xs
xsm
sm
md
lg

บีทีเอสสายปัญหา “แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-สะพานใหม่” ลงตัว! คมนาคมสร้าง กทม.บริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กทม.ยอมแล้วให้คมนาคมสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส 2 สายทางเจ้าปัญหา แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่ แต่ กทม.ต้องได้ดูแลทั้งระบบ มั่นใจ กทม.บริหารได้ไม่ขาดทุน “ธีระชน” คาดส่วนต่อขยาย 2.2 กม.ทำเงินปีแรก 100 ล้านบาท

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีที่ นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุถึงการหารือร่วมกับ กทม.ในเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยินดีที่จะให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการระบบว่า กทม.ได้ทำเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมหลายครั้งเพื่อเข้าเจรจาในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากทาง นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จนล่าสุดได้ทำหนังสือพร้อมเสนอเวลานัดไปจำนวน 3 เวลา ก็รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่ารัฐมนตรีมีภารกิจ ซึ่งตนคาดว่าหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2553 วาระ 2 และ วาระ 3 แล้วเสร็จก็จะนัดหารือในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

นายธีระชนกล่าวอีกว่า นายอภิสิทธิ์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (ตากสิน-วงเวียนใหญ่ 2.2 กม.) ณ สถานีวงเวียนใหญ่ ถึงแนวทางการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของรัฐบาล โดยท่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายรายงานชัดเจนถึงส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายหมอชิต-สะพานใหม่ กับสายแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่เดิมเป็นของ กทม.ให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างโครงการ ส่วน กทม.เป็นผู้บริหารโครงการ

“และคำว่าบริหารโครงการก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะเป็นได้หลายอย่าง เช่น รับผิดชอบทั้งหมดตั้งแต่ลงทุนทำระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ ตัวรถไฟฟ้า ระบบตั๋ว ฯลฯ หรือจะแค่ให้ กทม.จัดหารถมาวิ่งเท่านั้น แต่ที่แน่ๆ กทม.ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงการทั้งหมดทั้งที่เคยเป็นโครงการของ กทม.เองมาแต่ก่อนแล้ว” นายธีระชน กล่าว

นายธีระชนกล่าวด้วยว่า สำหรับท่าทีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ต่อเรื่องนี้นั้นยังคงเป็นลักษณะที่ไม่ยอมรับถึงแนวทางดังกล่าว เพราะยังเห็นว่าในเมื่อโครงการต้องก่อสร้างในพื้นที่รับผิดชอบของ กทม. ดังนั้น กทม.จึงควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าหากเป็นไปในแนวทางนั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องทำการประสานข้อมูลกับกทม.ตั้งแต่ในชั้นออกแบบก่อสร้างโครงการทั้งหมด จนถึงขั้นตอนทำระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณเพื่อให้รถไฟฟ้าสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางปัจจุบันได้ทั้งหมด

“ใครจะทำผมไม่ว่า แต่จะรับไม่ได้หากประชาชนจะต้องเดือดร้อนหากจะต้องขึ้นรถไฟฟ้าระบบหนึ่งแล้วอยากต่ออีกระบบต้องลงสถานีแล้วไปขึ้นสถานีของอีกระบบหนึ่ง รวมทั้งยังต้องเสียค่ารถไฟฟ้าแพงมากเท่านั้น” นายธีระชน กล่าว

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ข้อดีหาก กทม.เป็นคนดำเนินการทั้งหมดก็คือ ค่าก่อสร้างจะลดลงเพราะไม่ต้องก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (Depot) เนื่องจากมีของบีทีเอสที่หมอชิตแล้ว รวมทั้งในเรื่องของอัตราค่าโดยสารที่ กทม.ประเมินว่าสามารถกำหนดได้ในอัตราไม่เกิน 60 บาท แต่หากเป็นคนอื่นทำไม่มีทางทำได้แน่

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าทางพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมให้ กทม.เป็นคนดูแลทั้งระบบ นายธีระชนกล่าวว่า ตนมั่นใจเพราะหากกระทรวง หรือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริหารระบบก็จะเกิดความเสี่ยงในเรื่องของการขาดทุน เนื่องจากพิจารณาจากตัวเลขของรายรับและจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าใต้ดินแล้วพบว่าขาดทุนปีละกว่า1,000 ล้านบาทและมีผู้ใช้บริการเพียง 1.4-1.5 แสนจากการคาดการณ์วันละ 3 แสนคน

นายธีระชน ยังกล่าวถึงส่วนแบ่งรายได้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ในส่วนของการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลม ระยะทาง 2.2 กม.ว่า ขณะนี้ได้ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า หากประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าจากสถานีวงเวียนใหญ่-สถานีกรุงธนบุรี-สถานีตากสิน กทม.จะได้รับส่วนแบ่ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากประชาชนใช้บริการในส่วนของบีทีเอส และเข้าระบบของ กทม.นั้นก็จะคิดส่วนแบ่งตามระยะทางที่ผู้โดยสารใช้ของแต่ละระบบ ซึ่งจะเป็นไปตามสูตรที่ว่า ระยะทางส่วนต่อขยาย (2.2 กม.) คูณค่าโดยสาร (บาท) หารด้วยระยะทางที่วิ่งทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าในปีแรกของการเปิดให้บริการแบบเก็บค่าโดยสาร ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ในวันที่ 1 ก.ย. กทม.จะได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด 100 ล้านบาท ส่วนผู้ใช้บริการนั้นคาดว่าหลังจากเก็บค่าบริการจะลดลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้บริการในปัจจุบันคือ 40,000 คนต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น