การเมืองในชาติอเมริกาใต้ร่ำรวยน้ำมันอย่างเวเนซุเอลา ทำท่าปั่นป่วนยุ่งเหยิงต่อไปอีก เมื่อทั้งประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร และเอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รูเทีย ผู้สมัครของฝ่ายค้าน ต่างประกาศในวันจันทร์ (29 ก.ค.) อ้างเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (28) ขณะที่สหรัฐฯ และพวกรัฐบาลในภูมิภาคที่โปรตะวันตกต่างแสดงความสงสัยข้องใจผลการนับคะแนนที่ออกมาของทางการ ซึ่งยังคงให้ มารูโด ได้ครองตำแหน่งต่อไป
สภาการเลือกตั้งแห่งชาติ (ซีเอ็นอี) ประกาศว่า ประธานาธิบดีมาดูโร ได้คะแนนเสียง 51.2% ส่วนกอนซาเลซ ได้ 44.2%
หลังจากนั้นมาดูโร วัย 61 ปี ปรากฏตัวที่ทำเนียบประธานาธิบดี และป่าวประกาศกับเหล่าผู้สนับสนุนว่า การได้รับเลือกตั้งอีกสมัยเป็นชัยชนะของสันติภาพและเสถียรภาพ พร้อมย้ำว่า ระบบการเลือกตั้งของเวเนซุเอลาโปร่งใส ก่อนสำทับว่า ในวันจันทร์ (29) จะลงนามกฤษฎีกาเพื่อจัด “การเจรจาแห่งชาติ” ซึ่งปกติแล้วหมายถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ภาคธุรกิจ ชุมชน
ทว่า มาเรีย คอรินา มาชาโด ผู้นำฝ่ายค้านตอบโต้ว่า กอนซาเลซ ผู้สมัครของฝ่ายค้านได้คะแนนเลือกตั้ง 70% และเสริมว่า เอ็กซิตโพลของหลายสำนักล้วนระบุว่า แคนดิเดตจากฝ่ายค้านเป็นผู้ชนะ ก่อนประกาศว่า กอนซาเลซคือประธานาธิบดีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของเวเนซุเอลา
ทั้งนี้ มาชาโด ถูกตัดสิทธิจากเรื่องคุณสมบัติจนไม่สามารถลงแข่งขันเองได้ ซึ่งฝ่ายค้านบอกว่าเธอถูกรัฐบาลกลั่นแกล้ง ขณะที่ กอนซาเลซ ที่ลงสมัครในนามฝ่ายค้านคราวนี้ เป็นอดีตนักการทูตวัย 74 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักกันน้อยมาก
ตัวกอนซาเลซเอง ปราศรัยบอกกับพวกผู้สนับสนุนว่า มีการละเมิดกฎเกณฑ์มากมายในวันเลือกตั้ง กระนั้นเขาย้ำว่า “ข้อความของเราเกี่ยวกับการปรองดองและการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติยังคงดำรงอยู่ ... การต่อสู้ของเรายังคงดำเนินต่อไป และเราจะไม่ยอมหยุดพักจนกว่าเจตนารมณ์ของประชาชนชาวเวเนซุเอลาจะได้รับความเคารพ”
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในเฉพาะหน้านี้ว่า ความเคลื่อนไหวต่อไปของฝ่ายค้านคืออะไร ตัวกอนซาเลซนั้นยังกล่าวด้วยว่า เขาไม่ได้กำลังเรียกร้องให้พวกผู้สนับสนุนเขาออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนน หรือกระทำการรุนแรงใดๆ
กระนั้นก็เกิดหลายๆ เหตุการณ์แยกต่างหากจากกันในทั่วประเทศก่อนมีการประกาศผลการเลือกตั้ง รวมทั้งมีชายผู้หนึ่งเสียชีวิตในรัฐตาชิรา และเกิดการต่อสู้ตะลุมบอนกันในหลายหน่วยเลือกตั้งทั้งในกรุงการากัสและที่อื่นๆ นอกจากนั้น ตำรวจได้จัดการสลายการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นในเมืองกาเตีย ในภาคตะวันตกของประเทศ ที่แต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาล
ทางด้าน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวขณะอยู่ที่โตเกียวว่า อเมริกากังวลอย่างยิ่งว่า ผลการเลือกตั้งที่ทางการประกาศออกมาไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของคนเวเนซุเอลา และเรียกร้องให้สภาการเลือกตั้งแห่งชาติเผยแพร่รายงานการนับคะแนนอย่างละเอียด
