xs
xsm
sm
md
lg

สงครามยูเครนคือสิ่งที่ทำให้ ‘ความเสื่อมทรุดของโลกตะวันตก’ ยิ่งกลายเป็นความจริงมากขึ้นอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แจน คริกเก


พวกผู้นำตะวันตกส่งเสริมสนับสนุนและติดอาวุธให้ยูเครน เข้าสู้รบในสงครามที่พวกเขาไม่มีโอกาสเลยที่จะเป็นผู้ชนะ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Ukraine war cements decline of the West
by Jan Krikke
21/08/2024

พวกผู้นำในโลกตะวันตกที่หล่นลงในความสับสน กำลังส่งเสริมสนับสนุนและติดอาวุธให้ยูเครนเข้าสู้รบในสงครามที่พวกเขาไม่มีโอกาสเลยที่จะเป็นผู้ชนะ

“ทั้งหมดที่ยังคงเหลืออยู่ของฝ่ายตะวันตก คือความพยายามอย่างจอมปลอมและกระทั่งอย่างบ้าคลั่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อฉุดรั้งการเคลี่อนไปของกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ ... ในยุโรปที่แก่ชรานี้ ชาติทั้งหลาย, รัฐทั้งหลาย, และชนชั้นปกครองทั้งหลาย ... เก็บกักศรัทธาของพวกเขาเอาไว้ให้อยู่กับสูตรต่างๆ ที่ว่างเปล่าของเสรีภาพและความก้าวหน้า”
ออสวอลด์ สเปงเกลอร์ (Oswald Spengler), จากหนังสือเรื่อง The Decline of the West

เมื่อเดือนมิถุนายนของปีนี้ ฮันเดลสบลัตต์ (Handelsblatt) หนังสือพิมพ์ธุรกิจและการเงินรายวันในเยอรมนี เปิดเผยว่า โอลาฟ ชอลซ์ ผู้นำฝ่ายบริหารคนปัจจุบันของเยอรมนี ครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลังในปี 2020 นั้น ได้เคยพยายามที่จะทำข้อตกลงลับกับคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สหรัฐฯประกาศลงโทษคว่ำบาตรเอากับโครงการสายท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม2” (Nord Stream-2)

อีก 2 ปีต่อมา ในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ราวสองสามสัปดาห์ก่อนที่สงครามยูเครนจะระเบิดตูมตามขึ้นมา ชอลซ์ ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีแล้ว ได้ไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อเจรจากับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวซึ่งทำจะขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันแบบพูดกันสดๆ ภายหลังการเจรจาของพวกเขา ไบเดนถูกผู้สื่อข่าวถามถึงความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับนอร์ดสตรีม ที่เป็นระบบสายท่อส่งซึ่งลำเลียงก๊าซธรรมชาติของรัสเซียลอดใต้ทะเลบอลติกเข้าไปยังยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี [1] ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้ตอบว่า “ถ้ารัสเซียรุกคานยูเครน มันก็จะไม่มีนอร์ดสตรีม 2 อีกต่อไป เราจะทำให้มันจบสิ้นลง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://youtu.be/OS4O8rGRLf8?si=6fn72dZR9WgQZgMc&t=82)

ชอลซ์ ซึ่งยืนอยู่ถัดจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกผู้สื่อข่าวซักต่อขอให้แสดงทัศนะเกี่ยวกับคำพูดเช่นนี้ของไบเดน ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวยืนยัน สหรัฐฯกับเยอรมนีมีความคิดเห็นต้องตรงกันในเรื่องเกี่ยวกับยูเครน เขาไม่ได้เอ่ยถึงนอร์ดสตรีม แต่นี่ย่อมหมายความเป็นนัยๆ ว่าเขารับรองเห็นชอบกับการทำลายสายท่อส่งนี้

