xs
xsm
sm
md
lg

จบสวย! เจ้าพ่อวิกิลีกส์ ‘จูเลียน แอสซานจ์’ ได้อิสรภาพ หลังยอมรับผิดคดีจารกรรมข้อมูลสหรัฐฯ พบเครื่องบินมุ่งหน้า 'กรุงเทพฯ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จูเลียน แอสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จอมแฉวิกิลีกส์ (Wikileaks) เตรียมรับสารภาพคดีจารกรรมข้อมูลลับสหรัฐฯ ในข้อตกลงรับผิดซึ่งจะช่วยให้เขาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำอังกฤษ และสามารถเดินทางกลับบ้านที่ออสเตรเลียได้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี

แอสซานจ์ ในวัย 52 ปี ยอมทำข้อตกลงรับผิดฐานสมคบคิดเพื่อให้ได้มาและเผยแพร่เอกสารชั้นความลับด้านกลาโหมของสหรัฐฯ จำนวน 1 กระทง ตามข้อมูลจากเอกสารของศาลแขวงสหรัฐฯ ประจำหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา

เขาจะถูกพิพากษาจำคุก 62 สัปดาห์ โดยถือว่ารับโทษครบไปแล้ว ในการไต่สวนที่ศาลบนเกาะไซปัน (Saipan) เวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นวันพุธ (26 มิ.ย.)

อัยการระบุว่า เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ไต่สวนคดีเนื่องจาก แอสซานจ์ ปฏิเสธที่จะถูกส่งตัวไปยังสหรัฐฯ อีกทั้งเกาะแห่งนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากออสเตรเลียบ้านเกิดของเขาด้วย

แอสซานจ์ ถูกส่งตัวออกจากเรือนจำเบลมาร์ชในสหราชอาณาจักรเมื่อวันจันทร์ (24) ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยศาลสูงอังกฤษ และขึ้นเครื่องบินออกจากอังกฤษในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตามข้อมูลที่วิกิลีกส์โพสต์ผ่าน X

“นี่คือผลจากการเรียกร้องในระดับโลก ตั้งแต่กลุ่มองค์กรรากหญ้า นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพสื่อ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ผู้นำจากทุกภาคส่วนการเมือง เรื่อยไปจนถึงองค์การสหประชาชาติ” คำแถลงของวิกิลีกส์ ระบุ

จากคลิปวิดีโอที่วิกิลีกส์โพสต์ลงใน X จะเห็นว่า แอสซานจ์ ซึ่งสวมเสื้อสีน้ำเงินและกางเกงยีนส์เซ็นชื่อในเอกสารฉบับหนึ่ง ก่อนจะขึ้นเครื่องบินส่วนตัวที่มีโลโก้ของสายการบินเช่าเหมาลำ VistaJet

วิกิลีกส์ยืนยันว่า แอสซานจ์ จะเดินทางกลับออสเตรเลียทันทีหลังจากที่การไต่สวนของศาลบนเกาะไซปันเสร็จสิ้นลง

สเตลลา แอสซานจ์ ภรรยาของเขา โพสต์ข้อความบน X ว่า “จูเลียนได้รับอิสรภาพแล้ว!”

“ไม่มีคำพูดใดที่จะแสดงความซาบซึ้งอย่างล้นเหลือที่เรามีต่อพวกคุณ ใช่... พวกคุณทุกคนที่ร่วมกันแสดงพลังตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้สิ่งนี้เป็นจริง”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ FlightRadar24 พบว่า เครื่องบิน VistaJet เพียงลำเดียวที่เดินทางออกจากท่าอากาศยานลอนดอนสแตนสเต็ดเมื่อวันจันทร์ (24) มุ่งหน้ามายังกรุงเทพมหานคร ขณะที่โฆษกของ แอสซานจ์ ในออสเตรเลียปฏิเสธที่จะคอมเมนต์เกี่ยวกับเส้นทางบินของเขา และทาง VistaJet ก็ยังไม่ออกมาให้ข้อมูลใดๆ เช่นกัน



รัฐบาลออสเตรเลียซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส พยายามเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว แอสซานจ์ เรื่อยมา ทว่าไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมายที่ยังคงดำเนินอยู่

“นายกรัฐมนตรี อัลบานีส พูดชัดเจนว่าคดีของคุณ แอสซานจ์ ยืดเยื้อมานานเกินไปแล้ว และไม่มีประโยชน์ที่จะกักขังเขาเอาไว้ต่อไป” โฆษกรัฐบาลออสซี่แถลง

ย้อนไปเมื่อปี 2010 วิกิลีกส์ได้นำเอกสารชั้นความลับทางทหารของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักจำนวนหลายแสนฉบับมาเผยแพร่ทางออนไลน์ ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการเจาะข้อมูลครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่กองทัพสหรัฐฯ เคยเผชิญมา และยังไม่รวมถึงโทรเลขการทูตอีกจำนวนมาก

แอสซานจ์ ถูกฟ้องดำเนินคดีในยุครัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากการที่วิกิลีกส์เปิดเผยข้อมูลลับของสหรัฐฯ ซึ่งรั่วไหลออกไปด้วยฝีมือของ เชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองทางทหาร ซึ่งก็ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดกฎหมายจารกรรมเช่นกัน

เอกสารลับที่รั่วไหลออกไปนั้นมีมากกว่า 700,000 ฉบับ ตั้งแต่โทรเลขการทูตเรื่อยไปจนถึงบันทึกเหตุการณ์ในสนามรบ ตัวอย่างเช่น คลิปวิดีโอขณะที่เฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ของสหรัฐฯ รัวยิงใส่ผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มติดอาวุธในอิรักเมื่อปี 2007 จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบ ในนั้นรวมถึงผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ 2 คน โดยคลิปนี้ถูกปล่อยออกมาเมื่อปี 2010

การที่สหรัฐฯ ไล่บี้ดำเนินคดีกับ แอสซานจ์ จุดกระแสต่อต้านจากผู้คนทั่วโลกที่สนับสนุนเขา และมองว่า แอสซานจ์ ในฐานะผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ (publisher) ของวิกิลีกส์ไม่สมควรที่จะถูกตั้งข้อหาแบบเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ขโมยหรือแอบปล่อยข้อมูลลับทางราชการ


นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพสื่อก็ออกมาโต้แย้งเช่นกันว่า การดำเนินคดีอาญากับ แอสซานจ์ เข้าข่ายคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก

“ข้อตกลงรับสารภาพช่วยหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายขั้นสุด (worst-case scenario) สำหรับเสรีภาพสื่อก็จริง แต่มันก็เท่ากับว่า แอสซานจ์ ถูกตัดสินจำคุก 5 ปีสำหรับกิจกรรมที่นักข่าวทั่วๆ ไปก็ทำกันอยู่ทุกวัน” จามีล จาฟเฟอร์ ผู้อำนวยการสถาบัน Knight First Amendment Institute แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ให้ความเห็น

แอสซานจ์ ถูกจับครั้งแรกที่อังกฤษเมื่อปี 2010 ด้วยหมายจับยุโรป หลังจากที่ทางการสวีเดนต้องการได้ตัวเขาไปสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศ (ซึ่งต่อมามีการยกฟ้องไป) ต่อมา แอสซานจ์ ได้หนีเข้าไปกบดานอยู่ภายในสถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอน และพักอาศัยอยู่ที่นั่นนานถึง 7 ปี เพื่อเลี่ยงการถูกเนรเทศไปยังสวีเดน

เขาถูกตำรวจอังกฤษบุกเข้าไปลากตัวออกจากสถานทูตเอกวาดอร์ในปี 2019 และโดนจำคุกฐานหนีประกันตัว และนับแต่นั้นมา แอสซานจ์ ก็ใช้ชีวิตอยู่ภายในเรือนจำความมั่นคงสูงเบลมาร์ช และพยายามต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงการถูกส่งตัวไปดำเนินคดีฐานจารกรรมในสหรัฐฯ เป็นเวลานานเกือบ 5 ปี

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น