เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - เบอร์ลินวันจันทร์(16 ก.ย)เริ่มต้นตรวจค้นเส้นทางบกทั้งหมด 9 เส้นทางเข้าประเทศติดพรมแดน “ฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์-เบลเยียม-ลักเซมเบิร์ก-เดนมาร์ก” เพื่อตรวจจับการอพยพลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่สร้างความไม่พอใจให้ชาติสมาชิกอียูอื่น เกิดขึ้นหลังผู้อพยพเข้ามาในประเทศก่อเหตุสะเทือนขวัญ ผู้อพยพซีเรียไล่แทงคนในเมืองโซลินเกน(Solingen)ดับ 3 คน
CNN ของสหรัฐฯรายงานวันนี้(16 ก.ย)ว่า ตั้งแต่ก่อนตะวันขึ้นของเช้าวันจันทร์(16) เจ้าหน้าที่เยอรมันตั้งด่านตรวจทางบกเพื่อตรวจเช็กแบบสุ่มต่อผู้สัญจรผ่านพรมแดนจาก 5 ประเทศได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก เดนมาร์ก ซึ่งจะเริ่มเป็นเวลา 6 เดือนในช่วงแรกหลังก่อนหน้ามีการควบคุมการตรวจพรมแดนติดโปแลนด์ สาธารณรัฐเชก ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อกวาดล้างการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย
กระทรวงมหาดไทยเยอรมันกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า รัฐบาลเยอรมันมีสิทธิ์ปฎิเสธห้ามเข้าประเทศจากทุกช่องทางบกได้โดยสมบูรณ์ที่มีทั้งหมด 9 เส้นทาง
รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมัน แนนซี เฟรเซอร์ (Nancy Faeser) ส่งสัญญาณว่า การเคลื่อนไหวมีเป้าหมายเพื่อปกป้องพลเมืองเยอรมันจากการก่อการร้ายของกลุ่มอิสลามิสต์ญิฮัดรวมไปไปถึงอาชญากรรมข้ามพรมแดนร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม CNN ชี้ว่าการสั่งควบคุมพรมแดนทางบกโดยสมบูรณ์ของเยอรมันยังเป็นการทดสอบต่อความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรปและอีกทั้งยังเรียกเสียงวิจารณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน
นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ โดนัลด์ ทัสค์ กล่าวว่าการนำการควบคุมพรมแดนทางบกกลับมาใช้ถือเป็นสิ่งที่รับไม่ได้สำหรับวอร์ซอและจะเรียกร้องการประชุมฉุกเฉินต่อทุกชาติที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ทั้งกรีซและออสเตรียประกาศเตือนจะไม่รับผู้อพยพที่โดนปฎิเสธจากเยอรมัน
ส่วนสภาเพื่อการอพยพของเยอรมัน(Germany’s Council for Migration) ออกคำเตือนเช่นกันว่า แผนนี้เสี่ยงต่อการละเมิดกฎสหภาพยุโรป
สื่อสหรัฐฯชี้ว่า เยอรมันนำการตรวจเช็กพาสปอร์ตที่บริเวณพรมแดนกลับมาใช้อีกครั้งหลังการเสียชีวิต 3 คนที่เมืองโซลินเกน(Solingen) เมื่อวันที่ 23 ก.ย ก่อนหน้าหลังโดนผู้อพยพซีเรียวัย 26 ปีเชื่อมโยงกลุ่มก่อการร้าย IS ใช้มีดไล่แทนง ชายผู้นี้มีกำหนดที่จะถูกเนรเทศออกนอกเยอรมัน
อย่างไรก็ตามรอยเตอร์รายงานวันจันทร์(16)ว่า นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ระหว่างการเยือนอุซเบกิสถานได้ลงนามข้อตกลงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อพยพแรงงานมีฝีมือจากอุซเบกิสถานสามารถเข้าไปทำงานเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเมืองเบียร์และการส่งกลับผู้อพยพบางส่วน
และก่อนหน้าวันศุกร์(13) เบอร์ลินได้บรรลุข้อตกลงกับเคนยาที่จะได้เห็นแรงงานมีฝีมือเคนยาและแรงงานกึ่งมีฝีมือเคนยาเข้าไปทำงานในเยอรมัน