xs
xsm
sm
md
lg

Full HD เทรนด์ฮอต ตลาดทีวีปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - จอแบน จอบาง จอใหญ่ จะจอไหนๆก็ยังไม่เพียงพอถ้ายังไม่ใช่ความละเอียดระดับ Full HD เทรนด์แรงของตลาดทีวีปีหนูทอง หลังจากค่ายผู้ผลิตทีวีต่างจุดพลุบูมตลาดแอลซีดีทีวี ก็ถึงคราวที่ตลาดทีวีจะต้องผลัดใบอีกครั้งไปสู่ HDTV ที่ให้ความละเอียดสูงสุดในปัจจุบัน เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเลี่ยงสงครามราคาที่ลามมาสู่ตลาดแอลซีดีทีวี

สงครามราคานอกจากจะทำให้ธุรกิจมีกำไรลดลงไปจนถึงขั้นขาดทุนแล้ว ยังส่งผลต่อแนวโน้มราคาสินค้าที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เล่นในตลาดนั้นๆต้องเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อสร้างจุดขายให้กับตัวสินค้า หนีสงครามราคาที่จะตามมา ทันทีที่คูแข่งพัฒนาเทคโนโลยีไล่หลังได้ทัน

ย้อนหลังไปเพียง 3 ปี แอลซีดีทีวีถือเป็นเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าไฮเอนด์เกินกว่าสินค้าราคาถูกจากเมืองจีนจะไล่หลังได้ทัน แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีกระแสความนิยมทีวีจอใหญ่เกิดขึ้นมาแล้วก็ตาม ทว่าราคาของทีวีจอใหญ่อย่างพลาสม่าและแอลซีดีทีวียังอยู่ในระดับหลักแสนบาทซึ่งเกินกว่าที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าถึง

แต่การเข้ามาของแอลซีดีทีวีและพลาสม่าทีวีได้ส่งผลให้โปรเจกชั่นทีวีที่เปิดตัวมาก่อนหน้านั้นหลายปีมีราคาตกต่ำลงเพราะต้องเสียภาพลักษณ์ความเป็นสินค้าไฮเอนด์ให้กับแฟลตพาแนลรุ่นใหม่อย่างแอลซีดีทีวีและพลาสม่าทีวี และด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานของโปรเจกชั่นทีวีที่ด้อยกว่าแฟลตพาแนลโดยเฉพาะความละเอียดของจอภาพ น้ำหนัก และขนาดที่ใหญ่

ซึ่งไม่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในเมืองยุคใหม่ที่เริ่มอาศัยในคอนโดมิเนียมมากขึ้น จึงต้องการสินค้าที่น้ำหนักเบาขนย้ายสะดวก ประหยัดพื้นที่ใช้สอย ความนิยมของโปรเจกชั่นทีวีก็เริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ราคาจากหลักแสนก็ดิ่งสู่หลักหมื่น และค่อยๆเลือนหายไปจากตลาด ไม่นับรวม บราเวีย เอสเอ็กซ์อาร์ดี แอลซีดี โปรเจกชั่น ทีวีของโซนี่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคนละตัวกับโปรเจกชั่นรุ่นเก่า

อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่สินค้าราคาถูกจากเมืองจีน เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทย รวมถึงแบรนด์เกาหลีอย่างซัมซุงและแอลจี (ชื่อเดิมคือโกลด์สตาร์) ที่รุกตลาดมาก่อนหน้านั้นด้วยการทำสงครามราคาก่อนพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลาดทีวีในเมืองไทยก็มีการพัฒนาที่รวดเร็วมากขึ้น จากทีวีจอโค้ง ไล่ล่ามาสู่ทีวีจอแบน จนกระทั่งมาถึงแอลซีดีทวีในปัจจุบัน ไลฟ์ไซเคิลของสินค้าสั้นลงจากเดิมที่ทีวีแต่ละรุ่นออกมาสามารถทำตลาดได้หลายปี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดทุกปี

จาก บลูเรย์+เพล์สเตชั่น3 สู่ HDTV

ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของแฟลตพาแนลทีวีโดยเฉพาะแอลซีดีทีวีที่ได้รับความนิยมจากตลาดมากขึ้นโดยปัจจุบันตลาดทีวีมีปริมาณความต้องการ 3 ล้านยูนิต แบ่งเป็นแอลซีดีทีวี 3 แสนยูนิต พลาสม่าทีวี 1 ล้านยูนิต ที่เหลือเป็นซีอาร์ทีทีวี ประกอบกับการที่ราคาสินค้าต่ำลงเรื่อยๆทำให้ครอบครัวใหม่และตลาดรีเพลสเมนต์เปลี่ยนเครื่องใหม่เป็นแฟลตพาแนลมากขึ้น โดยชาร์ปถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดแอลซีดีทีวีของโลกจนสามารถเป็นผู้นำในช่วงแรก ทว่าโซนี่ซึ่งไล่ตามหลังมามีการพัฒนาแอลซีดีภายใต้ซับแบรนด์ว่า บราเวีย

ในการรุกตลาดแอลซีดีทีวี โซนี่มองความต่อเนื่องไปสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่นโยบาย HD World ซึ่งโซนี่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างตลาด Full HD ให้เกิดขึ้น เนื่องจากโซนี่ได้สร้างเทคโนโลยีเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ที่ให้ความละเอียดของภาพในระดับ Full HD แต่ถ้าใช้เครื่องรับสัญญาณที่ไม่รองรับ Full HD ก็ไม่เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังต้องติดตั้งระบบเสียงให้เป็น 5.1 แชนแนลเพื่อการรับฟังเสียงที่สมจริง เพราะฉะนั้นโซนี่จึงต้องทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ HD TV เสียก่อนที่จะลอนช์เครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ รวมถึงเกมเพลย์สเตชั่น 3 ซึ่งต้องการทีวีที่รองรับสัญญาณ Full HD เช่นกันจึงจะได้อรรถรสในการชมเพราะถ้าใช้ทีวีรุ่นเก่าก็จะไม่ได้ภาพที่ให้รายละเอียดสมจริง

เช่นเดียวกับโตชิบาที่สร้างเครื่องเล่น HD DVD ที่ให้ความละเอียดในระดับ Full HD จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับ HD TV ซึ่งโตชิบาได้พัฒนาเทคโนโลยี Meta Brain Pro 100 สำหรับแอลซีดีทีวี 32-47 นิ้วซึ่งจะรองรับสัญญาณไฮเดฟฟินิชั่น และเป็นทีวี 100 Hz ซึ่งช่วยลดการเบลอของสัญญาณภาพในแอลซีดีทีวีโดยเฉพาะเวลาที่ภาพเคลื่อนไหวเร็ว

จอใหญ่อย่างเดียวไม่พอ ต้อง Full HD ด้วย

นอกจาก HDTV จะรองรับอุปกรณ์บลูเรย์ดิสก์และเอชดี ดีวีดี แล้ว HDTV ยังรองรับความนิยมทีวีจอใหญ่ เพราะถ้าหน้าจอใหญ่ขึ้นแต่ความละเอียดเท่าเดิม ภาพก็จะแตก ไม่คมชัด HDTV จึงเป็นทางเลือกที่ทีวีจอใหญ่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมี

ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการส่งสัญญาณในระบบ Full HD โซนี่ได้สร้างอาณาจักร HD World ด้วยการลอนช์กล้องไฮเดฟฟินิชั่นแฮนดีแคมเพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เองและรับชมผ่าน HD TV ซึ่งโซนี่ก็มีแอลซีดีทีวีบราเวียหลายรุ่นที่รองรับสัญญาณไฮเดฟฟินิชั่น แต่แอลซีดีบราเวียยังมีข้อจำกัดในเรื่องขนาด โดยจอใหญ่สุดในปัจจุบันคือขนาด 46 นิ้ว ทว่าเทรนด์ของตลาดยังต้องการทีวีที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ แต่การพัฒนาแอลซีดีทีวีให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีต้นทุนแพงมากขึ้นจนไม่สามารถทำราคาสู้พลาสม่าทีวีในขนาดหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นได้

