xs
xsm
sm
md
lg

เฮนรี คิสซินเจอร์ ยักษ์ใหญ่คุมนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางการถกเถียงว่ามัน ‘ดีขึ้น’ หรือ ‘เลวลง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เลสเตอร์ มุนซัน ***


เฮนรี คิสซินเจอร์ ขณะเข้าร่วมการประชุมประจำปีของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่รีสอร์ตดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2013 ตอนที่มีอายุ 90 ปี  เขายังคงเดินทางไปพูดและพบปะกับผู้นำประเทศต่างๆ อยู่เสมอ กระทั่งช่วงเวลาไม่นานก่อนเสียชีวิต ขณะอายุ 100 ปี
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Henry Kissinger is dead
By LESTER MUNSON
30/11/2023

การที่คิสซินเจอร์เกี่ยวข้องพัวพันอย่างใกล้ชิดกับนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ในระหว่างช่วงปีแห่งสงครามเวียดนามที่เต็มไปด้วยความแตกแยก รวมทั้งบทบาทของเขาในคณะบริหารริชาร์ด นิกสัน ที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล เป็นสิ่งซึ่งพวกนักวิพากษ์วิจารณ์บางคนอย่างไรเสียก็ไม่สามารถยกโทษให้ได้ เขากลายเป็นบุคลาทิษฐานระดับสูงสุดของการเมืองสหรัฐฯ ผู้พร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่ออำนาจส่วนบุคคล หรือเพื่อผลักดันเป้าหมายของประเทศบนเวทีโลก อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าการตีความเช่นนี้มีความผิดพลาด

เฮนรี คิสซินเจอร์ คือแชมเปี้ยนสูงสุดของสมรภูมินโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้นี้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2023 [1] ที่ผ่านมา ภายหลังมีชีวิตยืนยาวนาน 100 ปีเต็มๆ

เขามีอิทธิพลต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเสรีมากมายขนาดไหนเป็นเรื่องที่พูดประเมินให้ใหญ่โตเพียงใดก็ไม่ถือว่าเกินเลยไป นับจากสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อตอนที่เขาถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารในกองทัพบกสหรัฐฯ ไปจนถึงช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น และแม้กระทั่งตอนที่โลกย่างเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 เขาก็ยังคงสามารถสร้างผลกระทบอย่างสำคัญและอย่างยั่งยืนต่อกิจกรรมของโลก

จากเยอรมนีสู่สหรัฐฯ และกลับไปเยอรมนีอีกครั้ง

คิสซินเจอร์เกิดในเยอรมนีเมื่อปี 1923 เขาเดินทางมาสหรัฐฯ เมื่ออายุ 15 ปี ในฐานะเป็นผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง เขาเรียนภาษาอังกฤษเมื่อย่างเข้าวัยรุ่นแล้ว และสำเนียงพูดที่ติดสำเนียงภาษาเยอรมันหนักแน่นชัดเจน ยังคงติดตัวเขาไม่จางหายไปจวบจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

เขาเข้าศึกษาชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนจอร์จวอชิงตัน ไฮสกูล (George Washington High School) ในนครนิวยอร์ก ก่อนที่จะถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารในกองทัพบกสหรัฐฯ โดยได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในเยอรมนีซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เขาทำงานอยู่ในเหล่าการข่าว (intelligence corps) ทำหน้าที่สืบเสาะระบุตัวพวกที่เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยตำรวจลับเกสตาโป (Gestapo) ยุคนาซีครองเยอรมนี รวมทั้งทำงานเพื่อกำจัดพวกนาซีให้หมดไปจากแดนดอยช์ ผลงานที่เขาทำส่งผลให้เขาได้รับเหรียญกล้าหาญระดับบรอนซ์สตาร์ (Bronze Star) [2]

หลังจากสงครามสงบลง คิสซินเจอร์เดินทางกลับสหรัฐฯ ในปี 1947 และเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นอาจารย์ของสถาบันการศึกษาชื่อก้องแห่งนั้น เขายังเป็นที่ปรึกษาของเนลสัน ร็อกกี้เฟลเลอร์ (Nelson Rockefeller) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นพวกพรรครีพับลิกันสายกลาง รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้มุ่งหวังจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีอเมริกัน และกลายเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ระดับโลกคนหนึ่งในด้านยุทธศาสตร์อาวุธนิวเคลียร์

