xs
xsm
sm
md
lg

ศึกสนามฟุตบอล กระหน่ำกลยุทธ์ชิงนักเตะก่อนเดี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - อุณหภูมิการแข่งขันในสมรภูมิสนามฟุตบอลให้เช่าร้อนจนปรอทแทบแตก ผู้เล่นหน้าใหม่แห่เข้ามาขอเอี่ยวเม็ดเงินกันเพียบ เพียงไม่กี่ปีมีสนามฟาดแข้งเปิดให้บริการนับร้อยแห่ง เกิดสภาวะสนามล้น ขณะที่นักเตะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตาม ส่งผลให้เจ้าของสนามต้องปรับกลยุทธ์กันจ้าละหวั่น หากต้องการพื้นที่ยืนในตลาดต่อไป

แม้ไม่มีตัวเลขว่าสนามฟุตบอลให้เช่ามีมูลค่าเท่าไรในแต่ละปี แต่หากพิจารณาจากอัตราการเกิดของสนามใหม่ๆแล้วจะพบว่ามีตัวเลขสูงมาก จากจำนวนหลักสิบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาขยับขึ้นเป็นหลักร้อยในปี 2550 จากการสอบถาม ธงชัย สุขโกกี อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไทย เจ้าของสุขโกกี สปอร์ต กรุ๊ป อธิบายปรากฏการณ์นี้กับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า เมื่อก่อนสนามฟุตบอลเฉพาะย่านฝั่งธนมีเพียง 3-4 สนาม ขณะที่คนเล่นมีจำนวนมากทำให้สนามไม่พอ เพราะพอรู้ว่ามีสนามให้เช่าคนก็แห่ไปเล่นทำให้เต็มตั้งแต่เวลา 09.00 น.ไปจนถึง 24.00 น.

“คนที่มาเล่นบางคนเขามองตัวเลขออกเอาจำนวนเงินคูณจำนวนชั่วโมงเห็นว่ารายได้ดีก็เลยเปิดกัน ทำให้สนามเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่คนเตะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ตอนนี้วันธรรมดาแทบจะต้องปิด ขนาดวันเสาร์-อาทิตย์มีคนเล่นเพียง 1-2 คู่ต่อวัน หลายแห่งเริ่มประสบภาวะขาดทุน”

ศึกชิงนักเตะร้อน
ไม่แพ้พรีเมียร์ลีก

ท่ามกลางข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ว่านักฟุตบอลจากพรีเมียร์ลีกคนนั้นคนนี้จะย้ายทีมออกไปอยู่กับทีมนั้นทีมนี้ เนื่องจากไม่มีความสุขที่อยู่กับทีมบ้าง อยากหาประสบการณ์ไปเล่นกับทีมใหญ่บ้าง ไม่ถูกกับผู้จัดการทีมที่ถูกจับดองนั่งเป็นตัวสำรองข้างสนามบ้าง หรือมีข่าวว่าทีมนั้นทีมนี้สนใจซื้อหรือดึงตัวนักเตะคนนี้คนนั้นไปอยู่กับทีมของตนบ้าง หรือมีข่าวนักเตะคนเดียวแต่มีทีมรุมจีบให้ไปอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำสำหรับทีมที่ต้องการนักเตะฝีเท้าดีๆเพื่อช่วยทีมให้ประสบความสำเร็จ

ไกลออกไปหลายพันไมล์ ที่เมืองไทยเวลานี้ปรากฏการณ์แย่งนักเตะก็เกิดให้เห็นแล้วเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้เป็นการซื้อหานักเตะชื่อดังมาร่วมทีม แต่เป็นการแย่งนักเตะโนเนม ที่มีใจรักในกีฬาฟุตบอลที่มีอยู่ไม่มากนักให้มาสนามของตนแทน

ปัจจุบันนักเตะในบ้านเราที่เข้ามาใช้บริการในสนามฟุตบอลจะมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนทำงาน ที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไปจนถึงกว่า 40 ปี ซึ่งพฤติกรรมการเลือกสนามของนักเตะก่อนหน้านี้สามารถเดินทางไปได้ทุกที่ที่มีสนามไม่ค่อยสนใจเรื่องระยะทางเท่าไรนัก แต่เมื่อสนามผุดขึ้นดังดอกเห็ดอย่างทุกวันนี้ทำให้พฤติกรรมการเลือกสนามแตกต่างไปจากเดิม คือให้ความสำคัญกับสถานที่ใกล้บ้านมากขึ้น และให้ความสำคัญกับพื้นสนามที่เชียวชอุ่มนุ่มเท้ามากขึ้น