ดังนั้นโซนี่จึงลอนช์โปรเจกชั่นทีวีเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งปกติโปรเจกชั่นทีวีทั่วไปมีความละเอียดแค่ระดับ VGA 852x480 หรือประมาณ 4 แสนพิกเซลแต่เมื่อใช้เทคโนโลยีใหม่ ชิป SXRD ทำให้ได้ความละเอียดในระดับ Full HD 1920x1080 หรือ 2 ล้านพิกเซล โดยมีหน้าจอ 3 ขนาดคือ 50 นิ้ว 60 นิ้ว 70 นิ้ว สนนราคาอยู่ที่ 129,990 บาท 149,990 บาท 199,990 บาทตามลำดับ ทั้งนี้ SXRD มีจุดด้อยกว่าแอลซีดีเพียงจุดเดียวคือมีขนาดใหญ่ หน้าจอมีความหนาเหมือนโปรเจกชั่นทีวี ดังนั้นโซนี่จึงโฟกัส SXRD ไปที่กลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีบ้านหลังใหญ่เพราะ SXRD ต้องใช้พื้นที่ในการตั้ง ต่างจากแอลซีดีทีวีทีวีมีความบางและเบาไม่ต้องใช้พื้นที่ติดตั้งมาก

Highly Realistic Sensation ถือเป็นคอนเซ็ปต์ของโซนี่ในการสื่อสารกับลูกค้าโดยจะมีการเอ็ดดูเคตผู้บริโภคให้รับรู้ถึง 3 องค์ประกอบหลักที่จะทำให้การดูทีวีได้อรรถรสได้แก่ 1) ทีวีต้องมีขนาด 40 นิ้วขึ้นไป 2) ความละเอียดของจอภาพก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าความใหญ่ของหน้าจอ และ 3) ระยะห่างจากจอซึ่งจะห่างมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดของหน้าจอด้วย โดยองค์ประกอบทั้ง 3 นี้พนักงานขายโซนี่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้า

ทั้งนี้สัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็น Full HD ของโซนี่มี 15% โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ Full HD ให้สูงถึง 40% ในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 80% ในปีหน้า

ยักษ์ใหญ่รุก HDTV สร้างมูลค่าเพิ่ม

นอกจาก 2 ค่ายยักษ์อย่างโซนี่และโตชิบาที่จำเป็นต้องผลักดันตลาด HD TV เพื่อสร้างตลาดบลูเรย์ดิสก์และเอชดีดีวีดีเพื่อชิงความเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางตลาดเครื่องเล่นแผ่นแห่งอนาคตแล้ว ก็ยังมีค่ายอื่นๆที่ให้ความสำคัญกับ HD TV มากขึ้น เช่นฟิลิปส์ที่มีแอลซีดีทีวี Full HD มากถึง 9 รุ่นตั้งแต่ 32-52 นิ้ว ที่เปิดตัวในงาน Bangkok Electronica 2008 ที่เดอะ มอลล์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Best Entertainment Solutions ความบันเทิงที่สร้างสรรค์ได้ ต่อยอดคอนเซ็ปต์ก่อนหน้านี้ที่ว่า Experience…Philips Entertainment Solution ซึ่งมีการจัดกลุ่มสินค้าเพื่อจำหน่ายแบบยกชุดเช่นทีวีขายพ่วงเครื่องเสียงซึ่งมีสินค้าเข้าเซ็ตหลายระดับเพื่อเจาะตลาด 3 กลุ่มคือ Luxury Living ที่ชอบความหรูหรา กลุ่มพรีเมี่ยมเป็นคนวัยทำงานที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และกลุ่มเทรนดี้หรือคนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน ครอบครัวเล็ก