แต่ในขณะที่เขาพูด ผู้นำฝ่ายบริหารของเยอรมนีผู้นี้ดูเหมือนมีความไม่สบายใจ เขาขบคิดอยู่หรือเปล่าว่าประวัติศาสตร์จะวินิจฉัยตัดสินเขาในฐานะที่เป็นผู้เปิดไฟเขียวโดยพฤตินัยให้มีการใช้สิทธิอำนาจนอกอาณาเขตเข้าทำลายส่วนที่สำคัญยิ่งยวดของโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนของเยอรมนีเช่นนี้? รวมทั้งมันจะกลายเป็นการสร้างกรณีตัวอย่างใหม่ขึ้นมาสำหรับบรรทัดฐานความประพฤติในทางระหว่างประเทศอย่างไรหรือไม่?
การตีวงปิดล้อมรัสเซีย

พิจารณากันตามอาการที่ปรากฏ โลกตะวันตกดูเหมือนมีทัศนะเกี่ยวกับรัสเซียแบบคนป่วยจิตเภท ภายหลังจากสหภาพโซเวียตพังครืนลงแล้ว ยุโรปกับรัสเซียก็ได้พัฒนาการติดต่อผูกพันกันทางเศรษฐกิจที่เติบโตขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะสมเพิ่มพูนจนมีการทำข้อตกลงสายท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมฉบับแรก ระหว่าง อังเงลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีขณะนั้น กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียในปี 2005

ทว่ารัฐบาลสหรัฐฯนั้นคัดต้านต่อต้านนอร์ดสตรีม โดยเหตุผลของพวกเขาเท่าที่แสดงออกให้เห็นภายนอกคือ มันจะทำให้เยอรมนีต้องพึ่งพาอาศัยพลังงานของรัสเซียมากเกินไป เป็นที่ชัดเจนว่า แมร์เคล นั้นไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับความห่วงใยของอเมริกานี้

กระนั้นก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหัฐฯ ยังคงประกาศมาตรการแซงก์ชั่นมุ่งเล่นงานพวกบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนอร์ดสตรีม ด้วยเหตุผลอย่างไรไม่ปรากฏชัดเจน นอร์ดสตรีมกลายเป็นส่วนหนึ่งของวาระในการ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ไปเสียฉิบ

ทรัมป์ที่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีในตอนนั้น ได้ลงนามในกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งมีลักษณะของรัฐเร้นลึก (deep-state) เป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ รัฐบัญญัติดำเนินการตอบโต้พวกปรปักษ์ของอเมริกาด้วยการใช้มาตรการแซงก์ชั่น (Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA) ซึ่งทำให้สหรัฐฯสามารถที่จะแซงก์ชั่นบริษัทใดๆ ก็ตามที่กำลังทำงานกับพวกบริษัทเยอรมนีและบริษัทรัสเซียในเรื่องนอร์ดสตรีม ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อ “พิทักษ์ปกป้องความมั่นคงด้านพลังงานของบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ”

เมื่อมีเพื่อนมิตรแบบนี้เสียแล้ว ใครล่ะจำเป็นต้องมีศัตรูอีก หรืออย่างที่มีรายงานกันว่า เฮนรี คิสซิงเจอร์ ได้เคยกล่าวเอาไว้ในช่วงขณะแห่งการเปิดเผยตรงไปตรงมาซึ่งหากได้ยากยิ่งครั้งหนึ่งว่า “มันอาจจะมีอันตรายที่จะเป็นศัตรูของอเมริกา แต่ก็เป็นเพื่อนมิตรของอเมริกันก็ถึงตายได้”

สงครามยูเครนนั้นเป็นผลลัพธ์จากความล้มเหลวของฝ่ายตะวันตกในการหล่อหลอมรัสเซียขึ้นมาใหม่ให้มีรูปลักษณ์เสรีนิยมใหม่ (neoliberal) ตามแบบตะวันตก โดยที่หลังการพังทลายลงมาของสหภาพโซเวียตแล้ว สหรัฐฯก็ได้พันธมิตรใหญ่ในรัสเซีย คือ บอริส เยลตซิน ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากมิคฮาฮิล กอร์มาชอฟ