“ที่ไหนเปิดใหม่ก็ไป เพราะสนามหญ้าไม่ได้เขียวตลอด พอหญ้าเริ่มช้ำก็ย้ายไปเตะที่อื่น” เจ้าของสนามสุขโกกี ที่เปิดให้บริการเป็นรายแรกๆของไทย อธิบาย

นักเตะไร้ลอยัลตี้
ทุกสนามกระหน่ำกลยุทธ์


จากพฤติกรรมที่นักเตะให้ความสำคัญกับสนามอันหนานุ่มเขียวขจีสไลด์ได้ไม่เจ็บตัวนั้นเอง ทำให้แต่ละทีมต้องเวียนหาสนามใหม่ที่เพิ่งลงหญ้าไปเรื่อยๆ เพราะหญ้าแต่ละสนามจะอยู่ทนเท้าได้เพียงแค่ 2 เดือนกว่าก็จะตายไปเกือบหมด และต้องใช้เวลาปิดสนามหนึ่งเดือน หรือเดือนครึ่งกว่าหญ้าจะลงรากพร้อมให้เหยียบย่ำใหม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แต่ละสนามจึงต้องหากลยุทธ์มัดใจไม่ให้นักเตะที่หาได้ยากยิ่งหันไปฟาดแข้งที่สนามอื่น ไม่ว่าจะเป็น การแจกน้ำดื่มฟรี การลดราคาค่าสนาม การจัดแข่งขัน การแจกเสื้อ และอื่นๆเท่าที่จะหาได้

แม้ว่าแต่ละสนามจะงัดโปรโมชันออกมาล่อใจจนสุดฤทธิ์แต่หลายครั้งก็ไม่สามารถดึงตัวไว้ได้สำเร็จ เนื่องจากแต่ละสนามมักจะใช้กลยุทธ์คล้ายๆกัน หลายแห่งจึงหันมาใช้ “ราคา” เป็นตัวดึงดูดใจ แม้ว่าบางคน บางทีมจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากค่าเช่าแต่ละสนามค่อนข้างใกล้เคียงกัน คืออยู่ระหว่าง 800-1,200 บาทต่อชั่วโมง และส่วนใหญ่จะคิดเป็นรอบๆละ 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อหารออกมาแล้ว (ในกรณีที่เป็นสนามทีมละ 7 คน) แต่ละคนจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 100-120 บาทต่อคนเท่านั้น

เมื่อราคาไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดทำให้แต่ละสนามต้องหากลยุทธ์อื่นๆ เช่น สนาม 7 Shoot ที่แม้จะเสียเปรียบสนามอื่นตรงที่มีเพียงสนามเดียว ทำให้เสียรายได้เวลาพักสนามเพื่อซ่อมแซม แต่ก็พยายามใช้สนามเดียวที่มีให้เกิดประโยชน์ที่สุดในทุกช่วงเวลา โดยสนามแห่งนี้เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2549 เนื่องจากเจ้าของมีที่ว่างอยู่แล้ว และด้วยความเป็นคนที่ชอบเล่นฟุตบอลจึงให้ความสนใจกับธุรกิจนี้เป็นพิเศษ หลังจากคำนวณตัวเลขแล้วเห็นว่าธุรกิจมีศักยภาพ พอมีกำไรเลี้ยงตัวได้ จึงลงทุนด้วยวงเงินเพียงล้านกว่าบาทเปิดสนามฟุตบอลหญ้าจริงแข่งทีมละ 7 คน คิดค่าบริการ 2 ชั่วโมง 2,200 บาท

“สนามแข่งแบบ 7 คนมีฐานลูกค้ามากกว่า เนื่องจากความสามารถในการรวมตัวจะมีมากกว่าทีมละ 11 คนที่จะรวมตัวกันค่อนข้างยาก” สุรชัย แจ่มขาว เจ้าของสนามเซเว่นชู้ด เครือเดียวกับ The Kick 48 กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”

สำหรับพฤติกรรมของคนที่มาเล่นในสนามแห่งนี้ส่วนใหญ่จะเล่นในช่วงหัวค่ำ หากเป็นวันธรรมดาจะเล่นตั้งแต่ 19.00 น. เป็นต้นไป แต่ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์จะเล่นตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. ซึ่งส่วนใหญ่จะมาเล่นเป็นประจำทุกอาทิตย์ แต่ที่น่าสังเกตคือจะเล่นเพียงอาทิตย์ละวันเท่านั้น

