รัฐบาลเยอรมนีส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไบออนเทค (BioNTech) ล็อตแรกเข้าไปยังจีน เพื่อใช้ฉีดให้พลเมืองเยอรมันที่อาศัยอยู่ในแดนมังกร ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัคซีนต่างชาติชนิดแรกที่ถูกส่งเข้าไปยังจีน
แม้ทางการเยอรมนีจะไม่ได้ระบุช่วงเวลาและจำนวนวัคซีนที่ส่งไป แต่โฆษกรัฐบาลยืนยันว่า เบอร์ลินคาดหวังให้ชาวต่างชาติในจีน นอกเหนือจากคนเยอรมันซึ่งมีอยู่ราวๆ 20,000 คน มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนตัวนี้ด้วย หากว่าพวกเขาต้องการ
การส่งมอบวัคซีนมีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้พลเมืองเยอรมันสามารถฉีดวัคซีนของต่างชาติได้ตามข้อตกลงที่ทำร่วมกับนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ซึ่งเดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อเดือน พ.ย. ขณะที่ผู้นำเยอรมนียังเรียกร้องให้จีนยอมใช้วัคซีนต่างชาติฉีดให้แก่พลเมืองจีนด้วยเช่นกัน
รัฐบาลเยอรมนีเตรียมส่งหนังสือแจ้งไปยังพลเมืองเยอรมันที่อาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยระบุว่า จะให้บริการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานและวัคซีนเข็มกระตุ้นที่อนุมัติใช้งานในสหภาพยุโรป (อียู) แก่บุคคลที่อายุเกิน 12 ปีขึ้นไป ยกเว้นสมาชิกครอบครัวที่ไม่ใช่พลเมืองเยอรมัน ส่วนวัคซีนสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีอาจจะมีการจัดส่งให้ในภายหลัง
“นอกเหนือจากคนเยอรมันแล้ว เรากำลังพยายามผลักดันให้พลเมืองชาติอื่นๆ สามารถเข้าถึงวัคซีนไบออนเทคได้เช่นกัน” โฆษกรัฐบาลเยอรมนีให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงเบอร์ลิน
แหล่งข่าวเผยว่า วัคซีนไบออนเทคล็อตแรกจะถูกส่งไปยังสถานทูตและบริษัทสัญชาติเยอรมันในจีน และกำลังมีการเจรจาในกลุ่มประเทศอียูเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะส่งวัคซีนชนิดนี้ให้แก่ชาวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ในจีนด้วย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนว่าจะอนุญาตหรือไม่
ในทางกลับกัน โฆษกเบอร์ลินระบุว่า พลเมืองจีนในยุโรปก็สามารถเลือกที่จะฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” ของจีนได้เช่นกัน
มีรายงานเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ว่า กระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีอนุมัติให้มีการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของจีนเพื่อฉีดให้แก่ชาวจีนในประเทศ
ปัจจุบันวัคซีนซิโนแวคยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์กรยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะอนุมัติใช้งานแล้วก็ตาม
จนถึงขณะนี้ รัฐบาลจีนยังคงยืนกรานให้พลเมืองฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศซึ่งใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิม แตกต่างจากวัคซีน mRNA ของตะวันตกซึ่งช่วยยับยั้งอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้มากกว่า
จีนมีวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศและผ่านการรับรองใช้งานแล้วทั้งหมด 9 ตัว ซึ่งถือว่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ทว่ายังไม่มีวัคซีนจีนตัวใดที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงจนสามารถต่อต้านเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีเหมือนอย่างวัคซีนรุ่นใหม่ของ “ไฟเซอร์” และ “โมเดอร์นา” ซึ่งถูกนำไปฉีดเป็นเข็มกระตุ้นแล้วในหลายประเทศ
ที่มา : รอยเตอร์