ในขณะที่พานาโซนิคซึ่งให้ความสำคัญกับการทำตลาดพลาสม่าทีวีมากกว่าแอลซีดีโดยมองว่าเทคโนโลยีจอภาพทั้ง 2 ประเภทยังมีเส้นแบ่งโดยแอลซีดีเหมาะสำหรับจอขนาดต่ำกว่า 37 นิ้ว ส่วนพลาสม่าเหมาะสำหรับจอ 40 นิ้วขึ้นไป ซึ่งปกติแล้วพลาสม่าจะมีความละเอียดของจอภาพที่ระดับ XGA 1024x768 หรือ 7 แสนพิกเซล แต่ถ้าเป็นพลาสม่าขนาด 50 นิ้วขึ้นไปรวมถึงแอลซีดีทีวีจะมีความละเอียดระดับ WXGA 1366x768 หรือ 1 ล้านพิกเซล แต่พานาโซนิคมีการพัฒนาให้พลาสม่าเวียร่ามีความละเอียดในระดับ Full HD 1920x1080 หรือ 2 ล้านพิกเซล พร้อมกับพัฒนาหน้าจอให้ใหญ่มากขึ้น โดยที่ญี่ปุ่นพานาโซนิคมีการจำหน่ายพลาสม่าทีวี 103 นิ้ว Full HD ในราคา 6 ล้านเยนหรือ 2 ล้านบาทซึ่งถือเป็นพลาสม่าทีวีที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทย พานาโซนิคได้สร้างสาวพานาเกิร์ลเพื่อเป็นทีมจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์โดยมีทั้งในส่วนของกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และในปีนี้พานาโซนิคยังมีแผนลอนช์แฟลตพาแนลระดับ Full HD เพิ่มขึ้นอีก 5 รุ่น

ส่วนชาร์ปซึ่งเป็นผู้บุกเบิกตลาดแอลซีดีทีวีก็มีการนำแอลซีดีทีวีอะควอส 65 นิ้ว Full HD เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยโดยมีราคา 790,000 บาท พร้อมกับการทำโรดโชว์ภายใต้คอนเซ็ปต์ More to See Aquos Music Inspiration เพื่อแนะนำสินค้าดังกล่าวให้กับดีลเลอร์และร้านค้าในระดับไฮเอนด์ โดยชาร์ปทำตลาดแอลซีดีทีวีตั้งแต่ 13-65 นิ้ว เช่นเดียวกับ JVC ที่หันมาให้ความสำคัญกับตลาดแอลซีดี โดยยกเลิกสายการผลิตพลาสม่าทีวี คงเหลือไว้เพียงการทำตลาดซีอาร์ทีทีวีสำหรับตลาดล่างและแอลซีดีทีวีสำหรับตลาดบน ล่าสุดได้เปิดตัวแอลซีดีซีรี่ย์ใหม่ DynaPix HD ซึ่งเป็น Full HD ทุกรุ่น นอกจากนี้ก็ยังมี HD-ILA TV ขนาด 70 นิ้วและ 56 นิ้ว Full HD ซึ่งจะมาชนกับ SXRD โปรเจ็กชั่น ทีวี ของโซนี่

ขณะที่ซัมซุงมีการโฟกัสไปที่แอลซีดีทีวี 100 เฮิรตซ์ ความละเอียดระดับ Full HD โดยล่าสุดลอนช์ F8 100 Hz Full HD ขนาด 46 นิ้ว ราคา 1.59 แสนบาท และ 50 นิ้ว ราคา 2.29 แสนบาท

ทรูวิชั่นส์ ปลุกตลาด HDTV

หลังจากเพียรพยายามให้ผู้บริโภคเดินตามนโยบาย HD World โซนี่ก็มีการทำตลาด Full HD ไปสู่กลุ่มโปรเฟสชันนอล เช่น โปรดักชั่นเฮาส์ โรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นการรองรับอนาคตเพราะเมื่อใดที่มีการเผยแพร่สัญญาณเป็นระบบไฮเดฟฟินิชั่น ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในระบบเดิมก็จะใช้ไม่ได้ ทำให้ผู้ผลิตรายการทีวีหลายรายเริ่มหันมาบันทึกข้อมูลด้วยระบบไฮเดฟฟินิชั่นมากขึ้นเช่นค่ายกันตนาซึ่งร่วมกับโซนี่สร้าง HD Training Center เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับในการผลิตภาพยนตร์ระดับไฮเดฟฟินิชั่นเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนา “Sony Broadcast & Professional Products Exhibition 2006” เพื่อโน้มน้าวให้สถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการหันมาใช้เทคโนโลยีไฮเดฟฟินิชั่นเพื่อรองรับอนาคต โดยมีการชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ของตลาดว่าผู้บริโภคมีการรับชมด้วย HD TV มากขึ้น