ขณะที่ ประธานาธิบดีโรดริโก ชาเบส ของคอสตาริกา ประณามผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของเวเนซุเอลาว่า “หลอกลวง” เช่นเดียวกับประธานาธิบดีฮาบิเอร์ มิเลย์ ของอาร์เจนตินา ด้านคอสตาริกา และเปรู ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับเช่นกัน ส่วนชิลีบอกว่าจะไม่ยอมรับผลเลือกตั้งจนกว่าจะสามารถตรวจสอบยืนยันได้
แต่สำหรับ รัสเซีย คิวบา ฮอนดูรัส และโบลิเวีย ต่างออกมาแสดงความยินดีและยกย่องชัยชนะของมาดูโร
ก่อนหน้าการเลือกตั้งคราวนี้ สำนักจัดทำโพลหลายแห่งทำนายว่า การเลือกตั้งนี้จะเป็นบทอวสานของช่วงเวลา 25 ปีของ “ชาบิสโม” หรือขบวนการประชานิยมที่ริเริ่มโดย ฮูโก ชาเบซ อดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้าที่ชูแนวทางสังคมนิยม
มาดูโร ซึ่งเป็นอดีตคนขับรถเมล์ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ขึ้นครองอำนาจหลังการถึงแก่อสัญกรรมของชาเบซเมื่อปี 2013 และการได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในปี 2018 ของเขาถูกสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอื่นๆ โจมตีว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคดโกง พร้อมประณามเขาว่าเป็นจอมเผด็จการ
ฝ่ายค้านโจมตีว่า นับจากปี 2013 มาดูโรเข้าบริหารประเทศที่เคยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันที่มั่งคั่ง แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเวเนซุเอลาทรุดฮวบถึง 80% ภายในหนึ่งทศวรรษ ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้เดือนละไม่กี่ดอลลาร์ ขณะที่ระบบสาธารณสุขและการศึกษาทรุดโทรม ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงขาดแคลน ทั้งหมดนี้กดดันให้พลเมืองกว่า 7 ล้านคนจากทั้งหมด 30 ล้านคนตัดสินใจหนีไปตายดาบหน้า
ด้านรัฐบาลตอบโต้โดยกล่าวโทษว่า สาเหตุมาจากมาตรการแซงก์ชันของอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศตะวันตกอื่นๆ แต่ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า น่าจะเป็นเพราะการทุจริตและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลด้วย
มาชาโดเตือนเมื่อวันอาทิตย์ว่า ถ้ามาดูโรกุมอำนาจต่อ มีแนวโน้มว่า ชาวเวเนซุเอลาอีก 3-5 ล้านคนจะอพยพออกจากประเทศ
ก่อนหน้าวันลงคะแนน มาชาโดผู้นำฝ่ายค้านเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฝ้าระวังคูหาเลือกตั้งของตนใน “ชั่วโมงชี้ขาด” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาการนับคะแนนท่ามกลางความกังวลอย่างกว้างขวางเรื่องการโกงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติที่รวมถึงอดีตประธานาธิบดีจากหลายประเทศในละตินอเมริกา ร่วมสังเกตการณ์ในนาทีสุดท้าย เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสักขีพยานในการนับคะแนนการเลือกตั้งทั่วประเทศ
ส่วนมาดูโรเตือนก่อนหน้านี้ว่า ถ้าตนเองแพ้อาจเกิด “การนองเลือด”
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี )