xs
xsm
sm
md
lg

อียูยื่นเงื่อนไขทำเอฟทีเออาเซียน เพิ่มสุขอนามัย-สวล.ในข้อตกลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อียูรุกอาเซียนเพิ่มประเด็นเตือนภัยสุขอนามัย การมีกฎหมายแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อียู

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 3 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า อียูได้แสดงจุดยืนในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการให้นำมารวมอยู่ในการเจรจา นอกจากเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน โดยขอให้มีเรื่องการเตือนภัยล่วงหน้าด้านสุขอนามัยและอุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า การมีกฎหมายแข่งขันทางการค้าในประเทศ การเปิดตลาดการจัดซื้อโดยรัฐ และขอให้อาเซียนเป็นสมาชิกสนธิสัญญาต่างๆ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ขณะเดียวกัน อียูยังขอให้รวมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในความตกลงการค้าเสรีด้วย เนื่องจากเห็นว่าการทำการค้าควรให้ความสำคัญกับสวัสดิการสังคม ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศในหัวข้อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอียูเสนอให้อาเซียนและอียูส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามหลักการของความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานหลักขององค์การแรงงานสากล อย่างไรก็ตาม ได้มีการยืนยันว่าจะไม่มีการนำเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเหตุฟ้องร้อง หรือแซงชันทางการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ อาเซียนและอียู มีกำหนดการประชุมเพื่อจัดทีความตกลงการค้าเสรี ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ในเดือน เม.ย.2551

สำหรับการค้าระหว่างอียูและอาเซียน มีมูลค่า 160,590 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นสินค้าเกษตร 7.04% และสินค้าอุตสาหกรรม 92.96% สินค้าส่งออกของอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่ กาแฟ น้ำมันปาล์มดิบ ไก่ปรุงสุก น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ประกอบคอมพิวเตอร์ สารอินทรีย์ เครื่องพรินเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อการ แผงวงจรไฟฟ้า สารเคมี อัญมณีและเครื่องประดับ และรถยนต์ สินค้านำเข้าจากอียูที่สำคัญ ได้แก่ วิสกี้ อาหารแปรรูป อาหารสัตว์ นมและครีม เครื่องบิน ท่อส่งน้ำมัน และอุปกรณ์ทางการแพทย์

ส่วนการค้าระหว่างไทย อียูเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย รองจากอาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดยการค้าระหว่างกันในปี 2549 มีมูลค่า 29,120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออกจากไทย 18,008 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากอียู 11,112 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น