ที่ผ่านมาผู้ผลิต HDTV มีความหวังแบบลมๆแล้งๆเพราะประเทศไทยยังไม่มีการประกาศทิศทางที่ชัดเจนในการส่งสัญญาณออกอากาศแบบดิจิตอล Full HD ทว่าวันนี้ฝันกำลังเป็นจริงเมื่อเคเบิลทีวีเริ่มมีการทดลองออกอากาศด้วยสัญญาณภาพระดับ Full HD ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ และเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้ผู้บริโภคมีความสนใจ HDTV มากขึ้น

โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทรู วิชั่นส์ ได้จัดกิจกรรม TrueSport The King of Soccer ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกคู่บิ๊กแมตซ์ให้ประชาชนได้รับชมในระบบ HD หรือ ไฮเดฟฟินิชั่น บนจอ Sony BRAVIA HD โปรเจกเตอร์ขนาด 600 นิ้ว เพื่อสร้างประสบการณ์การรับชม และรับรู้ถึงประสิทธิภาพระบบสัญญาณ HD ที่ให้ความคมชัดของภาพถึง 1,080 เส้น ชัดกว่าสัญญาณภาพที่โทรทัศน์ปกติเคยรับสัญญาณอยู่ที่ประมาณ 560 เส้น โดยเลือกนำ Content ภายใต้ ทรูสปอร์ต อย่างการถ่ายทอดสดแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกบิ๊กแมตซ์ ที่ถือเป็นรายการใหญ่มีผู้ชมให้ความสนใจมาก มาเป็น Content เชิญชวนให้ประชาชนได้รับชมและรับรู้ ซึ่งจะมีเฉพาะในงานนี้เท่านั้น ไม่สามารถรับชมที่บ้านได้ เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ภาครับสัญญาณสำหรับ HD โดยเฉพาะ (HD Set top box) ที่อยู่ภายในงาน และยังมีการถ่ายทอดอีก 3 ครั้งในปีนี้

นอกจากนี้ ทรู วิชั่นส์ ยังมีแผนที่จะพัฒนาช่องรายการที่ส่งสัญญาณแบบ Full HD ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเรียกค่าบริการจากลูกค้าเพิ่มได้โดยเฉพาะตลาดไฮเอนด์ที่ต้องการสัญญาณภาพที่คมชัด รวมถึงค่า HD Set Top Box ที่สมาชิกทรูวิชั่นส์จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้เครื่องรับสัญญาณไฮเดฟฟินิชั่นได้

นอกจากคอนเทนต์ด้านกีฬาแล้ว ยังมีรายการประเภทสารคดี ท่องเที่ยว ภาพยนตร์แนวแอกชั่น ที่ต้องการความละเอียดของสัญญาณภาพเพื่อเพิ่มอรรถรสในการับชม และด้วยจำนวนสมาชิก ทรู วิชั่นส์ ที่มีกว่า 6 แสนราย ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้ผลิต HDTV จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษก่อน เพราะปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าประเทศไทยจะมีระบบออกอากาศเป็น Full HD กันเมื่อไหร่ ขณะที่เพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง มีการออกอากาศในระบบ Full HD แล้ว