เมื่อริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) คู่แข่งคนสำคัญที่สุดของร็อกกี้เฟลเลอร์ เป็นผู้นำอย่างชัดเจนในช่วงการเลือกตั้งไพรมารีหาตัวคนที่จะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1968 คิสซิงเจอร์ก็รีบเปลี่ยนข้างอย่างรวดเร็วเข้ามาอยู่ในทีมงานของนิกสัน

เฮนรี คิสซิงเจอร์ (ขวาสุด) ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อยู่ในคณะของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐฯ (ที่2 จากขวา) ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งครั้งประวัติศาสตร์ และได้เข้าพบกับประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมา เจ๋อตง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1972
ในสมัยที่นิกสันครองทำเนียบขาวนี้แหละ ที่เขากลายเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ และต่อมายังได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมกันไปด้วย ทั้งนี้หลังจากนั้นมายังไม่มีใครคนไหนอีกที่ได้ครองเก้าอี้ทั้ง 2 ตัวนี้ในเวลาเดียวกัน

สำหรับนิกสันแล้ว การดำเนินงานทางการทูตของคิสซินเจอร์ คือการแผ้วถางทางไปสู่การยุติสงครามเวียดนาม [3] และการหันมาให้น้ำหนักความสำคัญแก่จีน โดยทั้งสองเหตุการณ์นี้โยงใยเกี่ยวเนื่องกันและทรงความหมายอย่างยิ่งในการแก้ไขคลี่คลายสงครามเย็น

คิสซินเจอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1973 [4] สำหรับผลงานการทูตเรื่องเวียดนามของเขา ทว่าก็ถูกประณามโจมตีจากพวกฝ่ายซ้ายว่าเขาควรที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีฐานเป็นอาชญากรรมสงครามจึงจะถูกต้อง จากการดำเนินการต่างๆ ซึ่งเป็นที่รับรู้เข้าใจกันว่าเกินเหตุเกินสมควรไปเหลือเกินในระหว่างการสู้รบขัดแย้งครั้งนั้น โดยรวมถึงการรณรงค์ถล่มทิ้งระเบิดในกัมพูชา [5] ซึ่งน่าที่จะสังหารคร่าชีวิตผู้คนไปหลายแสนคน

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อมาแม้เมื่อเขาสิ้นชีวิตแล้ว [6] ส่วนสำหรับการหันมาให้น้ำหนักความสำคัญแก่จีน [7] นั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่เพียงก่อให้เกิดการจัดวางตัวหมากบนกระดานหมากรุกระดับโลกกันเสียใหม่เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงการสนทนาระดับโลกแทบจะในทันทีทันใดจากความพ่ายแพ้ปราชัยของสหรัฐฯ ในเวียดนาม ไปเป็นเรื่องการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรต่อต้านโซเวียตที่มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่อีกคำรบหนึ่ง

หลังจากนิกสันถูกบีบบังคับให้ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีจากกรณีวอเตอร์เกตอันอื้อฉาว คิสซินเจอร์ก็ยังคงได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อ ในสมัยของ เจอรัลด์ ฟอร์ด ผู้สืบทอดตำแหน่งประมุขสหรัฐฯ ต่อจากนิกสันด้วยการลงมติของรัฐสภา

ระหว่างช่วงสั้นๆ เพียงแค่ 2 ปีของคณะบริหารชุดนั้น ฐานะภูมิรู้ความสำเร็จและประสบการณ์ของคิสซินเจอร์ได้ทอดเงาบดบังประธานาธิบดีฟอร์ดผู้ตกอยู่ในความยากลำบากนานาประการ ปรากฏว่าฟอร์ดยินดีปรีดายกเรื่องนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯให้แก่คิสซินเจอร์ไปเลย เพื่อที่เขาจะได้สามารถโฟกัสที่เรื่องการเมืองและการรณรงค์หาเสียงให้ได้เป็นประธานาธิบดีจากเสียงโหวตของประชาชนจริงๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือชาวอเมริกันไม่ลงคะแนนเลือกเขาอยู่ดี

ในช่วงทศวรรษ 1970 ที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนผันผวน คิสซินเจอร์ยังคงได้รับความเคารพยกย่องดุจดั่งเขาเป็นเจ้าลัทธิพิธีประเภทหนึ่ง

ไม่ใช่มนตร์เสน่ห์ดึงดูดแบบคลาสสิก แต่การที่เขาสามารถอยู่ได้อย่างสบายกับมหาอำนาจระดับโลก ทำให้เขามีบุคลิกลักษณะซึ่งเป็นที่จับตาสนใจของเหล่านักแสดงหญิงของฮอลลีวูดตลอดจนเซเลบริตีอื่นๆ ชีวิตโรแมนติกของเขากลายเป็นหัวข้อของคอลัมน์นินทาเมาท์มอยจำนวนมาก [8] เขากระทั่งถูกอ้างอิง [9] ว่าเป็นผู้ที่กล่าววาทะประโยคเด็ดที่ว่า “อำนาจคือยาปลุกเซ็กซ์ชั้นเลิศที่สุด”

มรดกของเขาที่ทิ้งเอาไว้ให้แก่นโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงเติบใหญ่ขยายตัวต่อไปอีกภายหลังคณะบริหารฟอร์ด เขาให้คำปรึกษาแนะนำแก่พวกบริษัทต่างๆ บรรดานักการเมือง และผู้นำระดับโลกคนอื่นๆ จำนวนมาก บ่อยครั้งกระทำกันแบบลับๆ ทว่าก็มีที่เปิดเผยต่อสาธารณชน รวมทั้งการไปให้ปากคำแก่รัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งเขากระทำอยู่จวบจนถึงวัย 90 กว่าปีทีเดียว

เฮนรี คิสซิงเจอร์ (ขวาสุด) ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อยู่ในคณะของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐฯ (ที่ 2 จากขวา) ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งครั้งประวัติศาสตร์ และได้เข้าพบกับประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมา เจ๋อตง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1972
เสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำประณามกล่าวโทษ

คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ให้คิสซินเจอร์ในอดีตที่ผ่านมาและกระทั่งในปัจจุบัน เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด บทความเขียนรำลึกถึงมรณกรรมของคิสซิงเจอร์ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร “โรลลิ่งสโตน” (Rolling Stone) ใช้ชื่อเรื่องว่า “War Criminal Beloved by America’s Ruling Class, Finally Dies” (อาชญากรสงครามผู้เป็นที่รักของชนชั้นปกครองของอเมริกา ในที่สุดก็ตายจากไป) [10]

การที่เขาเกี่ยวข้องพัวพันอย่างใกล้ชิดกับนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ในระหว่างช่วงปีแห่งสงครามเวียดนามที่เต็มไปด้วยความแตกแยก เป็นเรื่องที่ต้องถวิลคิดคำนึงอย่างหลงใหลแทบไม่มีทางตัดให้ขาดสะบั้นลงไปได้สำหรับนักวิพากษ์วิจารณ์บางคน ผู้ซึ่งถึงยังไงก็ไม่สามารถยกโทษให้แก่บทบาทของเขาในคณะบริหารนิกสัน ที่พวกเขามองว่าเต็มไปด้วยความทุจริตฉ้อฉลและกระทำพฤติการณ์อันเลวร้ายต่างๆ ของสงครามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ของเวียดนาม

พวกนักวิพากษ์คิสซินเจอร์มองเขาว่าเป็นบุคลาทิษฐานระดับสูงสุดของการเมืองสหรัฐฯ ในแบบมุ่งแสวงหาอำนาจและต่อรองผลประโยชน์กัน [11] –พร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่ออำนาจส่วนบุคคล หรือเพื่อผลักดันเป้าหมายต่างๆ ของประเทศพวกเขาบนเวทีโลก

ผู้เดินขบวนคนหนึ่งของกลุ่ม “โค้ดพิงค์” (Code Pink) แกว่งกุญแจมือต่อหน้าอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เฮนรี คิสซินเจอร์ ซึ่งเดินทางไปให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ณ อาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2015 ทั้งนี้กลุ่มสตรีรณรงค์ต่อสู้เพื่อสันติภาพกลุ่มนี้ เรียกร้องให้จับกุมคิสซินเจอร์ฐานเป็นอาชญากรสงคราม
อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผมแล้ว การตีความเช่นนี้มีความผิดพลาด

ในหนังสือชีวประวัติเรื่อง “คิสซินเจอร์” ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2011 ของไนออล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) [12] ได้บอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก ในหน้าหนังสือกว่า 1,000 หน้า เฟอร์กูสันบอกเล่ารายละเอียดของผลกระทบซึ่งสงครามโลกครั้งที่สองมีต่อคิสซินเจอร์ที่เวลานั้นยังอยู่ในวัยหนุ่ม

จากการที่ตอนแรกทีเดียว เขาหลบลี้หนีภัย แต่จากนั้นก็หวนกลับมาต่อสู้คัดค้านระบอบการปกครองที่ไร้ศีลธรรม มันแสดงให้รัฐมนตรีต่างประเทสสหรัฐฯ ในอนาคตผู้นี้มองเห็นว่า มหาอำนาจระดับโลกจักต้องได้รับการบริหารจัดการที่ดี และในที่สุดแล้วต้องถูกใช้เพื่อผลักดันความก้าวหน้าของอุดมการณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพส่วนบุคคล

ไม่ว่าขณะที่เขากำลังให้คำปรึกษาแนะนำแก่นิกสันว่าด้วยนโยบายสงครามเวียดนาม โดยเสนอให้จัดตั้งช่องทางสำหรับการเจรจาสันติภาพที่อาจเป็นไปได้ขึ้นมาด้วย หรือการขบคิดกำหนดรายละเอียดต่างๆ ของการเปิดประตูต้อนรับจีน เพื่อเป็นการเปิดรุกฆาตใส่สหภาพโซเวียต สายตาของคิสซินเจอร์จับจ้องโดยตลอดอยู่ที่การมุ่งสงวนรักษาและการผลักดันค่านิยมแห่งมนุษยธรรมเสรีนิยมของฝ่ายตะวันตก –การต่อต้านคัดค้านพลังต่างๆ ของลัทธิเผด็จการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จตลอดจนความเกลียดชัง

หนทางที่เขามองเห็นก็คือ หนทางเดียวที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จนั้นมีแต่จะต้องผ่านการทำงานเพื่อความเป็นอันดับหนึ่งสูงสุดของสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ

ไม่มีใครอีกแล้วที่ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายนี้ได้มากไปกว่า เฮนรี คิสซินเจอร์ และจากการนี้ เขาก็จะทั้งได้รับการยกย่องอย่างสูงส่งและการถูกประณามหยามเหยียดอย่างเลวร้าย

เลสเตอร์ มุนซัน เป็นนักวิจัยที่ไม่ได้อยู่ประจำ (non-resident fellow) ของศูนย์สหรัฐฯ ศึกษา (United States Studies Center) มหาวิทยาลัยซิดนีย์, ออสเตรเลีย

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้https://theconversation.com/henry-kissinger-has-died-the-titan-of-us-foreign-policy-changed-the-world-for-better-or-worse-218917)

เชิงอรรถ
[1] https://www.abc.net.au/news/2023-11-30/henry-kissinger-dies-aged-100/103171512
[2] https://www.aljazeera.com/news/2023/11/30/henry-kissinger-nobel-prize-winning-warmonger
[3] https://www.history.com/news/henry-kissinger-vietnam-war-legacy
[4] https://www.nobelprize.org/prizes/peace/1973/summary/
[5] https://theconversation.com/henry-kissingers-bombing-campaign-likely-killed-hundreds-of-thousands-of-cambodians-and-set-path-for-the-ravages-of-the-khmer-rouge-209353
[6] https://www.huffpost.com/entry/henry-kissinger-dies_n_6376933ae4b0afce046cb44f
[7] https://theconversation.com/nixon-mao-meeting-four-lessons-from-50-years-of-us-china-relations-176485
[8] https://www.theguardian.com/commentisfree/2023/may/27/henry-kissinger-100-war-us-international-reputation
[9] https://www.washingtonpost.com/archive/lifestyle/1998/02/05/uncovering-the-sex-lives-of-politicians/3bb26a91-03ec-4a14-8958-f6ac0d95b260/
[10] https://www.rollingstone.com/politics/politics-news/henry-kissinger-war-criminal-dead-1234804748/
[11] https://theconversation.com/a-tortured-and-deadly-legacy-kissinger-and-realpolitik-in-us-foreign-policy-192977
[12]https://books.google.com.au/books/about/Kissinger.html?id=H_ujBwAAQBAJ&redir_esc=y
กำลังโหลดความคิดเห็น