xs
xsm
sm
md
lg

City Carเปิดเกมถล่มราคา หวังโกยตลาด First Jobber

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * ทัพรถยนต์มาเลเซียราคาประหยัดดาหน้าปูพรมตลาด * ราคาน้ำมันบีบผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม หันมานิยมรถเล็ก * เดิมพันอนาคตซิตี้จะรุ่งหรือร่วง

สถานการณ์การแข่งขันในตลาดรถยนต์ขนาดเล็กร้อนจนปรอทแทบแตก เมื่อค่ายยนตรกิจเข็น "นาซ่า" ลงตลาดเคาะราคาแค่ 3.49 แสนบาท ถูกกว่าทุกค่ายในตลาดไม่ว่าจะเป็นเกีย หรือโปรตอน งานนี้ทำเอาโตโยต้า ยาริส และฮอนด้า แจ๊ซ อยู่ไม่เป็นสุขต้องปรับตัวเลขขายลงมาไม่ให้เกิดช่องว่างด้านราคามากนัก

การส่ง "นาซ่า" ลงตลาดด้วยราคาเพียง 3.49 แสนบาทถือเป็นการเปิดตลาดรถเล็กให้คึกคักกว่าเมื่อครั้งที่เกีย ส่ง "พิแคนโต" ลงตลาดด้วยค่าตัว 4.49 แสนบาท หรือค่ายโปรตอนที่ส่ง "แซฟวี่" ด้วยราคาเพียง 3.99 แสนบาท หลายค่ายเชื่อว่าจากปัจจัยต่างๆที่เป็นอยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นแรงหนุนให้รถในเซกเมนต์นี้เติบโต และไม่หายตายจากเหมือนกับตลาดรถเล็กในอดีตที่ผ่านมา

อันที่จริงเซกเมนต์รถเล็กที่หลายค่ายเข้ามาเปิดตัวอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในบ้านเราแต่อย่างใด หากจำกันได้ในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมามีรถยนต์ขนาดเล็กจากหลายค่ายรถยนต์เคยรุกตลาดมาก่อน อาทิ โอเปิล คอร์ซ่า, ไดฮัทสุ มิร่า, ฟอร์ด แอสไปร์, ฮอนด้า ซีวิค 3 ประตู ซูซูกิ ฟรอนเต้ และซูซูกิ แคริบเบียน ในจำนวนนี้ ไดฮัทสุ มิร่า เป็นรถยนต์ที่มีขนาดและเครื่องยนต์เล็กที่สุดคือ 900 ซีซี. แต่สามารถทำยอดขายได้พอสมควร เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่มีราคาต่ำที่สุดคือราวๆ คันละ 250,000-300,000 บาท ขณะที่ยี่ห้ออื่นๆ มีราคาประมาณ 3-4 แสนบาท เช่น ฟอร์ด แอสไปร์ เครื่อง 1500 ซีซี ขายอยู่แค่ 3 แสนกว่าเกือบ4 แสนบาทเท่านั้น

การที่รถเล็กเข้ามาอาละวาดในบ้านเราช่วงเวลานั้น เป็นเพราะตลาดรถยนต์ยังมีช่องว่างตลาดอยู่ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ต่ำกว่า 5 แสนบาทลงมา ตอนนั้นฮอนด้า ซีวิค หรือโตโยต้า โคโรลล่า ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นเล็กที่สุดในตลาดเวลานั้นยืนราคาไว้ประมาณ 5 แสนบาท ทำให้คนเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ หรือ First jobber ไม่สามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของได้

กระทั่งบรรดาค่ายที่มีรถเล็กอยู่ในมือเห็นช่องว่างจึงส่งรถของตัวเองที่มีอยู่ในมือลงตลาดด้วยกลยุทธ์ราคาที่ต่ำเป็นใบเบิกทาง ด้วยราคาน้ำมันในช่วงนั้นไม่โหดร้ายเท่ากับตอนนี้ คืออยู่ในราว 8-9 บาทต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งหลายยี่ห้อสามารถสร้างยอดขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ขณะที่ค่ายใหญ่อย่างโตโยต้า ที่ปกติจะมีรุ่นรถชนกับฮอนด้าในทุกเซกเมนต์ ซึ่งในครั้งนั้นฮอนด้า ส่งซีวิค 3 ประตู เข้าไปสร้างความคึกคัก และสามารถสร้างปรากฏการณ์ขายใบจองมียอดขายถล่มทลาย แต่การที่โตโยต้าไม่สนใจเข้าไปเล่นตลาดนี้ก็เพราะเห็นว่าตลาดรถยนต์ยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่ต่ำกว่า 1500 ซีซี. ทำตลาดค่อนข้างยาก เนื่องจากพฤติกรรมการใช้รถยนต์ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น คนไทยให้ความสำคัญ และยึดติดกับรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1500 ซีซี. ขึ้นไป

แต่เมื่อกาลเมื่อผ่านไปตลาดรถเล็กที่ทำท่าว่าจะไปด้วยดีกลับค่อยๆหายไปจากตลาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่ทำการตลาดอย่างต่อเนื่องของบรรดาค่ายรถต่างๆ

รถเล็ก return

จากราคาน้ำมันที่ตกลิตรละกว่า 32 บาทในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ตลาดรถเล็กกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง เมื่อโปรตอน เกีย เชฟโรเลต และล่าสุด นาซ่า หวังว่าจะใช้สถานการณ์น้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกวันเป็นตัวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้รถยนต์คนไทย เพราะก่อนหน้านี้บรรดาค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ มองว่ารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กทำตลาดค่อนข้างยาก ดังจะเห็นได้ว่า ฮอนด้า ซิตี้ ขนาดเครื่องยนต์ 1300 ซีซี. โตโยต้า โคโรล่า 1300 ซีซี. จนถึง โตโยต้า อแวนซ่า 1300 ซีซี. ไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดเลย ทำให้รถยนต์รุ่นต่างๆ ดังกล่าวต้องยัดเครื่องยนต์ขนาด 1500 ซีซี. นำออกมาขายแทน

แต่ด้วยปัจจัยในเรื่องราคาน้ำมัน และสภาวะเศรษฐกิจ อาจเป็นตัวแปรสำคัญให้ คนไทยต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ โดยหันมาใช้รถยนต์ที่ให้ประสิทธิภาพความประหยัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็กลง เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคกลุ่มนี้

ในขณะที่รถปิกอัพ เดิมนั้นเป็นเซ็กเมนท์ใหญ่ที่สุดของคลาดรถยนต์ไทยเองก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลที่กำลังถีบตัวสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันเบนซิน ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อบรรทุก หันมาให้ความสนใจกับรถยนต์ขนาดเล็กเช่นกัน โดยพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเห็นได้จากการเติบโตของรถยนต์แบบ 5 ประตู ในเมืองไทย เนื่องจากสามารถทดแทนการใช้งานรถปิกอัพได้ส่วนหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้จึงคาดกันว่า รถยนต์ขนาดเล็กทั้งหลาย อาจจะทำให้ตลาดรวมรถยนต์ประเทศไทยปีนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังปีที่ผ่านมาจบตัวเลขยอดขายไม่สวยนัก 630,000 คัน หรือไม่ก็เป็นตลาดรถยนต์ที่บูม ขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมาเท่านั้น

ในปีที่ผ่านมาค่ายพระนครยนตรการ ได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการด้วยการเปิดตัว โปรตอน แซฟวี่ ราคา 3.99 แสนบาท ถือว่าเป็นรถยนต์นั่งที่มีราคาต่ำที่สุดในตลาดเลยก็ว่าได้ ขณะที่การตอบรับของแบรนด์โปรตอนในช่วงเริ่มแรกนั้น จากเดิมที่ได้มีการตั้งเป้ายอดจำหน่ายเพียง 700 คันในปี 2550 แต่ผลกลับออกมาว่ายอดขายเฉพาะงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ในปลายเดือนธันวาคมกลับถล่มทลาย กวาดยอดจองกว่า 1,000 คัน

การตอบรับของแบรนด์โปรตอนในช่วงที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ยืนยันให้เห็นถึงการเปิดกว้างมากขึ้นของผู้บริโภค จากเดิมในช่วงที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจะหยุดอยู่ที่กลุ่มรถเก๋งอย่าง โตโยต้า ยาริส ,โตโยต้า วิออส หรือ ฮอนด้า แจ๊ซ ,ฮอนด้า ซิตี้ เนื่องจากราคาของรถในกลุ่มนี้เริ่มต้นที่ 500,000 ต้นๆบวกกับการดีไซน์และแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยลบหลายประการที่เกิดขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และการเข้ามารุกตลาดรถเล็กของโปรตอน ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยยังมีช่องว่างให้เจาะอีกมาก โดยเฉพาะรถยนต์ที่ให้ความประหยัดพลังงาน

จุดนี้เองส่งผลให้ค่ายยนตรกิจ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทย ตัดสินใจนำแบรนด์รถยนต์จากประเทศมาเลเซีย ในนามของ นาซ่า ฟอร์ซ่า เข้ามาจำหน่ายและทำการตลาด

โปรตอนนำร่องตลาดรถเล็ก
ยนตรกิจบี้ตามดัน "นาซ่า" สู้ฟัด


กลุ่มพระนครยนตรการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับจำหน่ายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ ตั้งแต่ ฮุนได โฮลเด้น ไดฮัทสุ โอเปิล ฮอนด้า อีซูซุ เชฟโรเลต และอัลฟ่า โรเมโอ ก็หันมาสนใจตลาดรถเล็กขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1200 ซีซี. ซึ่งพวกเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการของรถยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย " โปรตอน "

การเข้ามาของ" โปรตอน " ภายใต้การกุมบังเหียนของพระนครยนตรการ แม้จะยังมีความคลางแคลงใจเกี่ยวกับชื่อเสียงของกลุ่มนี้ เนื่องจากในอดีตที่เคยบริหารแบรนด์ฮุนได โอเปิล และทำการเลิกร้างไป ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นเสมือนหนามที่ยอกใจของค่ายพระนครยนตรการ แม้กลุ่มผู้บริหารจะออกมาชี้แจงว่า การเลิกเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆในอดีตนั้นเป็นเพราะบริษัทแม่ต้องการทำตลาดเอง หาใช่ความไม่พร้อมของบริษัทไม่ และปัจจุบันยังคงดูแลกลุ่มลูกค้าเดิมเสมอ ไม่ได้ทอดทิ้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดตัวรถยนต์โปรตอน รุ่นแซฟวี่ อย่างเป็นทางการในปลายปีที่ผ่านมา ก็พบว่า ผลการตอบรับดีด้วยยอดจองกว่า 1,000 คันภายในระยะเวลาเพียง 10 วัน

สำหรับโปรตอน แซฟวี่ เป็นรถแฮทช์แบ็ค 5 ประตู เครื่องยนต์เบนซิน 1149 ซีซี. 4 สูบ 16 วาล์ว D4F แรงม้าสูงสุด 74 แรงม้า ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท พร้อมคอยล์สปริง โช๊คอัพ และเหล็กกันโคลงขนาดใหญ่ ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม ระบบเบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม และระบบเกียร์ 5 สปีด ระบบการกระจายแรงเบรกควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ EBD

ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริโภคให้การตอบรับแบรนด์" โปรตอน "เนื่องมาจาก ราคา ซึ่งทำการเคาะราคาที่ 3.99 แสนบาท ประกอบกับโปรโมชั่นที่มีการนำเสนออย่างผ่อนเดือนละ 7,000 บาท ถือได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับรถใหม่ที่มีในตลาด ขณะที่ความได้เปรียบที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เนื่องมาจาก การประหยัดน้ำมัน เพราะรถยนต์ในรุ่นนี้มากับเครื่องยนต์1200 ซีซี.ส่วนองค์ประกอบส่วนอื่นๆทั้งเรื่องของรูปลักษณ์การดีไซน์ รวมไปถึงเทคโนโลยี ที่มีการอ้างถึงแบรนด์โลตัส ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่ได้สวมใส่ใน" โปรตอน " ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจที่จะเป็นเจ้าของรถยนต์นี่ห้อนี้

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มรถเล็กราคาถูก ได้โฟกัสไปที่ " โปรตอน"เนื่องจากเป็นเจ้าเดียวที่มีอยู่ในตลาด กลุ่มยนตรกิจที่มีปัญหาเรื่องกงสีของตระกูล และทำการจัดการแบ่งกลุ่มการบริหารแบรนด์รถยนต์แต่ละแบรนด์เป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ทำการรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งนาซ่า รุ่นฟอร์ซ่า ซึ่งเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย มาจำหน่ายในราคา 3.49 แสนบาท

การตั้งราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด ส่งผลให้หลายคนให้ความสนใจในแบรนด์นี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โดยสาธิต เตชะลาภอำนวย ผู้บริหารแบรนด์นาซ่า กล่าวว่า ภาษีนำเข้าระหว่างไทยและมาเลเซียตามกรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้าทำให้ภาษีนำเข้าลดลงเหลือเพียง 5 % ซึ่งส่งผลทำให้รถยนต์ที่นำเข้ามามีราคาที่ถูกลง

