รมว.คมนาคม ยอมรับ แผนบีบคอ "บีทีเอส" อาจล้มเหลว เตรียมงัดแผน 2 ย่นเวลาขายซองประมูลสีเขียวอ่อน-เข้ม เร็วขึ้นอีก 1-2 เดือน ประกาศไม่ง้อ BTS แม้ต้องต่อเชื่อมเส้นทางกัน หากเจรจาลดค่าโดยสาร หรือขอซื้อหุ้นไม่สำเร็จ
วันนี้(14 มี.ค.) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง โดยระบุว่า รัฐบาลเตรียมระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรในประเทศใช้ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม ที่ต่อขยายเส้นทางจากแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งทางด้านอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา(คลองสี่) พร้อมเร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมคาดดำเนินการได้เร็วกว่าแผน 1-2 เดือน ดันใช้ค่าโดยสารราคาเดียวตลอดเส้นทาง พร้อมเตรียมทางออกต่อเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินแทนหากเชื่อม BTS ไม่ได้
นายสันติ ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนเองได้เรียกผู้บริหารสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาหารืออีกครั้งเพื่อตรวจสอบรายละเอียด การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 4 เส้นทาง และรถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง หลังรับมอบนโยบายจากคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถเปิดขายเอกสารประกวดราคาสายสีเขียวอ่อนแบริ่ง-สมุทรปราการ (บางปู) และสีเขียวเข้ม หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา (คลอง 4) ได้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิม คือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อีกประมาณ 1-2 เดือน เพราะ รฟม.และ สนข.รายงานว่า สามารถเร่งรัดขั้นตอนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เร็วขึ้นได้อีก 1-2 เดือน
นายสันติ กล่าวว่า การก่อสร้างสายสีเขียวทั้ง 2 เส้นทาง ยังติดปัญหาการเชื่อมต่อกับเส้นทางของรถไฟฟ้า BTS ปัจจุบัน เพราะการเจรจาข้อตกลงต่างๆ เช่น การปรับลดค่าโดยสาร หรือการซื้อหุ้นระหว่างรัฐบาลกับ BTS ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการ กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้างานก่อสร้างสายสีเขียวทั้ง 2 เส้นทางตามกำหนดเดิม พร้อมออกแบบสถานีสุดท้ายที่ต้องต่อเชื่อมกับ BTS ที่สถานีอ่อนนุช และสถานีหมอชิตไว้ด้วย โดยทำเป็นสัญญาเพิ่มเติม เพื่อทันทีที่การเจรจาได้ข้อยุติร่วมกันจะได้เดินหน้างานก่อสร้าง
"หากไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติหรือตกลงกับบีทีเอสได้ รัฐบาลก็จะไม่เชื่อมต่อกับโครงข่ายของระบบบีทีเอสที่มีอยู่เดิม เพราะรัฐบาลยังมีทางเลือกที่จะไม่เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าของสายสีเขียวเข้ากับรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณช่วงหมอชิต-พหลโยธิน และอ่อนนุช-แบริ่ง เพื่อมิให้มีผลกระทบให้การดำเนินโครงการนี้ต้องล่าช้าออกไป วอนให้บีทีเอสเข้าใจและไม่เอาเปรียบรัฐบาลมากเกินไป" นายสันติกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ กระทรวงคมนาคมมีแผนรอบรับด้วยการให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดหารถชัตเตอร์บัสขนาด 30 ที่นั่ง ไว้รับ-ส่งผู้โดยสารแทน พร้อมกับให้ สนข.ออกแบบเชื่อมต่อเส้นทางจากแบริ่ง-ศรีนครินทร์ (สีเหลือง)-บางกะปิ (รถไฟฟ้า แอร์พอร์เรลลิงค์) ด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการประมูลก่อสร้างในปี 2553
"เราจะเดินหน้างานก่อสร้างสายสีเขียวตามกำหนด โดยไม่รอให้การเจรจากับ BTS ได้ข้อยุติก่อน เพราะผมจะไม่ยอมให้ปัญหาแค่นี้มาทำให้การสร้างสีเขียวล่าช้า แต่เราจะเจรจาควบคู่ไปด้วยพร้อมออกแบบสถานีสุดท้ายและเปิดสัญญาก่อสร้างเพิ่มเติมไว้ โดยระยะแรก ถ้ายังเจรจาไม่ได้ เราก็จะขนคนมาลงที่สถานีพหลโยธินกับแบริ่งไปก่อน และถ้าท้ายสุดเจรจาไม่สำเร็จจริงๆ ผมจะใช้ชัตเตอร์บัสรับ-ส่งผู้โดยสารแทน เพราะระยะทางไม่ไกล จากแบริ่งไปอ่อนนุชก็ประมาณ 2 กิโลเมตร และจากพหลโยธินไปหมอชิตก็แค่ 1 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งยืนยันว่าการทำแบบนี้ ไม่ใช่เพื่อบีบ BTS แต่เราไม่มีทางเลือกมากกว่า"
นายสันติกล่าวว่า สำหรับสายทางอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการในปี 2551 ยังเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และสีแดง บางซื่อ-รังสิต สามารถเดินหน้าการทำงานได้ทันที ขณะที่ค่าโดยสารจะพยายามจัดเก็บในระบบตั๋วราคาเดียว เพื่อความสะดวกและคุ้มค่า