ตำรวจความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ประกาศออกหมายจับ 19 นักเคลื่อนไหวในต่างแดน กล่าวหาพวกเขาพยายามโค่นล้มอำนาจรัฐ ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติอันเข้มงวด ถือเป็นการออกหมายจับตามข้อหานี้ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
พวกเขาถูกกล่าวหาเป็นแกนนำหรือเข้าร่วมในกลุ่ม "Hong Kong Parliament" กลุ่มที่ทางเจ้าหน้าที่๋ฮ่องกงบอกว่ามีเป้าหมายล้มล้างอำนาจรัฐ ภายใต้กฎหมายที่ทางปักกิ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2020 ตามหลังการประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยนานหลายเดือนในปี 2019
บรรดานักเคลื่อนไหวถูกกล่าวหาทำประชามติหรือลงสมัครในนามกลุ่ม Hong Kong Parliament อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่บอกว่ามีเป้าหมายเพื่อบรรลุการปกครองตนเองและร่างรัฐธรรมนูญฮ่องกงขึ้นมา
ตำรวจ ซึ่งกล่าวหาว่าองค์กรแห่งนี้ต้องการโค่นล้มรัฐบาลของจีนและฮ่องกงด้วยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เปิดเผยว่าพวกเขายังคงอยู่ระหว่างการสืบสวนและอาจมีการออกหมายจับเพิ่มเติมตามมา
ในบรรดารายชื่อเหล่านี้ มีทั้ง Elmer Yuen นักธุรกิจ, Victor Ho นักวิจารณ์ รวมถึง Johnny Fok และ Tony Choi ซึ่งทั้ง 4 คนเคยถูกออกหมายจับมาก่อนแล้วก่อนหน้านี้ โดยแต่ละคนมีรางวัลนำจับ 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ส่วนอีก 19 คนที่เหลือ แต่ละคนตำรวจตั้งรางวัลนำจับคนละ 200,000 ดอลลาร์ฮ่องกง โดยกล่าวหาคนเหล่านี้ว่าเป็นคนจัดตั้งหรือลงชิงในศึกเลือกตั้ง และสาบานตนในฐานะสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายโค่นล้มอำนาจรัฐ
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันเสาร์(26ก.ค.) ประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งเขาบอกว่าเล็งเป้าเล่นงานบางคนที่พำนักอยู่ในอเมริกา "เราจะไม่อดทนความพยายามของรัฐบาลฮ่องกง ในการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อปิดปากและข่มขู่ชาวอเมริกา หรือใครก็ตามที่อยู่ในแผ่นดินสหรัฐฯ" เขาเขียนในถ้อยแถลง เรียกมันว่าเป็นการกดขี่ข้ามชาติรูปแบบหนึ่ง
กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรก็ประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวในถ้อยแถลงร่วม เรียกการออกหมายจับนี้ว่าเป็น "อีกหนึ่งตัวอย่างของการปราบปรามข้ามชาติ" และก่อความเสียหายแก่ชื่อเสียงของฮ่องกงในระดับนานาชาติ
สถานทูตจีนในสหราชอาณาจักร ตอบโต้ว่าถ้อยแถลงของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เข้าข่ายแทรกแซงอย่างแท้จริง ในกิจการภายในของจีนและหลักนิติรัฐในฮ่องกง "จีนเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรละทิ้งแนวคิดเจ้าอาณานิคม หยุดแทรกแซงกิจการฮ่องกง และหยุดคุ้มกันพวกอาชญากร"
อดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักรถูกส่งคืนสู่การปกครองของจีนในปี 1997 และรับประกันสิทธิในการปกครองตนเองระดับสูง ในนั้นรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก ภายใต้หลัก "หนึ่งประเทศ สองระบบ" อย่างไรก็ตามพวกนักวิจารณ์บอกว่ากฎหมายความมั่นแห่งคงชาติ กำลังถูกพวกเจ้าหน้าที่ใช้ในการปราบปรามพวกผู้เห็นต่าง
(ที่มา:รอยเตอร์)