เจ้าหน้าที่สำนักงานด้านอวกาศของจีนระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (27 มิ.ย.) ว่า จีนยินดีต้อนรับนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกให้สมัครเข้ามาร่วมศึกษาตัวอย่างหินที่ “ยานฉางเอ๋อ 6” เก็บจากด้านไกลของดวงจันทร์ และนำกลับมายังโลกได้สำเร็จ แต่ย้ำว่าความร่วมมือดังกล่าวยังคงมี “ข้อจำกัด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอเมริกา
ระหว่างการแถลงข่าวความสำเร็จของภารกิจยานฉางเอ๋อ 6 ที่กรุงปักกิ่ง เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า ความร่วมมือใดกับสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องมีการยกเลิกกฎหมายอเมริกันฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้มีความร่วมมือทวิภาคีโดยตรงระหว่างจีนกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา)
“ต้นตอของอุปสรรคในความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ยังอยู่ที่กฎหมาย Wolf Amendment” เปี้ยน จื้อกัง (Bian Zhigang) รองประธานองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ระบุ
“หากสหรัฐฯ มีความต้องการอย่างจริงจังที่จะริเริ่มความร่วมมือในด้านอวกาศ ผมคิดว่าพวกเขาควรมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อขจัดอุปสรรคนี้”
กฎหมาย Wolf Amendment ซึ่งถูกประกาศใช้เมื่อปี 2011 กำหนดข้อห้ามไม่ให้มีการร่วมมือแบบทวิภาคีโดยตรงกับจีน เว้นแต่ในกรณีที่สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) สามารถรับรองได้ว่าการแชร์ข้อมูลให้กับจีนจะไม่ก่อภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี จีนยังคงสามารถร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จากประเทศอื่นๆ และได้ทำงานร่วมกับองค์การอวกาศแห่งยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี และปากีสถาน ในการส่งยานฉางเอ๋อ 6 ไปทำภารกิจสำรวจที่ด้านไกลของดวงจันทร์ด้วย
ด้าน หลิว หยุนเฟิง (Liu Yunfeng) ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งองค์การอวกาศแห่งชาติจีน ระบุว่า “จีนยินดีต้อนรับนักวิทยาศาสตร์จากทุกๆ ประเทศให้ยื่นใบสมัครเข้ามาตามกระบวนการ และแชร์ผลประโยชน์ร่วมกัน”
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จีนยังไม่มีการเปิดเผยว่าเก็บตัวอย่างหินจากด้านไกลของดวงจันทร์มามากน้อยเท่าไหร่ และผลการศึกษาในเบื้องต้นนั้นพบอะไรบ้าง
ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนเผยเมื่อวันจันทร์ (24) ว่า พวกเขาคาดหวังว่าตัวอย่างหินที่ได้มานั้นอาจรวมถึงหินภูเขาไฟที่อายุเก่าแก่ถึง 2.5 ล้านปี รวมถึงวัสดุอื่นๆ ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ด้านของดวงจันทร์ โดยภารกิจของยานฉางเอ๋อ 6 นั้นตั้งเป้าเก็บตัวอย่างหินมาให้ได้อย่างน้อย 2 กิโลกรัม
สำหรับ “ด้านใกล้” ของดวงจันทร์นั้นหมายถึงด้านที่สามารถมองเห็นจากโลก ส่วนอีกด้านที่หันออกไปสู่อวกาศคือ “ด้านไกล” ซึ่งเต็มไปด้วยเทือกเขาและหลุมอุกกาบาต และยากแก่การเดินทางไปถึง
ภารกิจของยานฉางเอ๋อ 6 ถือเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถส่งยานไปเก็บตัวอย่างหินจากด้านไกลของดวงจันทร์มาได้โดยตรง จากเดิมที่ทำได้เพียงศึกษาตัวอย่างจากอุกกาบาตที่ตกลงมาบนโลกเท่านั้น
เจ้าหน้าที่อวกาศของจีนยังได้เปิดเผยแผนสำรวจในอนาคต โดยเตรียมส่งยานฉางเอ๋อ 7 ไปทำภารกิจสำรวจทรัพยากรบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจเทียนเหวิน-3 ซึ่งจะเป็นการส่งยานไปเก็บตัวอย่างหินจากดาวอังคารในราวปี 2030 และภารกิจเทียนเหวิน-4 ซึ่งจะเป็นการสำรวจดาวพฤหัส
ที่มา : AP