เยลตซินทำตามคำแนะนำของพวกนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันในการหักดิบเปลี่ยนรัสเซียอย่างฉับพลันให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ มีแต่ใช้วิธีรักษาเยียวยาด้วยการช็อกด้วยไฟฟ้าอย่างดุดันเท่านั้น จึงจะสามารถนำพารัสเซียเข้าสู่เส้นทางที่จะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดทึ่เป็นประชาธิปไตย พวกเขาให้คำแนะนำเช่นนี้

ปรากฏว่า “การปฏิรูปตลาด” ต่างๆ ที่ติดตามมา ส่งผลให้เกิดการปล้นสะดมช่วงชิงทรัพยากรต่างๆ ของรัสเซียโดยพวกผู้ประกอบการที่มีเส้นสายดี ซึ่งได้ก่อตัวขึ้นกลายเป็นชนชั้น “โอลิการ์ช” (oligarchs) ที่สามารถรวบรวมทรัพย์สินมาครอบครองได้เป็นพันล้านหมื่นล้าน

พวกเขาพากันโยกย้ายความร่ำรวยมั่งคั่งของพวกเขาออกไปนอกประเทศในทันที และเที่ยวซื้อหาสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ตลอดจนพวกอสังหาริมทรัพย์เลิศหรูบนชายหาดริเวียราของฝรั่งเศส ขณะเดียวกับที่พวกคนงานรัสเซียวัยเกษียณที่พึ่งพาเงินบำนาญออกมานั่งกันริมถนนในกรุงมอสโกบอกขายยารักษาตัวของพวกเขาเพื่อนำเงินไปซื้อหาอาหาร

เมื่อ ปูติน ที่เป็นนักชาตินิยม ขึ้นครองอำนาจแทนที่นักโลกนิยม (globalist) อย่างเยลตซิน ฝ่ายตะวันตกก็ยิ่งทุ่มเทเร่งรัดความพยายามในการขยายองค์การนาโต้

นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ: พลังรัฐซ่อนเร้าทั้งจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างเห็นพ้องต้องการในเรื่องต้องการที่จะตีวงปิดล้อมรัสเซีย
การพนันวางเดิมพันทางยุทธศาสตร์ที่พ่ายแพ้ล้มเหลว

ไม่ว่าเป็นสมัยใต้การปกครองของเกอร์บาชอฟ, เยลตซิน, หรือ ปูติน ก็ตามที สหรัฐฯไม่เคยหยุดยั้งนโยบายแห่งสงครามเย็นของพวกเขาที่มุ่งบ่อนทำลายรัสเซีย ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ จัดหาจัดส่งความสนับสนุนให้แก่พวกนักรบมูจาฮีดีนชาวอัฟกัน ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มตอลิบานในเวลาต่อมา และประธานาธิบดีอเมริกันทุกๆ คนสืบต่อมาจากเขา ไม่ว่าเป็นพวกเดโมแครตหรือพวกรีพับลิกัน ต่างยังคงเข้าแทรกแซงทั้งอย่างปิดลับและอย่างโจ่งแจ้งไม่ขาดสายในพวกประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่ประชิดติดชายแดนทางตอนใต้ของรัสเซีย

สถาปนิกทางอุดมการณ์ของยุทธศาสตร์มุ่งปิดล้อมควบคุมรัสเซียนี้ คือ ซบิกนิว เบรซินสกี (Zbigniew Brzezinski) ที่ปรึกษาฝ่ายความมันคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีคาร์เตอร์ โดยที่ยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งแสดงบทบาทระดับหลักแกนอยู่ในสิ่งที่เรียกกันว่า “หลักนิยมเบรซินสกี” (Brzezinski Doctrine) นี้ โดยที่แนวคิดดังกล่าวนี้มองว่า ยูเครนนี่แหละคือกุญแจสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้รัสเซียกับยุโรปเกิดการบูรณาการกันทางเศรษฐกิจ กระทั่งจนถึงทุกวันนี้ ชนชั้นนำด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯก็ยังคงอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยพวกลูกศิษย์พวกผู้อยู่ในความอุปถัมภ์ของเบรซินสกี

