ผู้จัดการรายสัปดาห์ - อุตสาหกรรมหนังไทยปีหนูไฟ สู้กันมันหยด ผู้ผลิตตั้งเป้าตลาดโต 2 พันล้าน ค่ายจีทีเอช เตรียมรับตลาดโต ชูกลยุทธ์สร้างความแกร่ง ลดความเสี่ยงด้วยการจับมือพันธมิตรใหม่ พร้อมชูจุดแข็งโปรดักชั่นเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอด คาดสิ้นปีฟันรายได้ 500 ล้านบาท ด้านน้องใหม่เอ็ม พิคเจอร์ เตรียมลุยหนังไทย คาดครึ่งปีแรกฤกษ์ลงโรง ตั้งเป้าทั้งปี 3 เรื่อง พร้อมแนะผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีใจแต่ไม่มีทุนเข้านำเสนอผลงาน
ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปีที่ผ่านมาทำรายได้รวมอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท เติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ที่มีรายได้ 1,100 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าฉายของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทั้ง 2 ภาคที่ทำรายได้กว่า 467 ล้านบาท แต่โดยรวมถือได้ว่ายังสอบผ่าน เพราะตลอดปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจถูกปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน ทั้งราคาน้ำมัน ปัญหาการเมือง การเลือกตั้ง ต่างมีผลให้ผู้บริโภคชะลอกำลังซื้อ ขณะที่ผู้ผลิตภาพยนตร์บางเจ้าก็มีการเลื่อนฉาย แต่ลงท้ายได้สวย ๆ เช่นนี้ เหล่าผู้ผลิตภาพยนตร์ก็คาดว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปีนี้ที่การเมืองเริ่มเดินเข้าสู่เส้นทาง มีรัฐบาลเข้ามานำพาเศรษฐกิจ ก็น่าจะสร้างการเติบโตไม่แพ้ปีผ่านมา
สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ผู้บริหาร บริษัทเอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปีนี้ คาดว่าจะสามารถทำรายได้กว่า 2 พันล้าน เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆคลี่คลาย รวมไปถึงการมีผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาด ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับชม และส่งผลให้ผู้บริโภคที่ยังชมภาพยนตร์ตัดสินใจมาชมหากพบว่าภาพยนตร์หรือองค์ประกอบต่างๆที่ตนเองถูกใจเข้าฉาย
ด้านวิสูตร พูนวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด หรือ จีทีเอช กล่าวว่า ถ้ามองในแง่ของปริมาณถือว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปีที่ผ่านมามีความคึกคัก แต่ถ้ามองในแง่ของรายได้แล้วตนยังเห็นว่าไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มจะเบื่อหนังตลกซ้ำซาก ดังนั้นผู้ผลิตควรจะมองหาเทรนด์และสร้างความต่าง ซึ่งมองว่าเทรนด์ของปีนี้ภาพยนตร์รัก หรือ ตลกที่มีความสดใหม่ ไม่ซ้ำใครจะยังขายได้ รวมไปถึงภาพยนตร์แนว แอคชั่น และสัตว์ประหลาดก็ยังเป็นที่ต้องการในตลาด
"หนังตลกทำได้ง่าย บางทีมีแค่พล็อตเรื่องก็สามารถถ่ายทำได้แล้ว ซึ่งเริ่มแรกคนดูก็ชอบ แต่พอมากเกินไปมันเริ่มซ้ำซาก ทำให้คนดูเบื่อ ตรงจุดนี้คงต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะถ้ามองจากเทรนด์แล้วน่าจะเป็นช่วงขาลงของหนังตลกคาเฟ่แล้ว ส่วนหนังผีก็ต้องหาคอนเซปต์ที่แปลก โดดเด่น ก็จะขายได้ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือของเราที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดต่างประเทศ ส่วนของใครที่ยังไม่พัฒนาก็จะย่ำอยู่กับที่ไม่ไปไหน "วิสูตรกล่าว
เอ็ม พิคเจอร์ เดินหน้าลุยเต็มสูบ
หวังรุกธุรกิจทุกด้านเสริมความแข็งแกร่ง
