xs
xsm
sm
md
lg

ท่อนบนยานฉางเอ๋อ 6 เชื่อมต่อยานโคจรสำเร็จ พร้อมส่งดินด้านไกลของดวงจันทร์ พื้นที่ที่ยังไม่เคยถูกสำรวจกลับมายังโลก (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจาก ยานฉางเอ๋อ 6 ประสบความสำเร็จในการลงจอดบริเวณ แอ่งแอตเคนขั้วใต้ดวงจันทร์ (South Pole-Aitken basin) เมื่อเวลา 06.23 น. ตามเวลากรุงปักกิ่ง เช้าวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย. หลังจากปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา

องค์การอวกาศแห่งชาติจีนหรือซีเอ็นเอสเอ (CNSA) เผยความคืบหน้าในการสำรวจว่า ยานฉางเอ๋อ 6 ได้ทำการเก็บตัวอย่างดินและหินสำเร็จ โดยเป็นดินบริเวณแอ่งขั้วใต้ดวงจันทร์ พื้นที่ที่ยังไม่เคยถูกสำรวจ ซึ่งบริเวณนี้เป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ ความกว้างประมาณ 2,500 กม. และลึก 8.2 ที่เกิดจากการพุ่งชนขนาดใหญ่นานกว่า 4 พันล้านปี


ท่อนบนของยานฉางเอ๋อ 6 สามารถทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์มาเชื่อมต่อกับยานโคจรรอบได้สำเร็จ และเตรียมพร้อมส่งแคปซูลดินและหินจากดวงจันทร์กลับสู่โลกช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้

หลังจากการเชื่อมต่อ ยานทั้งสองส่วนจะแยกตัวออกจากกัน โดยตัวยานที่ทะยานขึ้นมาจากพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อนำแคปซูลดินมาส่ง จะถูกปลดทิ้งลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ และยานโคจรจะโคจรรอบดวงจันทร์ โดยใช้ระเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่โลก ทีมควบคุมภารกิจวางแผนให้แคปซูลจะต้องส่งมาถึงพื้นผิวโลกในวันที่ 25 มิถุนายน บริเวณพื้นที่ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน


สำหรับ ภารกิจฉางเอ๋อ 6 ถือเป็นการนำดินและหินจากดวงจันทร์กลับมาศึกษาที่โลก ครั้งที่ 2 ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีนหรือซีเอ็นเอสเอ (CNSA) โดยก่อนหน้านี้ ยานฉางเอ๋อ 5 ได้นำดินและหินหนัก 1.7 กิโลกรัมกลับมาจากพื้นที่ที่เรียกว่า มหาสมุทรแห่งพายุ (Oceanus Procellarum) ซึ่งอยู่บนด้านใกล้ของดวงจันทร์ บริเวณที่หันหน้าให้กับโลกตลอดเวลา

แต่ภารกิจยานฉางเอ๋อ 6 ถือได้ว่าเป็นครั้งที่พิเศษกว่าครั้งอื่นๆ เนื่องจากเป็นครั้งแรกในการเก็บดินบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์กลับมาศึกษายังโลก

CNSA เผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างดินบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ที่เก็บกลับมายังโลกจากภารกิจฉางเอ๋อ 6 นั้น จะมีการแจกจ่ายไปตามสถาบันวิจัยต่างๆ ของจีนและประเทศที่มีความร่วมมือกับจีน จากนั้นจึงจะเปิดให้ประเทศอื่นๆ ส่งร่างโครงการเพื่อขอนำตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ไปวิจัยต่อไป เหมือนดังเช่นตัวอย่างดินดวงจันทร์จากภารกิจฉางเอ๋อ 5


สำหรับบริเวณ ด้านไกลหรือด้านมืดของดวงจันทร์ คือผลจากการที่ดวงจันทร์บริวารของโลกหนึ่งเดียวของโลกใช้เวลาหมุนรอบตัวเองนานเท่ากับการโคจรรอบโลก ทำให้หันเพียงด้านเดียวเข้าหาโลกตลอดเวลา แม้จะมีการส่ายของดวงจันทร์ ที่ทำให้อาจเห็นพื้นที่ด้านไกลบางส่วนได้ในบางช่วงเวลา แต่ยังมีถึง 41% ของพื้นผิวดวงจันทร์ที่ไม่เคยปรากฏให้มนุษย์บนโลกได้เห็น ด้านดังกล่าวจึงเรียกว่า ด้านไกลของดวงจันทร์ ไม่ใช่ “ด้านมืด” อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ และบริเวณนี้ยังมีช่วงกลางวัน - กลางคืนเช่นเดียวกับด้านที่หันเข้าหาโลก และยังเป็นสถานที่ที่ยังไม่เคยมีชาติใดส่งยานอวกาศมาสำรวจ




ข้อมูล / รูปอ้างอิง


- stsbeijing.org
- spacenews.com/change-6
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT




กำลังโหลดความคิดเห็น