กลยุทธ์การดึงคนของสนามนี้จะมีทั้งใช้ราคา และการจัดการแข่งขันเป็นหลัก กล่าวคือ ในการเล่นทุกครั้งจะมีตราประทับ หากเล่นครบ 7 ครั้ง ครั้งต่อไปจะได้รับส่วนลด 70%

“นอกจากนี้เรายังใช้การจัดแข่งเป็นจุดขาย ส่วนใหญ่หาทีมลำบาก ขณะที่สนามจะรู้จักกับหลายทีม เราจัดเล็กๆแต่บ่อยๆ ปีละประมาณ 5-6 รายการ ซึ่งเมื่อหารออกมาแล้วค่าใช้จ่ายในการเล่นจะถูกกว่ามาเล่นเอง” สุรชัย กล่าว

ในเรื่องของการจัดแข่งนั้น สนามบางแห่งก็ไม่นิยมจัดเนื่องจากเห็นว่าหากจัดแล้วจะทำให้หญ้าตายเร็วขึ้น และมากขึ้น เพราะจะใช้งานกันอย่างหนัก เมื่อเป็นเช่นนี้บางแห่งจึงหันมาเน้นการแจกน้ำดื่มแทน เช่น สนามเจ.อาร์ บริเวณถนนบรมราชชนนี แจกน้ำดื่ม 2 แพ็กใหญ่ กับจับรางวัลแจกเสื้อยืดให้กับผู้เช่าสนาม หรือสนามใบแดง ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เนื่องจากสภาพสนาม และคลับเฮาส์ สู้คู่แข่งบริเวณนั้นไม่ได้จึงหันไปเล่นกลยุทธ์ตัดราคาคิดเพียง 1,600 บาทต่อการเล่น 2 ชั่วโมง ขณะที่เจ.อาร์อยู่ที่ 2,500 บาท

แข่งที่ครบวงจร
สร้างความได้เปรียบ


หากมองภาพรวมของสนามฟุตบอลให้เช่า อาจเรียกได้ว่าทั้งหมดจะเน้นเฉพาะการให้เช่าสนามแต่เพียงอย่างเดียว ยกเว้นสนามสุขโกกี ของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติรุ่นเดียวกับเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่มีทั้งการเรียน การสอนเสริมทักษะให้กับเด็กๆและผู้สนใจกีฬาฟุตบอล ด้วยผู้ฝึกสอนที่มีดีกรีเป็นถึงนักฟุตบอลทีมชาติหลายคนที่มีไลเซนส์การสอน เนื่องจากจบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จริงๆแล้วสนามแห่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจให้เช่าสนามฟุตบอลก็ว่าได้ ธงชัย เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนหลังจากเสร็จการสอนนักเรียนแล้วก็จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเช่าใช้สนามได้ จากนั้นก็มีการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ บางคนที่พอมีทุนอยู่บ้างก็หันมาทำธุรกิจนี้บ้าง ซึ่งสนามแห่งนี้ของธงชัยลงทุนไปหลายสิบล้านบาท และบอกว่าจนถึงวันนี้ยังไม่คุ้มทุน เนื่องจากต้องหมดไปกับค่าบำรุงรักษาสนาม

ปัจจุบันสนามแห่งนี้มีทั้งสนามฟุตซอล สนามฟุตบอลทั้งแบบหญ้าจริง และหญ้าเทียม ทั้งที่เล่น 5 คน 7 คน และ 11 คน โดยคนที่มีอายุจะให้ความสนใจกับการเล่นแบบ 5 คนและ 7 คน ขณะที่วัยรุ่นจะชอบเล่นสนาม 11 คนมากกว่า ซึ่งการมีสนามแบบหญ้าเทียมมีข้อดีกว่าสนามหญ้าจริงตรงที่เสียค่าบำรุงรักษาต่ำกว่า แต่ข้อเสียอยู่ตรงที่ การลงทุนครั้งแรกต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าหญ้าจริงประมาณ 100 เท่า คือขณะที่หญ้าจริงตารางเมตรละประมาณ 14-15 บาท หญ้าเทียมจะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตารางเมตร ด้วยต้องนำเข้าวัสดุทั้งหมดมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้พฤติกรรมการเล่นฟุตบอลของคนไทยชอบเล่นกับหญ้าจริงมากกว่า เนื่องจากให้อารมณ์ในการสไลด์บอลได้ดีกว่า และไม่เจ็บตัวเหมือนหญ้าเทียม อย่างไรก็ตาม ธงชัย กลับมองว่าในอนาคตจะมีผู้ประกอบการหันมาลงทุนสร้างสนามหญ้าเทียมกันมากขึ้น เพราะไม่ต้องดูแลรักษามาก