เมื่อสงครามราคาไล่ล่าเทคโนโลยี

สงครามราคาถือได้ว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการทำธุรกิจ แต่ผู้ที่สามารถปรับตัวอยู่ได้คือผู้ที่รู้จักสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จาก ซีอาร์ทีทีวีจอโค้งมาสู่จอแบน จากนั้นพัฒนาจอใหญ่ขึ้นมาสู่โปรเจกชั่นทีวี วันนี้พลาสม่าทีวีกำลังถูกแอลซีดีทีวีกลืนกินไปเรื่อยๆ ทว่าปัจจุบันสินค้าจากเมืองจีนรวมถึงแบรนด์ไทยเองก็มีการนำแอลซีดีทีวีเข้ามาทำตลาดได้มากขึ้น สงครามราคาจึงไล่หลังตลาดแอลซีดีทีวีมาติดๆ ซึ่งนอกจากบรรดาแบรนด์เนมจะต้องต่อสู้กับสินค้าราคาถูกแล้ว การออกไฟติ้งโมเดลเพื่อตีกันสินค้าราคาถูกกลับเป็นอาวุธที่บรรดาแบรนด์เนมนำมาใช้สัประยุทธ์กันเอง

ราคาแอลซีดีทีวี 32 นิ้ว ปัจจุบันมีโลคอลแบรนด์อย่าง AMORN และ Distar ทำราคาอยู่ที่ 14,900 บาท ขณะที่รุ่นราคาถูกของแบรนด์เนมอยู่ที่ระดับสองหมื่นต้นๆ ถ้ามีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีขึ้นไปก็ยังมีให้เห็นที่ระดับสามหมื่นบาท

ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายไม่ว่าจะเป็น โซนี่ โตชิบา ชาร์ป เจวีซี พานาโซนิค ต่างหันมาตั้งโรงงานประกอบแอลซีดีทีวีและพลาสม่าทีวีในบ้านเรา ซึ่งส่วนใหญ่มองการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มมาร์จิ้นมากกว่าการทำราคาสู้คู่แข่ง แต่ถ้าจำเป็นก็สามารถทำราคาสู้ได้ รวมถึงเป็นการบริหารซัปพลายเชนเพื่อผลักดันสินค้าไปสู่ตลาดได้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

แม้วันนี้จะมีการพัฒนาแฟลตพาแนลที่ให้สัญญาณภาพในระดับ Full HD ซึ่งถือเป็นความคมชัดสูงสุดที่หาได้ในตลาด ซึ่งนอกจากจะเป็นการหนีสงครามราคาแล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพราะราคาแฟลตพาแนลทีวีที่เป็น Full HD จะมีราคาแพงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับแฟลตพาแนลทั่วไปที่ขนาดหน้าจอเท่ากัน

ทว่าราคาสินค้าเหล่านี้อาจต่ำลงได้อีกเมื่อคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นแบรนด์จีนหรือโลคัลแบรนด์ของไทยพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวได้ทัน หรืออาจเกิดจากกรณีที่บรรดาแบรนด์เนมที่ต้องการชิงความเป็นหนึ่งในตลาดเร่งนำเทคโนโลยีจอภาพตัวใหม่เข้าสู่ตลาดเร็วขึ้นก็อาจจะทำให้แฟลตพาแนลที่เป็น Full HD ที่กำลังมาแรงในปีนี้มีราคาตกต่ำลงได้เช่นกัน

เพราะทั้ง OLED (Organic light emitting diode) และ SED TV (Surface-conduction Electron-emitter Display) ที่กำลังถูกพัฒนาออกมาในเชิงพาณิชมากขึ้น ต่างมีการพูดถึงประสิทธิภาพที่เหนือกว่าแอลซีดีในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของความคมชัด ความสว่าง และการประหยัดพลังงาน แต่ปัจจุบันราคาของเทคโนโลยีดังกล่าวยังแพงมากเมื่อเทียบกับแอลซีดีทีวี โดยโซนี่ประกาศที่จะจำหน่าย OLED ขนาด 11 นิ้ว หนาเพียง 3 มิลลิเมตร ในราคา 1,740 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5-6 หมื่นบาท แพงเท่ากับแอลซีดีทีวี 40 นิ้วในปัจจุบัน

วันนี้จึงยังมิใช่วันของ OLED และ SED แต่เป็นวันของ HDTV ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างยอดขายและกำไรให้กับผู้ผลิต และเพิ่มอรรถรสในการรับชมให้กับผู้บริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น