ผู้จัดการรายสัปดาห์ - ผ่ายุทธศาสตร์รัฐมนตรีป้ายแดง ปั้นไทยให้ร้อนแรงในมุมมองใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม จับตา “แบรนด์ประเทศไทย” จะเปลี่ยนไปแบบไหน และอย่างไร เผยแผนปฏิบัติการยกชั้นแหล่งเที่ยว 4 ระดับ จากจังหวัด ถึงประเทศ ก่อนเขยิบไประดับโลก ข้อมูลร้อนๆ บัญชีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ด้วยความที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงิน สร้างงานให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก และกำลังจะเป็นธุรกิจที่มีอัตราก้าวหน้าเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายประเทศในโลกพยายามจะแข่งขันเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวให้มาประเทศของตนให้มากที่สุด โดยเฉพาะในย่านเอเชียที่นับวันการแข่งขันยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ละประเทศพยายาม Position และนิยามมุมมองประเทศของตนให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น Incredible India, Truly Asia ของมาเลเซีย เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวจึงถูกปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ยากจะคาดเดาในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
World Travel and Tourism Council หรือ WTTC มีสถิติว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 6.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 5.67 แสนล้านในปี 2007 และจะคงอัตราการเติบโตนี้ไว้ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำเงินได้ถึง 1.256 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในปีที่ผ่านมาได้สร้างงานให้กับคนไทยถึงเกือบ 2 ล้านคน โดยมีคนทำงานในภาคนี้รวมทั้งสิ้น 4.1 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 4.7 ล้านคนในปี 2017
แต่เมื่อ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่ถูกกำหนดให้ตัวจักรสำคัญในการดำเนิน 1 ใน 7 นโยบายหลักของชาติ และในวันเข้ารับตำแหน่งได้ประกาศไว้ว่าจะโกยเงินจากการท่องเที่ยวในปีนี้ให้ได้ถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าเป้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขอเพียง 6 แสนล้านบาท โดยไม่ได้พูดถึงจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนอดีต เพราะต้องการนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ รมว.ท่องเที่ยวใหม่ป้ายแดงที่มาจากพรรคชาติไทย จึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่หมด ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ในการรุกตลาด ด้วยการวางนโยบายเร่งด่วน คือ วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ด้วยการจัดทำบัญชีแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ และได้สั่งการปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา จัดทำมาเสนอภายในระยะเวลา 30 วัน
การวิเคราะห์ดังกล่าวได้จำแนกแหล่งท่องเที่ยวออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับประเทศ และระดับโลก เพื่อที่จะใช้วางแผนด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนกำหนดเขตที่มีศักยภาพเพื่อการลงทุนด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างให้ไทยทั้งประเทศเป็น World Class Destination เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในลักษณะเดียวกับประเทศฝรั่งเศส อิตาลี ที่ผู้คนปรารถนาไปสัมผัสทุกซอก ทุกมุม สัมผัสความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของคนในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ไปดูหอไอเฟล หรือหอเอนแห่งเมืองปิซ่า แล้วเดินทางกลับเท่านั้น
จากยุทธศาสตร์ที่กำหนดให้เมืองไทยเป็น World Class Destination เหมือนกับประเทศดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่รู้จักหรือต้องการมาเพียงแค่ เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ภาครัฐให้ความสำคัญจนถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงยุทธศาสตร์ในการทำรายได้เข้าประเทศเหมือนที่ผ่านมา
ยุทธศาสตร์ปั้นไทยเป็นเวิลด์คลาส
“ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น World Class destination” เป็นคำพูดของ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีหลังจากที่เข้ามากำกับดูแลโดยตรง ซึ่งไม่แปลกนักที่รัฐมนตรีว่าการ จะมีแนวคิดใหม่ๆออกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของการทำงานต่อไป แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้กลับกลายเป็นโจทย์ที่ต้องพยายามหาคำตอบให้ได้เร็ววันที่สุด