การแข่งขันในธุรกิจสนามฟุตบอลวันนี้อาจเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงร้อนแรงยิ่งจากผู้แข่งขันหน้าใหม่ที่เข้ามาในวงการ ซึ่งหลายเจ้านอกจากจะพัฒนาสนามให้ดูดีตลอดเวลาแล้ว ยังลงทุนสร้างคลับเฮาส์ที่ดูดีเอาไว้บริการด้วย ซึ่งจริงๆแล้วจุดนี้ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้มาใช้บริการเท่าไร เนื่องจากไม่มีใครทานอาหารก่อนเล่นกีฬา และไม่มีใครทานอาหารหลังจากเตะฟุตบอลมาใหม่ๆ

S-One โต๊ะเล็กไฮเทคระดับอินเตอร์

ไม่ใช่แค่นายทุนโนเนมที่มีแค่ที่ดินแล้วอยากทำธุรกิจสนามฟุตบอลให้เช่าเท่านั้น แต่นักธุรกิจระดับบิ๊กของเมืองไทยอย่างอาร์เอสก็สนใจธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน

การจับมือกันระหว่างนายทุนใหญ่ในธุรกิจบันเทิง สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ “เฮียฮ้อ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) กับคนทำงานที่คร่ำหวอดในวงการบันเทิงมายาวนาน วินิจ เลิศรัตนชัย ตั้งบริษัท อาร์เอส เฟรชแอร์ จำกัด ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้วนั้น นอกเหนือจากเป็นการเติมเต็มศักยภาพของธุรกิจโชว์บิซให้กับอาร์เอส ที่เฮียฮ้อ มองเห็นฝีมือของวินิจ จากการจัดโชว์บิซรายการใหญ่ ตั้งแต่ Look Alive Teresa Teng, Rhythm & Boyd Alumni จนถึง KTC Winter Love Song แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งของความร่วมมือคือ เป็นการเสริมสร้างขุนพลในธุรกิจคอนเทนต์กีฬาที่อาร์เอสเตรียมรุกหนักในปีนี้ และเฮียฮ้อก็รู้ดีว่า วินิจ คือสาวกตัวยงของกีฬาฟุตบอล ที่มีโปรเจ็กใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลอยู่เต็มหัว และหนึ่งในนั้นก็คือ สนามฟุตบอล S-ONE

“สนามฟุตบอล S-One เป็นหนึ่งในโปรเจ็กที่คิดขึ้นในบริษัทเฟรชแอร์ และอยากทำมานานแล้ว แต่ขาดเงินทุนที่จะสร้างให้เกิดขึ้นได้ มองหาคนช่วยสนับสนุนการลงทุนมาโดยตลอด เมื่อเฟรชแอร์ ได้เข้าร่วมทุนกับอาร์เอส S-One จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เสนอไปนอกเหนือจากงานโชว์บิซ ซึ่งบังเอิญตรงกับมิชชั่นหนึ่งที่เฮีย(สุรชัย)ต้องการทำ คือ อยากมีสถานที่ที่จะทำให้กิจกรรมเรื่องฟุตบอลเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโรที่อาร์เอสถืออยู่หลายสมัย เมื่อเขามีคอนเทนต์ ผมมีวิธีคิด จึงกลายเป็น Strategic Partner ที่ไปด้วยกันได้ดี”

วินิจ เลิศรัตนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส เฟรชแอร์ จำกัด กล่าวว่า S-One เป็นสนามฟุตบอลหญ้าเทียมในร่มที่จะสร้างมาตรฐานสูงสุดในประเทศไทย คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในราวเดือนมีนาคมปีนี้ ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 4 ขาเข้า ตรงข้ามศูนย์การค้าเซ็นทรัลซิตี้ บางนา นับเป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ในการรุกสู่การให้บริการคอนเทนต์ด้านกีฬาของกลุ่มอาร์เอส หลังจากได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลรายการใหญ่ระดับโลก 2 รายการมา ทั้งฟุตบอลยูโร 2008 และฟุตบอลโลก 2010 จนถึง 2018

