ผู้ว่าการ ธปท.ประกาศยกเลิกมาตรการสำรอง 30% แล้ว โดยให้มีผล 3 มี.ค.นี้ หลังข่าวลือสะพัดหนัก “ธาริษา” ยืนยันสาเหตุการยกเลิก เพราะตัวเลข ศก.เริ่มฟื้นตัวขึ้นชัดเจน ขณะที่นักค้าเงิน ชี้ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเร็วมาก โดยแกว่งแตะ 31.40-31.60 บาท/ดอลลาร์ ล่าสุด ธปท.มีการประกาศมีมาตรการต่างๆ รองรับสถานการณ์ ทั้งมาตรการสกัดการเก็งกำไร และมาตรการชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยแล้ว
วันนี้ (29 ก.พ.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแถลงข่าวใหญ โดยประกาศยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น มีผล 3 มี.ค.นี้ เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ เอื้ออำนวย และมีการเตรียมมาตรการรองรับไว้หมดแล้ว โดยเช้าวันจันทร์ ธปท.จะเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ เข้ารับฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการ 30% โดยการชี้แจงดังกล่าว จะครอบคลุมถึงเงินที่ธนาคารได้มีการกันสำรอง และนำส่งมายัง ธปท.ว่าจะมีการส่งคืนภายในเมื่อไหร่ อย่างไรด้วย
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงมาตรการรองรับการบริหารจัดการการไหลเข้า-ออกของเงินทุนหลักการยกเลิกมาตรการ รวมทั้งมีมาตรการติดตามข้อมูลและป้องกันการเก็งกำไรค่าเงิน ธปท.ซึ่งได้แก่ การสนับสนุนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเพิ่มวงเงินให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นจำนวน 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจัดสรรให้กับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.), บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) รวมทั้งบุคคลธรรมดาที่ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล หรือผ่าน บล.ในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
สำหรับการปรับปรุงมาตรการป้องปราบการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่สำคัญ คือ ปรับเกณฑ์การกู้ยืมเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศจากผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ โดยลดวงเงินกู้ยืมโดยไม่มีธุรกรรมรองรับทุกอายุสัญญาให้มียอดคงค้างแต่ละสถาบันการเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อกลุ่มผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ เพื่อจำกัดช่องทางการเก็งกำไร
รวมทั้งปรับเกณฑ์การจำกัดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศแก่ผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ โดยไม่มีธุรกรรมรองรับ ให้มียอดคงค้างแต่ละธนาคารไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่มผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศเพื่อเพิ่มความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศ
ธปท.ยังปรับปรุงโครงสร้างบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ โดยแยกประเภทบัญชีเงินบาทออกเป็นบัญชีเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น และบัญชีเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เพื่อประโยชน์ในการติดตามการไหลเข้า-ออกของเงินทุน โดยเงินบาทในแต่ละประเภทบัญชีสามารถโอนระหว่างประเภทบัญชีเดียวกันได้ แต่ห้ามโอนข้ามประเภทบัญชี
นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.ยังมีมาตรการชั่วคราวเพื่อสนับสนุนการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิของผู้ประกอบการรายย่อย (SME) โดยจัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ 3 ปี ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสถาบันการเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท และจัดโครงการรับซื้อต่อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าที่ผู้ประกอบการรายย่อยขายผ่านสถาบันการเงิน เป็นเวลา 6 เดือน
นางธาริษา กล่าวถึงสาเหตุที่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2550 และเดือน ม.ค.51 เห็นถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่กระแสเงินทุนเข้าออกเริ่มมีความสมดุล
ด้านปริมาณเงินตราต่างประเทศเข้า-ออก มีควาสสมดุลมากขึ้น จากการเกินดุลการค้าเริ่มชะลอลงในเดือนมกราคม 2551 ประกอบกับปริมาณงินลงทุนของไทยในต่างประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นตามการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการอนุญาตให้บุคคลในประเทศฝากเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551
ในส่วนของภาคการผลิตและภาคการส่งออกได้รับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินได้ดีขึ้นจากการป้องกันควาเมสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การจัดการ และการกระจายตลาด
ทั้งนี้ ธปท.มีเครื่องมือมากขึ้นในการดูแลสภาพคล่องและค่าเงิน ภายใต้ พ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ นอกจากนี้ แผนของกระทรวงการคลังในการปรับปรุงโครงสร้างและบริหารหนี้สาธารณะ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.หนี้สาธารณะที่จะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ จะช่วยเพิ่มความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย
นอกจากนั้น ในระยะหลังมีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าจะมีการยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ในตลาดก็ได้ปนับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามคาดการณ์ดังกล่าว จนทำให้ประสิทธิผลของมาตรการลดลงตามลำดับ
นางธาริษา ยืนยันว่า ธปท.ได้พิจารณาปัจจัยด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรอบคอบแล้ว และเห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้เหมาะสม เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวชัดเจน ส่งออกขยายตัวดี บวกกับมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ความเชื่อมั่นเอกชนเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินไหล-เข้าออกสมดุลกัน, เงินลงทุนของไทยในต่างประเทศปรับสูงขึ้น, มีการอนุญาตให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับแบงก์ชาติมีเครื่องมือในการดูแลสภาพคล่องมากขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงได้จังหวะเหมาะสมแล้ว ที่เห็นควรประกาศในวันนี้
ทั้งนี้ ธปท.ได้ประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% มาตั้งแต่ปลายปี 2549 เพื่อสกัดกั้นเงินทุนระยะสั้นต่างประเทศที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาท และเพื่อชะลอการแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ
โดยก่อนหน้านี้ มีข่าวลืมสะพัดอย่างหนักว่า ธปท.โดนแรงกดดันทางการเมือง เข้ามาบีบทุกรูปแบบ เพื่อให้เร่งประกาศยกเลิกกันสำรอง 30% เพื่อกระตุ้นการกลับเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งจะช่วยฟื้นการลงทุนในประเทศหลังการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงในปีที่ผ่านมา
ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เงินบาทล่าสุดขณะนี้แกว่งตัวอยู่ในช่วง 31.40/60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ ธปท.ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อ ซึ่งต้องจับตาดูมาตรการเสริมต่อจากนี้
“ถ้ายกเลิกมาตรการนี้ เงินบาทมันก็แข็งค่าขึ้นต่อ แต่คงยังบอกไม่ได้ว่าแข็งค่าต่อไปที่ระดับใด เพราะต้องแล้วแต่ว่า นโยบายที่รองรับออกมา จะมีผลชะรอความร้อนแรงได้เพียงไหน”