สำหรับนาซ่า ฟอร์ซ่า เป็นรถแฮทช์แบ็ค 5 ประตู ขนาดกะทัดรัด เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 1075 ซี.ซี. DOHC แรงม้าสูงสุด 65 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 88 นิวตันเมตร ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท ด้านหลังแบบเทรลลิ่ง บีม และเทรลลิ่งอาร์ม พร้อมคอยล์สปริง โช๊คอัพ และเหล็กกันโคลงขนาดใหญ่ ระบบเบรกหน้าดิส หลังดรัม พร้อมช่องระบายความร้อน มีให้เลือกเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

ราคาถูก-โปรโมชั่นผ่อนน้อย
กลยุทธ์ทะลวงยอดขาย


สำหรับแผนการตลาดทั้ง 2 แบรนด์ในตลาดรถเล็ก นอกเหนือจากปัจจัยเรื่อง "ราคา"ที่ถูกกว่ารถยนต์ยี่ห้ออื่นๆในตลาดแล้ว การสร้างโปรโมชั่นดาว์นต่ำ - ผ่อนน้อย ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ดูง่ายดายแต่ได้ผลเหลือเชื่อ โดยแบรนด์ "โปรตอน" มีการเริ่มต้นดาว์นเพียงไม่กี่หมื่นบาท และผ่อนเดือนละ 7,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ใหม่ในตลาด ขณะที่น้องใหม่ที่มาทีหลังอย่าง " นาซ่า "ด้วยการเคาะราคาที่ต่ำกว่า ย่อมทำให้การผ่อนน้อยกว่า โดยมีข้อเสนอดาว์นเพียง 80,000 - 90,000 บาทหรือผ่อนเพียงเดือนละ 5,000 บาทเท่านั้น

ข้อเสนอดังกล่าวแม้จะดูธรรมดา แต่สำหรับผู้บริหารทั้งสองแบรนด์ที่มีการนำเข้ามาทำตลาดต่างเชื่อว่า กลยุทธ์เพียงเท่านี้จะสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการยึดเอาสโลแกน "รสนิยมหรู รายได้ต่ำ"ก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคแต่ละคนมองหาความคุ้มค่า และที่สำคัญปัจจัยเรื่องดีไซน์ที่รถเล็กราคาถูกเหล่านี้ทำออกมาไม่แพ้รถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ

โดยค่ายยนตรกิจได้นำเสนอแนวทางการตลาด ด้วยการปลุกกระแสการใช้เกียร์ธรรมดากับกลุ่มผู้บริโภค เนื่องจากรถยนต์ในรุ่นนี้เป็นระบบเกียร์ธรรมดา และวัยรุ่นหรือผู้ใช้รถส่วนใหญ่มองข้าม โดยยนตรกิจจะสื่อสารให้เห็นถึงความเป็นฮีโร่ เพราะอดีตที่ผ่านมาผู้ที่ขับรถยนต์เกียธรรมดาได้นั้นจะเป็นเสมือนฮีโร่ของกลุ่มนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้วความมั่นใจเรื่องการบริการหลังการขาย ค่ายยนตรกิจได้ใช้โชว์รูมและศูนย์บริการของรถยนต์เกียที่มีอยู่จำนวน 34 แห่งทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นกรุงเทพและปริมณฑล 17แห่ง และที่เหลือกระจายตามหัวเมืองใหญ่ๆในจังหวัดต่างๆซึ่งโชว์รูมเหล่านี้จะเป็นสถานที่ตั้งของโชว์รูมของแบรนด์นาซ่า อย่างไรก็ตามในอนาคตมีแผนการที่จะแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดต่างๆเพื่อให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมในการให้บริการอย่างทั่วถึง ส่วนศูนย์บริการของค่ายโปรตอนนั้น ตั้งเป้าในปีแรก 35 แห่ง แบ่งออกเป็นกรุงเทพ 11 แห่งและที่เหลือกระจายตามหัวเมืองต่างๆ