คอนเซปต์ของโครงการ S-One ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็น Multipurpose Arena หรือสนามกีฬาอเนกประสงค์ บนพื้นที่รวม 8 ไร่ ที่มีพื้นฐานเป็นสนามฟุตบอลขนาด 7 คน ปูพื้นด้วยหญ้าเทียมเกรดดีที่สุดในปัจจุบัน 4 สนามใช้พื้นที่ 10,000 ตารางเมตร และสามารถปรับเป็นฮอลล์สำหรับรองรับการจัดทั้งสปอร์ตและเอนเตอร์เทนเมนท์อีเวนต์เต็มรูปแบบถึง 2 ฮอลล์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม ทั้งห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ล็อกเกอร์รูม ร้านอาหาร ร้านค้าจากแบรนด์ชั้นนำ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และระบบมัลติมีเดีย ทั้งภาพและเสียง จอถ่ายทอดบิ๊กสกรีน 2 ฝั่ง สามารถบันทึกการแข่งขันลงดีวีดี ใช้เป็นสถานที่แถลงข่าว จัดอีเวนต์กิจกรรมทางดนตรี หรือกิจกรรมธุรกิจ เปลี่ยนแนวคิดของการสร้างสนามกีฬาด้วยการใช้เอนเตอร์เทนเมนต์เป็นตัวนำ ที่จะสามารถดึงผู้ใช้บริการได้กว้างขึ้น ทั้งนักเรียน คนทำงาน ไปจนถึงผู้บริหาร องค์กรเอกชน-ราชการ ก็สามารถเข้ามาใช้บริการ S-One แข่งขันฟุตบอลเพื่อความบันเทิงมากกว่าผลแพ้ชนะ

"สเกลของ S-One แตกต่างจากสนามฟุตบอลที่เปิดให้บริการทั่วไป วิธีคิดเป็นไปในอีกแนวทาง ผมมองเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ต้องเป็นตัวนำในการทำตลาด ส่วนแนวคิดเรื่องสปอร์ตเป็นสิ่งที่ตามมา เพราะหากใช้แนวคิดเดิม ๆ ที่เป็นสนามกีฬามาตรฐานเน้นให้เป็นเรื่องของสปอร์ตเพียงอย่างเดียว เป็นสเกลที่ใหญ่เกินไป อุ้ยอ้าย มีปัญหาการจัดการ มุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่ลูกค้ากลุ่มเดิม ๆ ที่ทำให้ธุรกิจศูนย์กีฬามีลูกค้าอยู่ในวงแคบ แต่หากเติมเอนเตอร์เทนเมนต์เข้าไป จะทำให้เราจะได้เซ็กเมนต์ผู้ใช้บริการอีกแบบ ขยายกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น สร้างไลฟ์สไตล์การออกกำลังกายขึ้นใหม่ แทนที่จะไปวิ่ง เข้าฟิตเนส รวมกลุ่มมาเล่นฟุตบอล 7 คน ผู้บริหารอายุ 40-50 ปีก็เล่นกันได้ มีแฟนคลับเข้ามานั่งชม สถานที่นั่งชมสะดวกสบาย สิ่งอำนวยความสะดวกเพรียบพร้อม ที่ตั้งก็อยู่ใกล้เพียงแค่ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 4 ทำให้มั่นใจว่า S-One จะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์รูปแบบใหม่ ขนาดพอเหมาะ ที่สามารถสร้างการรวมตัว” วินิจกล่าว

โครงการสนามฟุตบอลหญ้าเทียม S-One ใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างรวมไปถึงงบประมาณในการทำตลาดราว 100 ล้านบาท โดยวินิจกล่าวว่า ทางอาร์เอสเห็นว่า โครงการนี้เหมาะที่จะลงทุน เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการรุกสู่การเป็นสปอร์ต คอนเทนต์ โพรไวเดอร์ หลังจากที่ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2008 และฟุตบอลโลก 2010 มา โดย S-One จะเป็นเอาท์เล็ตที่จะเป็นจุดรวม กิจกรรมที่เกี่ยวกับกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลของอาร์เอสทั้งหมด ทำให้ลิขสิทธิ์มหกรรมฟุตบอลรายการใหญ่ทั้ง 2 ที่อาร์เอสได้มาสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด นอกเหนือจากการสร้างรายได้จากการเปิดให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป

ทั้งนี้ วินิจวางแผนสร้างรายได้ให้กับ S-One โดยการจัดให้มีการแข่งขันในระบบลีก ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จากองค์กรกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ อาทิ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ รวมไปถึงธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธนาคาร หรือกลุ่มคนทำงานกลางคืน ทำให้รายได้ของ S-One มีหมุนเวียนตลอดทั้งสัปดาห์ มิใช่มีรายได้กระจุกตัวเพียงแค่เสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดเท่านั้น คาดว่าภายใน 1 ปีจะมียอดผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 1 ล้านคน

“ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเฉลี่ยแล้วคุณจะเสียเงินเล่นฟุตบอลเพียงชั่วโมงละ 100 บาท จากเรตราคาที่จะเปิดให้เช่า เฉลี่ยประมาณ 1,500 บาทต่อชั่วโมง สนามฟุตบอล 7 คน รวมผู้เล่น 14 คน อาจมีสำรองรวมแล้วราว 20 คน แบ่งค่าใช้จ่ายกันแล้วเหลือคนละไม่ถึงร้อยบาท ทำให้เราสามารถวางกลุ่มเป้าหมายลงไปถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ยังไม่สามารถหารายได้เองได้ เพราะยังจะมีการจัดโปรโมชั่นที่อาจเสนอราคาพิเศษให้กับนักเรียน โดยหาสปอนเซอร์มาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย หรือสร้างแม็กเน็ตจากกลยุทธ CRM ของสปอนเซอร์ที่ กลยุทธต่าง ๆ เหล่านี้จะออกมาเพื่อสร้างผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากับผู้ใช้บริการ ผมมองตลาดใหญ่ของ S-One คือตลาดนักเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ลูกหลานของชาวต่างชาติที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติที่ปัจจุบันก็เล่นฟุตบอล 7 a side กันอยู่ สเกลขนาดนี้เป็นการเล่นเพื่อสุขภาพมากกว่าแข่งกันจริงจัง ไม่ต้องตากแดด มาเชียร์กันได้ อยู่ไม่ไกล ใกล้กับโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา รวมถึงมหาวิทยาลัยเอแบค รวมถึงหมู่บ้านย่านนั้น เป็นโซนนิ่งที่ถือเป็นไพร์มแอเรีย ”

วินิจ กล่าวถึงแนวทางในการทำตลาดว่า อาร์เอสเฟรชแอร์ได้ตั้งทีมขายเพื่อหาลูกค้า ทั้งการออกเคาะประตู และทำหน้าที่รับลูกค้าที่วอล์คอินเข้ามา รวมถึงจากโปรโมชั่นที่จะมีขึ้น ซึ่งมั่นใจว่า โปรโมชั่นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากพอที่จะสร้างความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้ เพราะนี่คือสนามฟุตบอลที่ทันสมัยที่สุด ทั้งรูปทรง ดีไซน์ อุปกรณ์ไฮเทคครบครันที่เราใส่เข้าอย่างเต็มที่ และจะกลายเป็นประเด็น Talk of the Town ตลอดแน่นอน เมื่อความสนใจเกิดขึ้น การทำโปรโมชั่นก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

สำหรับในส่วนของสปอนเซอร์สินค้าที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนสนามฟุตบอลหญ้าเทียม S-One ขณะนี้มีผู้ร่วมลงนามแล้วทั้งสิ้น 5 รายหลัก ประกอบด้วย รถจัรกยานยนต์ยามาฮ่า เครื่องดื่มเอ็ม150 จากโอสถสภา เนสกาแฟจากเนสท์เล่ สามารถไอโมบาย และพานาโซนิค โดยพานาโซนิคจะเป็นผู้ดูแลระบบมัลติมีเดียทั้งหมดภายในอารีน่า

“นึกถึงสนามฟุตบอลที่เราเคยเตะเล่นกันขำ ๆ ในหมู่เพื่อนฝูง วันหนึ่งย้ายมาเล่นกันในสนามหญ้าเทียมไฮเทค มีการถ่ายทอดขึ้นบนจอบิ๊กสกรีนขนาดใหญ่ มีคนนั่งชม นั่งเชียร์บนอัฒจรรย์ แมทช์ประทับใจสามารถไรท์ลงดีวีดีกลับไปดูที่บ้านได้ เราพยายามคิดถึงตัวเองว่า เราอยากได้อะไรจากการเล่นฟุตบอล นี่คือดรีมโปรเจ็กอย่างแท้จริง” วินิจ กล่าวปิดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น