ศาลปกครองจะวินิจฉัย กรณีบริษัทก่อสร้างจีน ฟ้องถูกตัดสิทธิ ประมูลรถไฟทางคู่ มูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ในวันจันทร์นี้ ขณะที่ ผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ระบุ คำสั่งศาลถือเป็นบรรทัดฐาน การประมูลงาน ในอนาคต
วันนี้ (13 ม.ค.) มีรายงานข่าวความคืบหน้ากรณีที่นักลงทุนจีน ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หลังถูกตัดสิทธิประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่สายตะวันออก ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ระยะทาง 78 กม.วงเงิน 5,200 ล้านบาท โดยกลุ่มผู้รับเหมาที่ถูก ร.ฟ.ท.ตัดสิทธิ์ 2 กลุ่ม ได้แก่ กิจการร่วมค้าซีทีเอ็ม และบริษัท KCT Joint Venture ซึ่งมีกลุ่มบริษัทรับเหมาวิสาหกิจจากจีนร่วมถือหุ้นอยู่
ทั้งนี้ เหตุผลในการตัดสิน ร.ฟ.ท.ระบุว่า กลุ่มผู้รับเหมาของจีนมีลักษณะเข้าข่ายกฎหมายการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือกฎหมายฮั้ว ปรากฏว่าทั้งสองกลุ่มได้ประกาศจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีการคุ้มครองฉุกเฉินยับยั้งไม่ให้ รฟท.เปิดการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) ในวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค.)
แหล่งข่าวจากกิจการร่วมค้าซีทีเอ็ม ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ เปิดเผยกับสื่อมวลชน ว่า การตัดสิทธิกลุ่มบริษัทที่มีบริษัทจากจีนเข้ามาร่วมกิจการนั้นไม่ชอบด้วยเหตุผล เนื่องจากที่ผ่านมาการประกวดราคาในงานต่างๆ ทั้งหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจก็มีกลุ่มบริษัทจีนได้รับเลือกเข้ามารับงานก่อสร้าง อีกทั้งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าบริษัทจากจีนทุกบริษัทจะต้องมีรัฐบาลจีนเข้ามาถือหุ้นอยู่แล้ว แต่ในส่วนของการบริหารย่อมมีการบริหารที่แตกต่างกันไป
“สิ่งที่ยังเป็นข้อข้องใจของทั้ง 2 กลุ่มบริษัท ก็คือ การที่ ร.ฟ.ท.ระบุมาในหนังสือตอบปฏิเสธการเข้าร่วมการประมูลว่า เพราะมี China State ถือหุ้น 25% แต่จริงๆ แล้วในการจับกลุ่มเบื้องต้นยังไม่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแต่อย่างใด จึงเห็นว่าการที่ ร.ฟ.ท.ตัดสิทธิ์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม”
ร.ฟ.ท.จะเปิดให้บริษัททั้ง 5 กลุ่มที่เหลือยื่นข้อเสนอประกวดราคาด้วยวิธี อี-ออกชัน ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ หลังจากนั้น คณะกรรมการพิจารณาผลจะประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับราคาของบริษัทที่เสนอค่าก่อสร้างต่ำสุดหรือไม่ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.อนุมัติการว่าจ้างต่อไป โดย ร.ฟ.ท.กำหนดราคากลางไว้ที่ 5,292 ล้านบาท