ด้วยการใช้ยูเครนนี่เอง ฝ่ายตะวันตกก็ได้วางเดิมพันเล่นการพนันทางยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญซึ่งผลปรากฎออกมาว่าพวกเขาพ่ายแพ้ล้มเหลว การใช้มาตรการแซงก์ชั่นเล่นงานรัสเซียอย่างหนักหน่วงชนิดมุ่งทำให้เป็นอัมพาต เป็นสิ่งซึ่งพวกเขาวาดหวังเอาไว้ว่าสมควรที่จะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเสียหายยับเยิน ส่งผลให้เกิดการลุกฮือขึ้นมาของประชาชน และนำไปสู่การมีผู้นำโปรตะวันตกขึ้นมาแทนที่ปูติน มันควรจะเป็นมหาแผนการแห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองซึ่งยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าแผนการทำนองเดียวกันทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้นมา

การมีนักโลกนิยมอีกคนหนึ่งขึ้นครองอำนาจในทำเนียบเครมลิน จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สร้างความเบิกบานให้แก่วอลล์สตรีต เนื่องจากรัสเซียคือประเทศร่ำรวยที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจากแง่ของทรัพย์สมบัติซึ่งได้มาจากธรรมชาติ ด้วยการที่ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายกำลังมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รัสเซียจึงเป็นตัวแทนของโอกาสแห่งการลงทุนสำหรับรอบระยะเวลา 100 ปีข้างหน้า

กราฟฟิกแสดงพวกประเทศระดับนำหน้าของโลกเมื่อวัดกันด้วยมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ณ ปี 2021 (หน่วย: ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ปิดเกม

หลังจากเหตุโจมตีสายท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรมทั้ง 1 และ 2 ในลักษณะของการก่อวินาศกรรมเมื่อปี 2022 แล้ว พวกรัฐบาลฝ่ายตะวันตกได้ประโคมเผยแพร่ “ร่องรอย” ต่างๆ หลายหลากเพื่อระบุตัวคนร้ายผู้ก่อเหตุ พวกเขาไม่ได้เสนอหลักฐานข้อพิสูจน์ใดๆ มีแต่เป็นเบาะแสที่ยิ่งช่วยกวนน้ำให้ขุ่น และกลายเป็นอีกหนทางหนึ่งของการเล่าเรื่องซึ่งจะส่งผลเป็นการลดทอนกลบฝังคำแถลงอย่างห้าวหาญโจ่งแจ้งของ ไบเดน ในเรื่องนอร์ดสตรีม

เยอรมนี, เดนมาร์ก, และสวีเดน ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนจอมปลอมเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมนอร์ดสตรีมขึ้นมา และปฏิเสธที่จะเผยแพร่แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ เวลาเดียวกันนั้นฝ่ายตะวันตกยังใช้สิทธิวีโต้คัดค้านคำขอของฝ่ายรัสเซียที่ให้สหประชาชาติเข้าสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้อย่างเป็นอิสระ

กระทั่งตอนต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง สื่อวอลล์สตรีตเจอร์นัลตีพิมพ์เผยแพร่รายงานข่าวเกี่ยวกับร่องรอยใหม่ๆ ในเรื่องนอร์ดสตรีม โดยบ่งชี้ให้เห็นว่าพวกมือปฏิบัติการลับชาวยูเครนนั่นเองที่ดำเนินการโจมตีคราวนี้ด้วยการรู้เห็นของผู้นำยูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี

เรื่องเล่าของวอลล์สตรีตเจอร์นัลนี้ หากอ่านกันแบบมองโลกแง่ดีก็อาจตีความได้ว่า ฝ่ายตะวันตกกำลังตระเตรียมมติมหาชนให้พรักพร้อมสำหรับการเขี่ยทิ้ง เซเลนสกี ให้ตกจากอำนาจ และเปิดทางสำหรับผู้ขึ้นแทนที่เขาที่จะเจรจาทำข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย ตัวเซเลนสกีได้เคยยอมรับเอาไว้เองว่า การเจรจาทำข้อตกลงกรุงมินสก์เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้กับฝ่ายรัสเซียนั้น มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อซื้อเวลาสำหรับการสร้างสมแสนยานุภาพทางทหารของยูเครนเท่านั้น นี่จึงเป็นการทำให้ตัวเขาเองหมดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้เข้าร่วมการเจรจาที่มีเจตนาดีน่าเชื่อถือไปเสียแล้ว

นอกเหนือจากยูเครนเอง ฝ่ายตะวันตกก็คือผู้พ่ายแพ้สูญเสียรายใหญ่ของสงครามคราวนี้เช่นเดียวกัน จากการถูกปกครองโดยพวกเสรีนิยมใหม่และพวกแอตแลนติกนิยม (Atlanticist) [2] มา 1 เจนเนอเรชั่น ซึ่งยึดติดเหนียวแน่นอยู่กับอุดมการณ์จนละเลยสามัญสำนักทางด้านเศรษฐกิจ, การทหาร, และทางประวัติศาสตร์ พวกเขาจึงเอาแต่กระตุ้นส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ยูเครนเข้าสู้รบในสงครามกับอภิมหาอำนาจทางนิวเคลียร์และทางอุตสาหกรรมการทหาร ซึ่งพวกเขาไม่มีโอกาสเลยที่จะเอาชนะ

สำหรับพวกแอตแลนติกนิยมแล้ว อุดมการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญเหนือกว่าแม้กระทั่งจริยธรรมและศีลธรรมเสียด้วยซ้ำ

แจน คริกเก เป็นอดีตผู้สื่อข่าวประจำญี่ปุ่นให้แก่สื่อต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งเป็นอดีตบรรณาธิการบริหารของ เอเชีย 2000 (Asia 2000) ในฮ่องกง และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Creating a Planetary Culture: European Science, Chinese Art, and Indian Transcendence (ปี 2023)

หมายเหตุผู้แปล
[1] สายท่อส่งก๊าซ นอร์ดสตรีม 1 นั้น สร้างเสร็จใช้งานกันตั้งแต่ปี 2011 ขณะที่นอร์ดสตรีม 2 เริ่มก่อสร้างในปี 2018 และเสร็จสมบูรณ์เดือนกันยายน 2021 แต่ยังไม่เคยถูกเปิดใช้งาน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Nord_Stream_1 และ https://en.wikipedia.org/wiki/Nord_Stream_2

[2] นักแอตแลนติกนิยม (Atlanticist) หมายถึงพวกยึดมั่นเชื่อถือลัทธิแอตแลนติกนิยม (Atlanticism) หรือบางทีก็เรียกกันว่า ลัทธิสองฟากฝั่งแอตแลนติกนิยม (Transatlanticism) ซึ่งเป็นอุดมการณ์แนวความคิดที่สนับสนุนเชิดชูการจับมือเป็นพันธมิตรกันอย่างใกล้ชิดระหว่างชาติต่างๆ ในอเมริกาเหนือ (นั่นคือสหรัฐฯ กับแคนาดา) กับชาติต่างๆ ในยุโรป ในประเด็นปัญหาทางด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, และกลาโหม ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อธำรงรักษาหรือเพิ่มพูนความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของพวกประเทศผู้เข้าร่วม ตลอดจนเพื่อพิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม และค่านิยมที่ก้าวหน้าต่างๆ ของสังคมแบบเปิดกว้าง คำว่าแอตแลนติกนิยมนี้ มาจากชื่อของมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ซึ่งคั่นกลางระหว่างอเมริกาเหนือกับยุโรป (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Atlanticism)
กำลังโหลดความคิดเห็น