นอกจากรูปแบบของการตลาดที่ไม่แตกต่างกันสักเท่าไรนัก กลุ่มเป้าหมายของทั้งสองแบรนด์ยังเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยกลุ่มเป้าหมายของนาซ่า ฟอร์ซ่านั้น มุ่งจับกลุ่มลูกค้าชาวต่างจังหวัด หรือกลุ่มที่ต้องการซื้อรถเป็นคันแรก กลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการความแปลกใหม่คล่องตัว มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีฐานรายได้เริ่มต้นที่ 20,000บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของโปรตอนนั้น คือกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังมองหารถยนต์มือสองและกลุ่มที่ต้องการซื้อรถเป็นคันแรก ครอบครัวใหม่ ที่ไม่ต้องการแบกภาระมากในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้

ยนตรกิจยันแจ้งเกิดนาซ่า
ไม่ทับซ้อนตลาดเกีย พิแคนโต

ภาพรวมของการแข่งขันในตลาดรถเล็กดูจะคึกคักเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตามผู้เล่นหน้าเก่าที่เคยอยู่ในตลาดรถเล็ก แต่ถูกจำกัดด้วยราคาที่สูงกว่าแบรนด์อื่นๆอย่าง เกีย พิแคนโต ซึ่งเป็นรถยนต์สัญชาติเกาหลี แต่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศมาเลเซีย ก็เตรียมรุกตลาดอีกครั้ง ด้วยกลยุทธ์ดัมพ์ราคาลงมากว่า 100,000 บาท ซึ่งการรุกในครั้งนี้แม้ภาพรวมจะดูเป็นการกระตุ้นให้ตลาดเกิดการแข่งขัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แบรนด์เกีย และ แบรนด์นาซ่า ซางมีการนำเข้าภายใต้ชื่อของ ยนตรกิจ จะแย่งชิงฐานลูกค้ากันเองหรือเปล่า

โดย เกีย พิแคนโต เป็นรถเล็กขนาด 1100 ซีซี. เดิมราคารถยนต์รุ่นนี้อยู่ที่ 5.49 แสนบาท และรุ่นท้อป 6.19 แสนบาท ซึ่งการตอบรับของรถยนต์ในรุ่นนี้ในช่วงที่ผ่านมา มียอดขายเพียงไม่กี่ร้อยคัน โดยสาเหตุที่ยอดขายน้อยเพราะรถยนต์มีขนาดเล็ก แต่ราคากลับสูงกว่ารถยนต์ซับคอมแพ็กซ์ที่มีในตลาด จึงไม่ได้รับความนิยม อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีการนำเข้า ตามมกรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้าทำให้ภาษีนำเข้าลดลงเหลือเพียง 5 % ส่งผลทำให้รถยนต์ที่นำเข้ามามีราคาที่ถูกลง และทำให้เกีย ทำการปรับราคาของรถยนต์ในรุ่นนี้ให้เหลือเพียง 4.49 แสนบาท

การปรับราคาในครั้งนี้ของเกีย พิแคนโต แม้ทางยนตรกิจจะยืนยันว่าไม่กระทบกับการนำเข้ากับแบรนด์นาซ่า เนื่องจากเกียเป็นรถยนต์แบรนด์เกาหลี ที่มีชื่อชั้นการยอมรับที่สูงกว่าในตลาดโลก รวมไปถึงสเปคของตัวรถยนต์ก็แตกต่าง เพราะมีระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งต่างจากนาซ่า ฟอร์ซ่า ที่เป็นรับเกียร์ธรรมดา ด้วยช่องว่างของราคาที่ต่างกัน 100,000 บาท รวมไปถึงสเปคที่ต่างกันแค่ระบบส่งกำลังและดีไซน์ ทำให้หลายคนมองว่าการวางเกมหมากนี้ของยนตรกิจจะเป็นการทับซ้อน

สาธิต เตชะลาภอำนวย ผู้บริหารแบรนด์เกียและนาซ่า กล่าวว่า การนำเข้ารถยนต์ทั้งสองรุ่นเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ จะเป็นการกระตุ้นตลาดรถเล็กให้มีความคึกคักและมีการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งในส่วนของเกีย พิแคนโต และ นาซ่า ฟอร์ซ่า นั้น แม้จะเป็นรถเล็กที่มีขนาดเครื่องยนต์เท่ากัน แต่ราคาและการวางโพสิชั่นนิ่งของตัวสินค้านั้นแตกต่างกัน โดยราคานั้นแตกต่างกันหนึ่งแสนบาท ด้านกลุ่มเป้าหมายของเกียนั้นมุ่งจับกลุ่มวัยรุ่น ที่ชื่นชอบแบรนด์เกาหลี และการขับขี่ด้วยระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ ขณะที่นาซ่า นั้น มุ่งจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นในต่างจังหวัด รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถเป็นคันแรก และมีรายได้ประมาณ 20,000บาทต่อเดือน