ภายหลังการจับมือควบรวมกันของเมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ และบริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ ส่งผลให้ปัจจุบันสถานภาพของเอ็ม พิคเจอร์ คือหนึ่งในบริษัทในเครือเมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ พลันที่สถานการณ์หลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป ภาพของการแข่งขันก็ดูจะมีสีสันมากยิ่งขึ้น จากบริษัทที่ถนัดและเชียวชาญการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศโดยเฉพาะหนังเอเชีย ก็หันกลับมามองตลาดภายในประเทศควบคู่ไปด้วย
สุรพงษ์ เปิดเผยว่า แนวทางหลักของบริษัทยังคงมุ่งเน้นไปที่การนำภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาฉาย เพราะถือเป็นโมเดลบิสสิเนสที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ แต่จะมีการเพิ่มลูกเล่น และสร้างโพสิชั่นนิ่งให้กับโมเดลดังกล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการทำตลาดของภาพยนตร์จากต่างประเทศแบบครบวงจร อาทิ การนำนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องต่างๆที่นำมาเข้าฉายมาร่วมทำกิจกรรมกับลูกค้า ก็จะมีให้เห็น ซึ่งอีกไม่นานจะมีการนำ "ยามะ พี" นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง BLACK SWINDLER เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆทั้งโชว์ตัว มินิคอนเสิร์ต
ในขณะที่รูปแบบของรายได้จากช่องทางโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างวีซีดี ,ดีวีดี ก็ยังคงเป็นช่องทางหลัก และจะทำการเพิ่มสื่อใหม่ๆเข้ามาอาทิ เคเบิลทีวี ,ฟรีทีวี,นิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์รวมไปถึงดิจิตอลคอนเทนต์ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทมีเพิ่มมากขึ้น และยังทำให้การใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์ต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เจาะสถาบันการศึกษา
หวังสร้างผกก.หน้าใหม่
สำหรับแผนการรุกตลาดภาพยนตร์ไทยนั้น เอ็ม พิคเจอร์ ได้เปิดโอกาสให้ผู้กำกับอิสระ รวมไปถึงผู้กำกับหน้าใหม่ที่ต้องการสร้างหนังแต่ไม่มีทุน ได้เข้ามานำเสนองาน เบื้องต้นมีการตกลงกับ 3ผู้กำกับได้แก่ สุพล วิเชียรฉาย, ยุทธเลิศ สิปปภาค และ นักแต่งเพลง บอยด์ โกสิยพงษ์ คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะได้เห็นผลงานของคนใดคนหนึ่งเข้าสู่โรงภาพยนตร์ นอกจากนั้นแล้วจะทำการเจาะกลุ่มสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเฟ้นหาผู้กำกับหน้าใหม่ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการเข้าหากลุ่มสถาบันเหล่านี้ คาดว่าอีกไม่นานจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าจะรุกในรูปแบบใด
"เราต้องการสร้างมาร์เก็ตไซส์ของอุตสาหกรรมหนังไทยให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งการที่เรากระโดดเข้ามาผลิตหนังไทยเองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ภาพรวมของตลาดโต นอกจากนั้นแล้วความสดใหม่ และแนวทางที่เราจะมีการวางโพสิชั่นก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่สนใจที่จะดูหนัง ได้ตัดสินใจหวนกลับมาดู" ผู้บริหารเอ็ม พิคเจอร์ กล่าว