สอดคล้องกับแผนนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีพร้อมทั้ง ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย และมีเอกลักษณ์ ซึ่งในภาวะของการแข่งขันในตลาดโลกโดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวเกือบทุกประเทศมักจะเป็นรายได้หลักในอันดับต้นๆ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเองเมื่อรัฐบาลชุด สมัครสุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะส่งเสริมให้ปี 2551-2552 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวและลงทุน เพื่อหวังที่จะใช้เป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
ส่งผลให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องรีบนำกลับมาทำการบ้านแบบเร่งด่วนภายใต้ภาวะแรงกดดันที่ถูกเสนอให้เป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนั่นคือที่มาของนโยบาย “World Class Destination”
แหล่งท่องเที่ยวที่จำเป็นจะต้องมีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย และได้เอกลักษณ์
“สะดวก ในที่นี้ คือ มีสถานที่รองรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน โรงแรม การเดินทางเข้าประเทศ ป้ายบอกทางต่างๆของแหล่งท่องเที่ยวที่ชัดเจน ส่วนความสะอาด สุขอนามัยด้านอาหารของประเทศไทยก็มีความหลากหลายไว้รองรับนักท่องเที่ยว เรื่องความปลอดภัย ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่รับรองว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยจาก สงคราม ไข้ป่า รวมไปถึงด้านเอกลักษณ์ คนไทยที่มักจะมีความเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยกลายเป็นจุดเด่นที่สามารถนำมาเป็นจุดขายให้กับเมืองไทยด้านยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวให้ขับเคลื่อนดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้” ฯพณฯ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกถึงแนวคิดดังกล่าว
การมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมากแต่ขาดวินัยในเรื่องต่างๆ ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี หรือการเข้ามาของนักท่องเที่ยวคุณภาพไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมากแต่อยู่เที่ยวเมืองไทยหลายวันก็ถือว่าคุ้ม ส่งผลให้แผนการตลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ตามนโยบายใหม่จำเป็นต้องปรับดัชนีวัดไปด้วยจากก่อนที่เคยตั้งเป้าเป็นจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวในแต่ละปีก็ถูกให้เปลี่ยนเป็นการตั้งเป้ารายได้เพิ่มแทน ซึ่งปี 2551 จะต้องทำให้เมืองไทยมีรายได้เข้ามาถึง 8 แสนล้านบาททีเดียว
หลังจากปรับตัวเลขใหม่เป็นการตั้งเป้ารายได้แทนจำนวนนักท่องเที่ยว ก็ส่งผลให้การทำงานของการท่องเที่ยวฯอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยกดดันเท่าไรนักเพราะไปสอดคล้องกับการทำตลาดในปัจจุบันนี้ที่จะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เป้าหมายที่การท่องเที่ยวตั้งไว้สำหรับรายได้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อปีที่วางไว้แต่เดิม 6 แสนล้านบาทนั้นแม้ว่าทางรัฐบาลจะปรับเพิ่มเป็น 8 แสนล้านบาท ก็ตามจึงไม่น่าเกิดปัญหาต่อแผนการทำตลาด
ว่าด้วยยุทธศาสตร์แบบ World Class destination ในที่นี้ จึงไม่เหมือนกับ ทัวริสต์ ทั่วไปที่เมื่อเดินทางไปถึงแหล่งท่องเที่ยวแล้วเพียงแค่ถ่ายรูปภาพเสร็จสรรพก็เดินทางกลับไป แต่นัยสำคัญของ World Class destination ถูกให้คำจำกัดความว่า
“นักท่องเที่ยวต้องการอยากได้สัมผัส อยากรู้จัก และอิ่มหนำกับบรรยากาศ ตั้งแต่เปิดประตูโรงแรมออกสู่แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ โดยจะออกสำรวจทุกอย่างในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างตื่นเต้น”
ประเทศไทยเปรียบเสมือนเป็น World Class Destination Country ที่มีทั้ง หาดทราย แสงแดด และ ทะเล กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวจนทำให้เป็นที่รู้จักและเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงเมืองไทยผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นก็คือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้านจะได้รับอานิสงส์ตามมาซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์พวกนี้จะเป็นผู้ตัดสินใจเดินทางไปเที่ยวที่อื่นเอง
ขณะที่บริษัทนำเที่ยวที่มีอยู่ในประเทศไทยจะเป็นตัวช่วยเสริมดึงความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวด้วยการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่โดยมีการจัดเตรียมแพกเกจทัวร์ไว้อยู่แล้ว ซึ่งบางแห่งนักท่องเที่ยวยังไม่เคยได้สัมผัสแต่เมื่อเดินทางไปถึงแล้วรู้สึกประทับใจและคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ใช้จ่ายไปซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง
ปรับโปรดักส์+มุมมองใหม่
ด้วยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ เทรนด์การท่องเที่ยวในสถานที่ซ้ำๆกันมักไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มนี้จะเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่ตรงกับรสนิยมหรือความต้องการที่อยากจะไปสัมผัสใกล้ชิดและดื่มด่ำกับบรรยากาศเต็มที่ ดังนั้นแผนการตลาดที่เดิมที การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางไว้ว่าจะต้องโปรโมทเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวหัวเมืองหลักเดิมๆอยู่นั้นจึงเป็นแนวคิดที่นับว่าไม่ทันต่อกระแสความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
วิสัยทัศน์แนวนโยบายการเปลี่ยนมุมมองใหม่ควบคู่กับมีโปรดักส์แปลกๆออกมานำเสนอจึงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่จะสามารถสอดคล้องกับนโยบาย “World Class Destination” ได้
การตลาดที่หยิบนำเอาสิ่งที่คนรู้จักมานำเสนอก่อนนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำกันมานาน แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมาภายในแนวคิดการบริหารจัดการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก้าวต่อไปคือที่มาของการสร้างแบรนด์ให้คนได้รู้จักและเกิดความแข็งแกร่งสามารถต่อสู้กับตลาดคู่แข่งขันต่างประเทศได้
หากเปรียบเมืองไทยเป็นรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ผู้ใช้คือกลุ่มเป้าหมายจะต้องรู้ว่ารถยนต์รุ่นนี้เกิดเมื่อไร รุ่นไหนใหม่สุด รุ่นไหนเหมาะกับผู้ใช้อย่างไร เป็นต้น และหากศักยภาพรถยนต์ของเราดีพอ...เชื่อได้ว่า รถยนต์ภายใต้แบรนด์เดียวกันทุกคลาสทุกรุ่นที่มีอยู่ก็จะมีคนใช้อย่างเหนียวแน่น สอดคล้องกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เชื่อว่า เมืองไทยมีดีหลายหลาก สามารถแยกสถานที่ท่องเที่ยวส่วนดีๆ ออกมาได้ ซึ่งนับว่าเป็น World Class แบบไหนกลุ่มไหนที่เข้าพักและมีระยะเวลาเข้าพักที่ต่อเนื่องหลายวัน
“ของแบบนี้ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่ดีพอสามารถขัดเกลาจากป้ายเงินไปสู่ป้ายทองคำได้โดยไม่ยากนัก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ กล่าว
ที่ผ่านมา แผนการตลาดของการท่องเที่ยวมักจะมองว่าแหล่งท่องเที่ยวหลักๆจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวอีกครั้งอย่าง ภูเก็ต กระบี่ พังงา เชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะถูกหยิบนำมาโปรโมตแทบทั้งสิ้น ซึ่งไม่แปลกที่จะเป็นแบบนั้น
ขณะที่ต่างประเทศสามารถหยิบเอาทุกส่วนทุกมุมของประเทศมาเป็นจุดขายใหม่ๆแทนที่จะหยิบเอาแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆซ้ำๆออกมาอย่างเดียว ดังนั้นสิ่งที่ต่างประเทศกำลังทำอยู่ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์เพื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าจะสามารถขายมุมมองใหม่ได้หรือไม่เท่านั้น
แม้แต่เรื่องของกีฬาก็สามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดมุมมองใหม่ด้านท่องเที่ยวได้ด้วยเช่นกัน อาทิ ภูเก็ตรีกัตตา การแข่งขันเรือใบที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หากมีใครถ่ายภาพตอนแล่นเรือแล้วพบว่ามีมุมสวยขึ้นมาและเมื่อภาพนั้นถูกเผยแพร่ออกไปจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นได้รับความสนใจไม่แพ้หาดทรายขาวเช่นกัน
ปัจจุบันโรงแรมในระดับ 5 ดาวที่มีอยู่ในเมืองไทยส่วนใหญ่มีห้องพักจำนวนมากแถมด้วยการโปรโมพร้อมอัดโปรโมชันแข่งขันกันสุดฤทธิ์ แต่ใช่ว่านักท่องเที่ยวระดับสูงในปัจจุบันจะให้ความสำคัญมากนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมักจะเลือกโรงแรมที่ตรงกับรสนิยมของการพักผ่อน
สังเกตได้จากการเดินทางไปเที่ยวแบบธรรมชาติที่ไม่ต้องการแสงสีเสียงมากนักเพียงแค่มี บูทิครีสอร์ตหรูๆเพียงไม่กี่หลัง แต่สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีห้องพักจำนวนมากแต่สามารถเข้ากับรสนิยมอำนวยความสะดวกได้ก็สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวคุณภาพเหล่านั้นเข้าใช้บริการได้
หากเมืองไทยมีของดีๆ ที่จะหยิบนำขึ้นมาโชว์ก็คงไม่แพ้ต่างชาติ และด้วยเอกลักษณ์วิถีชีวิต รวมไปถึงวัฒนธรรมของไทยต่างเป็นจุดขายที่สามารถนำมากระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคุณภาพสนใจเข้ามาท่องเที่ยวได้เช่นกัน
“ภูมิปัญญา สายน้ำไทย ยังอยู่ เพียงแต่ต้องไปปรับแต่งให้สะดวก สะอาด และปลอดภัย ซึ่งเอกลักษณ์นั้นรออยู่แล้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอก
เทรนด์ใหม่ของนักท่องเที่ยวคุณภาพ
ในโลกของความเป็นจริงคนตะวันตก หรือคนมีเงิน ปัจจุบันพยายามค้นหาคุณค่าของชีวิต ผิดจากเมื่อก่อนที่ทัวริสท์คนรวยมักจะค้นหารางวัลแห่งชีวิตด้วยการเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศ
สังเกตได้ว่าการท่องเที่ยวที่ได้คุณค่ากำลังเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคุณภาพให้อยากค้นหามากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ดาราฮอลลีวูด อย่าง ริชาร์ด เกียร์ ที่ชื่นชอบคลั่งไคล้ประเทศทิเบตมากที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่เมืองธิเบตยังขาดไป ก็คือ ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย
“ปลอดภัย” ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าเป็นเมืองหนึ่งที่ปลอดภัยแม้ว่าในอดีตกาลที่ผ่านมาต่างประเทศรอบข้างจะเต็มไปด้วยสงคราม อาทิ สงครามเวียดนาม หรือแม้แต่เขมรแตก ก็ตาม แต่ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงรู้สึกว่าประเทศไทยไม่เป็นอะไรเหมาะสำหรับการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว
กอปรกับด้วยเอกลักษณ์ของคนไทยที่มีรอยยิ้มเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว กลายเป็นอีกจุดขายหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไป ซึ่งในปัจจุบันเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเก่าแก่ของคนไทยกำลังจะถูกหยิบนำมาขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เคารพเอกลักษณ์มรดกโลกในทุกประเทศเข้ามาท่องเที่ยวได้สัมผัสและรู้จักอีกมุมหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากสายตาของนักท่องเที่ยวคุณภาพเช่นกัน
นักท่องเที่ยวคุณภาพที่เดินทางเข้ามานั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเดิมให้มีเวลาสำหรับการพัฒนาปรับปรุงซ่อมแซมบ้าง โดยเฉพาะให้เวลากับธรรมชาติช่วยฟื้นฟูด้วยตัวเอง ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่ยังคงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดเพื่อให้นักท่องเที่ยวพยายามค้นหาและมีโอกาสได้สัมผัสอย่างแท้จริง
สร้างตลาดใหม่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก
แหล่งท่องเที่ยวหัวเมืองหลักอาทิ ภูเก็ต แม้ว่าจะมีห้องพักอยู่จำนวนมากก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการสร้างวัฒนธรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวประเภททัวร์ชั้นกลาง ทัวร์สามดาวครึ่งถึงสี่ดาวให้เข้าไปใช้บริการเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเชื่อได้ว่าจะมีจำนวนลดลง ดังนั้นการแก้เกมของการท่องเที่ยวฯจึงควรจะเน้นกลุ่มตลาดที่พอมีศักยภาพในการใช้จ่ายสำหรับที่จะท่องเที่ยวในเกาะภูเก็ต ขณะเดียวกันการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่บนเกาะภูเก็ตเชื่อได้ว่ายังมีสถานที่ใหม่ๆไว้คอยแนะนำอยู่อีกหลายแห่งดูได้จากบัญชีแหล่งท่องเที่ยวของไทยที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ
หลังจากที่มีบัญชีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงขึ้นมาทั้งที่เร่งด่วน 43 จังหวัดและยังมีเหลืออยู่อีกหลายจังหวัดที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูล ส่งผลให้เกิดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดเกิดขึ้นตามมาทันที โดยจะมีส่วนผสมของกีฬาเข้าไปช่วยเสริมในการทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น และบทบาทของประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมด้วยเช่นกันเพื่อช่วยในการสร้างแผนงานภาคบริการขึ้นมารองรับตลาดท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่นั้นๆ ส่งผลให้มีการกระจายเม็ดเงินไปยังภาคธุรกิจส่วนต่างๆของท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง
เบื้องต้นการเข้ามาดูแลยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งชาติให้มีคณะกรรมการทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นเข้ามาร่วมมือกันในการหาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดไปพร้อมๆ กับเปิดเกมรุกทำตลาดให้กับแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่
ขณะเดียวกัน ประชาชนท้องถิ่นจะสามารถชี้แจงปัญหาและแนวทางแก้ไขให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และสามารถเข้าไปดูแลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมุมมองจะกว้างกว่าหน่วยงานหรือองค์กรท่องเที่ยวที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นับเป็นช่องทางที่จะเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนิคมท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นมา โดยพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตรงนั้นจะถูกบริหารจัดการใหม่ทั้งหมดเพื่อการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ ภายใต้แนวคิดและทิศทางของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
นับเป็นที่มาที่ไปของการค้นหาบัญชีแหล่งท่องเที่ยว ขึ้นมา โดยกระบวนการของขั้นตอนต่างๆจะถูกแยกส่วนออกมาอย่างชัดเจน ด้านสำนักพัฒนาแหล่งท่องท่องเที่ยวรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของบัญชีแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศทั้งแบบเร่งด่วนและระยะยาวส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเป็นผู้รับไม้ต่อจากกระทรวงเพื่อนำไปปฏิบัติเป็นแผนการทำการตลาดประชาสัมพันธ์เพื่อต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถต่อสู้แข่งขันกับธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
เน้นคลัสเตอร์-ใช้เรื่องราว
เพิ่มพลังการดูดคน
เมื่อแนวโน้มการแข่งขันของโลกเปลี่ยนไป ในอนาคตธุรกิจไม่ว่าประเภทใดๆ ต้องให้ความสำคัญใน 3 เรื่องนี้คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มหลักที่เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการ การใช้เครือข่ายเพื่อหาความร่วมมือกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และสุดท้าย การร่วมกลุ่ม หรือรวมกลุ่มเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน ในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster)
โดยเฉพาะเรื่อง “คลัสเตอร์” ซึ่งเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ รัฐมนตรีฯ วีระศักดิ์ ให้ความสำคัญ เนื่องจากเห็นว่าหากมีการรวมกลุ่มจังหวัดที่มีวัฒนธรรมคล้ายกัน มีแหล่งท่องเที่ยวคล้ายกัน มีประวัติศาสตร์ที่คล้ายกัน แล้วมาสร้าง “Theme” การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์เพื่อสร้างเรื่องราวเพิ่มแรงจูงใจในการท่องเที่ยวได้มากกว่าเดิม เช่น รวมกลุ่มจังหวัดทางภาคอิสานที่เป็นพำนักของพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นจำนวนมากที่ดับขันธ์ไปแล้ว เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย, หลวงปู่ดูลย์ อตโล วัดบูรพาราม สุรินทร์, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร, หลวงปู่มั่น ภูริภัตโต วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เป็นต้น เพื่อให้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่นับถือศาสนาพุทธเดินทางไปนมัสการ หรือไปปฏิบัติธรรมตามรอยเหล่าพระอรหันต์ที่ได้ดับขันธ์ไปแล้ว เป็นต้น
การนำรูปแบบของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธมาอย่างยืนยาว มีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในเมืองไทยมากมายนับจากอดีตถึงปัจจุบัน มาดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือผู้ศรัทธา ซึ่งคล้ายกับประเทศอินเดียที่ใช้สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาดึงดูดผู้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ปรารถนามาสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเหล่านี้
อาจกล่าวได้ว่าหากจะปั้นจังหวัดอื่นขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว จึงอาจต้องการโครงสร้างพื้นฐาน มารองรับให้มากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ นักท่องเที่ยว อาทิ การบริการที่พัก, ร้านอาหาร, และระบบคมนาคมที่สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยในการเดินทางไปทุกหนทุกแห่ง เพราะเมื่อที่ใดก็ตามที่ประเทศไทยมีส่วนประกอบดังกล่าวที่ลงตัว การได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก และนั่นหมายถึงรายได้ที่เจ้าของประเทศจะได้รับ
**************
เปิดคัมภีร์บัญชีแหล่งท่องเที่ยวของไทย....