เชอรี่ - มาสด้า 2 ,เฟียตต้า
รอแจ้งเกิดปลายปีนี้


คาดกันว่า นอกจากรถยนต์เล็กราคาถูกจากมาเลเซียแล้ว ในช่วงปลายปีจนถึงปี 2552 ตลาดรถเล็กจะยังคงมีความคึกคักกันอย่างต่อเนื่อง เพราะมีรถยนต์รุ่นต่างๆที่จ่อคิวจะเปิดตัว โดยเฉพาะแบรนด์เชอรี่ ค่ายรถจากจีน ที่ค่ายซีพี ให้ความสนใจจะร่วมทุนกับประเทศจีนและอีกหนึ่งหุ้นส่วนคนสำคัญอย่างวิทิศ ลีนุตพงษ์ จากยนตรกิจเดิม ซึ่งแต่เดิมมีการประกาศว่าจะเปิดตัวรถยนต์เชอรี่ รุ่นคิว คิว ปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงติดขัดเงื่อนไขบางประการทำให้การเจรจายังคงไม่สำเร็จ แต่เชื่อมั่นว่าภายในปีนี้คงได้เห็นรถยนต์จากประเทศจีนโลดแล่นในถนนเมืองไทยอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือ กลุ่มซีพี ประกาศแล้วว่า รถยนต์เชอรี่จะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่มีราคาต่ำที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา โดยราคาจะอยู่ระหว่างคันละ 300,000-400,000 บาท และเมื่อรถยนต์จากมาเลเซียกล้าเปิดตัวด้วยราคาเพียง 349,000 บาท รถยนต์เชอรี่ก็อาจจะเปิดตัวในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งพอสมควร

ขณะที่ค่ายมาสด้าและฟอร์ด ที่ทำการลงทุนเพิ่มไลน์การผลิตของโรงงานเอเอที ที่จังหวัดระยองในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อสามารถผลิตรถยนต์ในกลุ่ม บีเซ็กเม้นท์ อย่าง มาสด้า 2 และ ฟอร์ด เฟียตต้า ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้เตรียมที่จะขายทั้งตลาดในและนอกประเทศ ซึ่งการวางหมากในครั้งนี้ของทั้งสองค่ายแม้จะไม่มาแข่งขันโดยตรงกับรถเล็กราคาไม่เกิน 400,000 บาท เพราะเป็นรถที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ โตโยต้า ยาริส และ ฮอนด้า แจ๊ซ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากทั้งสองรุ่นนี้เข้ามาในตลาด ภาพรวมของตลาดรวมทั้งหมดจะถูกแชร์ตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงตอนนี้อาจจะยังไม่สามารถบอกถึงบทสรุปของตลาดรถยนต์ขนาดเล็กของไทยว่าจะ เติบโตแบบฟูฟ่องต่อเนื่องตลอดไป หรือ จะกลายเป็นตลาดที่บูมกันเป็นพักๆ เท่านั้น

แต่ที่แน่ๆ สมรภูมิการแข่งขันของรถเล็กในตอนนี้ถือดุเดือดไม่น้อย เพราะราคาที่ค่อนข้างแตกต่างระหว่างรถยนต์ขนาดเล็กที่มีราคาอยู่คันละ 300,000-400,000 บาทและรถยนต์ระดับซิตี้คาร์ ที่ราคาอยู่ที่คันละ 500,000 บาท แม้ปัจจุบันจะมีเพียงสองแบรนด์ที่ต้องต่อสู้กันแถมยังเป็นสายเลือดเดียวกัน และการเร่งขยายตลาดรถเล็กกันในตอนนี้ เข้าทำนองที่ว่าใครมาก่อนก็สามารถคว้าชัยไปได้ก่อน นอกจากนั้นแล้วช่วง น้ำขึ้นให้รีบตัก ก็จะเป็นกุศโลบายของแบรนด์น้องใหม่เหล่านี้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่โครงการอีโคคาร์พร้อม พวกเขาเหล่านี้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดและเข้าสู่ความเป็น RED OCEAN อย่างจริงแท้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น