สำหรับเอ็ม พิคเจอร์ เตรียมจะส่งภาพยนตร์ลงโรงภาพยนตร์เฉลี่ยเดือนละ 2 เรื่อง หรือประมาณ 20 - 30 เรื่องในปีนี้ ซึ่งถือเป็นอัตราที่ไม่มาก และไม่น้อยจนเกินไป โดยคาดว่าผลจากการรุกตลาดอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทในปีนี้อยู่ที่ 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 25 %
ชูกลยุทธ์ส่งแบรนด์จีทีเอชถึงฝัน 500 ล้าน
ความแข็งแกร่งในธุรกิจภาพยนตร์ของค่ายจีทีเอช หรือ จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด ส่วนหนึ่งอยู่ที่ความแข็งแกร่งด้านโปรดักชั่นครบวงจร ทำให้สามารถควบคุมมาตรฐานของงาน เริ่มตั้งแต่การเขียนบท ผู้กำกับที่ทำงานเฉพาะกับจีทีเอชที่เดียว และการมีช่องทางการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศเป็นของตัวเอง ส่งผลให้การบริหารงานในช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ โดยในปีที่ผ่านมา จีทีเอชทำรายได้กว่า 400 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายได้ของหนังแต่ละเรื่องเท่ากับ 51.47 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 49 ที่ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30 กว่าล้านบาทต่อเรื่อง
เมื่อแบ่งรายได้ทั้งหมดของจีทีเอช พบว่ารายได้จากการขายตั๋ว หรือ บ๊อกซ์ ออฟฟิศ อยู่ที่ 257.34 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในต่างประเทศจำนวน 3 เรื่องได้แก่ เดอะ ชัตเตอร์ ทำรายได้ 115 ล้านบาท ,แฝด หรือ ALONE ทำรายได้ 66.5 ล้านบาท และ บอดี้...ศพ#19 ทำรายได้ 7.5 ล้านบาท ส่วนรายอื่นๆมาจากโฮมเอนเตอร์เทนเม้นต์ ขายวีซีดี ดีวีดี ,ขายลิขสิทธิ์ให้กับฟรีทีวี ,รายได้จากเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้งในรูปแบบของการดาว์นโหลด และการทำคอนเสิร์ต
วิสูตร กล่าวว่า ผลการตอบรับที่ดีในปีที่ผ่านมา และจากการที่จีทีเอชทำการรุกอย่างต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่าจะทำรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาแบ่งออกเป็นรายได้จากการขายตั๋ว หรือบ๊อกซ์ ออฟฟิศ 300 ล้านบาทจากภาพยนตร์ 6 เรื่อง ขณะที่รายได้อื่นๆอีก 200 ล้านบาท
นอกจากรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมาแล้ว ในปีนี้จีทีเอช ยังได้มีการวางแผนงานรุกตลาดภาพยนตร์ ด้วยการชูจุดเด่นที่แนวคิด ความต่างของภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ผ่านจีทีเอช ซึ่งภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะนำเสนอออกมาในคอนเซปต์ที่มีคุณภาพ และไม่ได้มุ่งหวังว่าจะต้องได้ยอดขายทะลุ 100 ล้านบาท โดยภาพยนตร์ของจีที่เอชที่จะส่งฉายในครึ่งปีแรกนี้คือ กอด ,ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น ,4แพร่ง ,รักสามเศร้า และจะทำการส่งอีก 3 เรื่องในครึ่งปีหลัง
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,695.84 ล้านบาท แบ่งออกเป็น พร้อมมิตร ภาพยนตร์ ทำรายได้ 467 ล้านบาท จากภาพยนตร์ 2 เรื่องคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1และภาค 2 ,สหมงคลฟิล์ม 390.55 ล้านบาท จากภาพยนตร์ 12 เรื่อง ,จีทีเอช ทำรายได้ 257.34 ล้านบาท จาก 5 เรื่อง ,อาร์เอสฟิล์ม ทำรายได้ 231.32 ล้านบาท จากภาพยนตร์ 5 เรื่อง,พระนครฟิล์ม มีรายได้ 119.71 ล้านบาท จาก 7เรื่อง ,ไฟว์สตาร์ ทำรายได้ 80.98 ล้านบาท จาก 4เรื่อง ,RNG ทำรายได้ 57.84 ล้านบาท จากภาพยนตร์ 1 เรื่อง ,โมโน ฟิล์ม 44.52 ล้านบาท จาก 3เรื่อง ,AG 20.48 ล้านบาท จาก 1 เรื่อง ,TIGA พระพุทธเจ้า 20 ล้านบาท และอื่นๆรวม 6.1 ล้านบาท จาก 3 เรื่อง