หลังจากรับมอบหมายนโยบายให้สานต่อโครงการ “World class destination”การหาข้อมูลบัญชีแหล่งท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วนจึงเริ่มขึ้น....
ณ ห้องทำงานของ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่างทุ่มเทเวลาให้กับการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวทั่วเมืองไทยเพื่อให้ได้ทันตามกำหนดเวลาที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาต้องการ
หนึ่งในความคิดเห็นของบทสรุปการวิเคราะห์จากจำนวนบัญชีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพนั้นมาจากฐานความคิดที่ว่า ต้องมีสองมิติคือ “มูลค่า”ซึ่งได้แก่ ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว มีจำนวนโรงแรมให้บริการ และอีกส่วนหนึ่งคือ “คุณค่า” นับเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนน้อยก็ตามแต่ก็ถือว่ามีคุณค่าของความเป็นไทย
ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ให้ความเห็นกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า สิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาวิเคราะห์พื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวต้องสามารถเดินทางได้ในวันเดียว และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุ-ผู้พิการรวมทั้งสัตว์เลี้ยงสามารถร่วมเดินทางไปได้ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นการสร้างคุณค่าให้การท่องเที่ยว
“หากถามว่าจะสร้างรายได้มากหรือไม่คงเป็นไปไม่ได้ แต่มูลค่าของความเป็นคนไทยวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไทยจึงเป็นที่มาของ บัญชีแหล่งท่องเที่ยว 43 จังหวัด”ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าว
กว่าที่จะได้มาของบัญชีแหล่งท่องเที่ยวนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มอบหมายให้สองหน่วยงานคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)กับ สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.)เป็นผู้รับผิดชอบโดยในส่วนของการวิเคราะห์ฐานข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงจะเป็นส่วนของ สพท.
ขณะที่ ททท.มีหน้าที่สานต่อโครงการเพื่อนำไปเป็นแผนการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ต่างประเทศได้รับรู้ และเนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัดแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในมือและพอที่จะสามารถวิเคราะห์ได้จนสามารถนำเสนอต่อรัฐมนตรีได้นั้นเป็นบัญชีแหล่งท่องเที่ยวมาถึง 43 จังหวัด
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มีการนำแหล่งท่องเที่ยวต่างๆมาประเมินหาจุดอ่อนจุดแข็ง และโอกาส รวมไปถึงศักยภาพความเป็นไปได้ของการพัฒนาปรับปรุงควบคู่ไปกับความพร้อมในด้านการลงทุนเพื่อแบ่งเป็นโซนนิ่ง
“หลังจากนั้นจะนำมาประเมินว่าควรไปในทิศทางใด อาทิ แหล่งท่องเที่ยวต้องปรับปรุงขาดที่พักแรม บริการยังไม่ดี ร้านอาหารไม่สะอาด หน้าที่หลักคือต้องเข้าไปยกระดับและปรับปรุงทันที”ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯกล่าว
และเพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยว ไฮเอนด์ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความพร้อมในการใช้จ่าย ดังนั้น แหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ด้วยเช่นกัน และหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปจำนวนมากจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับไม่ว่าจะเป็นด้านมัคคุเทศก์ บริการด้านอื่นๆ หรือแม้แต่แหล่งท่องเที่ยวที่กำลังจะเสื่อมโทรมทางกระทรวงฯก็จะเตรียมเข้าไปป้องกันพร้อมๆกับพัฒนาปรับปรุงอนุรักษ์เหล่านี้เป็นต้น
“แหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรมก็จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้น ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่ดีอยู่แล้วต้องระวัง ขณะเดียวกันก็จัดโซนนิ่งแหล่งท่องเที่ยวใหม่คือให้มีการลงทุนของผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจท่องเที่ยว” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าว
เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาตามนโยบาย “ World class destination”เมื่อมีการพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่สิ่งที่จะตามมาก็คือ ด้านการลงทุนในเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยวบริการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดโซนนิ่ง ด้วยเงื่อนไขง่ายๆอาศัยกฎหมายตาม พรบ.การท่องเที่ยวเพื่อขอใช้พื้นที่ของภาครัฐมาเปิดให้เอกชนประมูลสัมปทานเช่าทำธุรกิจท่องเที่ยวในระยะยาว หรือถ้าหากภาครัฐมีศักยภาพเพียงพอก็อาจจะลงมือทำเอง
แน่นอนที่สุดก่อให้เกิดกลุ่มธุรกิจรายย่อยอย่าง SMEs ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจท่องเที่ยวบริการเพิ่มขึ้นมา อาทิ โรงแรมขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นเอกสิทธิ์พิเศษสงวนงานมอบให้กลุ่มคนไทยเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีการแบ่งโซนนิ่งให้กับกลุ่มโรงแรมที่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวระดับสูงโดยจะแยกออกจากกัน
บทสรุปฐานข้อมูลของบัญชีแหล่งท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องจัดทำขึ้นเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้นซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การวางแผนเพื่อทำตลาดควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในทิศทางเดียวกัน
หากรู้ว่าแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติป่าไม้หากรู้ว่าอยู่ตรงไหนควรให้ความสำคัญตามลำดับ เพื่อไปฟื้นฟูพัฒนาปรับปรุงให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาปรึกษาถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขโดยตั้งกติกาใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติ
หรือแม้แต่การสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้นมา ภาครัฐอาจจะลงมือทำเอง หรือไม่ก็มีการจัดบริเวณโซนนิ่งพื้นที่ต่างๆของภาครัฐที่ไม่ได้ใช้งานหรือขาดการพัฒนาโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีพื้นที่จำนวนเท่าใด เพื่อเตรียมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเช่าสัมปทานและต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดต่างๆของการอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆกันด้วย ขณะเดียวกันต้องฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่นั้นๆด้วยเช่นกัน
และด้วยแนวคิดแหล่งท่องเที่ยวที่สร้าง “มูลค่า”ไปพร้อมๆกับ “คุณค่า”ส่งผลให้ต้องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับไฮเอนด์และนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวที่มาจากทั้งสองทางพร้อมกัน ขณะเดียวกันแนวทางปฏิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นตามนโยบายจะไปสอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศซึ่งสามารถเดินทางไปกับรถยนต์ได้สะดวก
ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียตนามที่เดินทางด้วยรถยนต์ ผ่านประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทย หรือแม้แต่มาเลเซียก็เดินทางเข้ามาแต่ละปีเป็นล้านๆคน สิ่งเหล่านี้หากมีการทำให้มากขึ้นหลากหลายขึ้นเชื่อได้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในการใช้จ่ายก็จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเช่นกัน
โปรแกรมท่องเที่ยวก็เป็นแบบง่ายๆคือไปไหว้พระ หรือหาอาหารอร่อยๆทาน พาครอบครัวไปเที่ยวเล่นพักผ่อน ปัจจัยทั้งหมดจะนำไปสู่ตัวเลขรายได้ที่มีมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำยอดรายได้ตามเป้าอย่างแน่นอน
เดิมทีในแต่ละปีจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวจะมีการตั้งเป้าไว้ แต่สำหรับปี 2551 เป็นต้นไปรายได้ของนักท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการเพิ่มรายได้แทนการเพิ่มจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายจึงต้องมีการยกระดับให้ได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตามการเติบโตอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอของจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในปีที่ผ่านมาคือ 2550-51 นักท่องเที่ยวเติบโตเพียง 4.5% คือจาก 13.8%เป็น 14.5% เท่านั้นซึ่งจากบทวิเคราะห์กลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียนมี 3 ประเทศเท่านั้นที่เติบโตเพียงเลขตัวเดียวได้แก่ ไทย มาเลเซีย และพม่า หากนำมาเปรียบเทียบประเทศรอบข้างแล้วการเติบโตที่เหมาะสมสม่ำเสมอควรจะเป็นระหว่าง 8-10%โดยเฉลี่ยต่อปี
ภาระทั้งหมดของการทำตลาดจึงตกมาเป็นภาระหน้าที่หลัก ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ที่จะต้องเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพให้ได้มากที่สุดเช่นกัน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวจาก รัสเซีย อินเดีย หรือตะวันออกกลาง จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทาง ททท.วางแผนเตรียมรุกตลาดพวกนี้เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ต้องไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท...ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ภายใต้แนวคิดมุมมองใหม่แบบนี้เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์