราคาจำหน่ายปุ๋ยสูงเกินจริง หากตรวจสอบว่ารายใดตั้งราคาสูงเกินจริง กระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้ปรับลดราคาลง และให้จำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องไปหารือกับบรรดาผู้ประกอบการปุ๋ยทั้งหมดให้ชัดเจนก่อนว่า เขาจะลดราคาลงได้มากน้อยเพียงใด หากไม่สามารถตกลงกันได้ ภาครัฐต้องนำเข้าปุ๋ยมาจำหน่ายให้กับเกษตรกรแทน แต่ต้องเป็นแนวทางสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาเท่านั้น
ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 1 เม.ย.ทีมเศรษฐกิจจะนำผลการหารือการแก้ปัญหาปุ๋ยแพงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากการประชุมครม.ในวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ เสนอข้อมูลฝ่ายเดียวโดยไม่ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ก่อน
นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ยังยอมรับว่า ราคาปัจจุบันที่พ่อค้าปุ๋ยเคมีจำหน่ายในท้องตลาดอยู่ในขณะนี้เป็นราคาที่สมเหตุสมผล โดยผู้ประกอบการมีกำไรจากการจำหน่ายปุ๋ยอยู่ที่ 10% ซึ่งในส่วนนี้ไม่สามารถจะหาทางใช้ข้อกฎหมายบีบบังคับพ่อค้าปุ๋ยให้ลดราคาลงได้ แต่จะขอเจรจากับทางพ่อค้าให้ลดกำไรลงประมาณตันละ 1,000 บาท หรือคิดเฉลี่ยลดลงกระสอบละ 50 บาท อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ เคยเสนอตัวเลขว่าผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีคิดกำไรเกินควรไปถึงตันละ 7,000 บาท
โดยวานนี้ นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวหลังการตรวจสอบคลังสินค้าปุ๋ยเคมี บริเวณบริษัท เจี๋ยไต๋ จำกัด และบริษัท ไฮโดรไทย จำกัด อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาว่า คลังปุ๋ยเคมีทั้ง 2 บริษัท มีสต๊อกปุ๋ยตรงตามที่แจ้งไว้กับกรมการค้าภายใน โดยเจี๋ยไต๋ มีอยู่ประมาณ 107,000 ตัน ส่วนที่ ไฮโดรไทย มีอยู่ประมาณ 47,000 ตัน โดยทั้ง 2 บริษัทจะพยายามกระจายปุ๋ยให้เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมีเพียงพอใช้ โดยเฉพาะต้นฤดูกาลผลิตใหม่ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการราคาสินค้าและบริการ ได้กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปุ๋ยตั้งแต่ 100 ตันขึ้นไปต้องแจ้งปริมาณปุ๋ยทุกเดือน เพื่อดูแลปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ ส่วนเรื่องราคามีการตั้งคณะอนุกรรมการราคาปุ๋ย เข้ามาตรวจสอบและดูแลราคาปุ๋ย 2 ส่วน ประกอบด้วย ราคาหน้าโรงงานและราคาปลายทาง ซึ่งจะพิจารณาจากราคาต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ การขนส่ง และการบริหารจัดการ โดยขณะนี้จะเร่งพิจารณาว่าปุ๋ยแต่ละสูตรมีต้นทุนราคาเท่าไหร่ เพื่อกำหนดราคากลางของปุ๋ยแต่ละสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
กรมการค้าภายใน ได้หารือกับผู้ประกอบการค้าปุ๋ยรายหลัก เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร ให้ราคาหน้าโรงงานทรงตัวหรือปรับลดลงได้บ้าง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ประกอบการ ส่วนการขายปลีกให้มีการกำกับดูแลด้วยการกำหนดราคาแนะนำ คือ ราคาหน้าโรงงานถึงเกษตรกร แต่ต้องพิจารณาจากต้นทุนก่อนตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะมีราคาไม่เท่ากันวัดจากราคาค่าขนส่ง