โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี บอกกับเจ้าหน้าที่จีนที่กรุงปักกิ่งวันนี้ (22 มิ.ย.) ว่ามาตรการขึ้นภาษีสินค้าจีนโดยสหภาพยุโรป (อียู) ไม่ถือว่าเป็น “บทลงโทษ” แต่อย่างใด ขณะที่จีนออกมาเตือนว่าปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจนำไปสู่ “สงครามการค้า” ระหว่างยุโรปและแดนมังกร
ฮาเบ็ค ถือเป็นเจ้าหน้าที่ยุโรประดับสูงคนแรกที่ไปเยือนจีน หลังจากอียูประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนสูงสุด 38.1% เพื่อตอบโต้สิ่งที่อียูอ้างว่าเป็นมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐที่มากเกินไป (excessive subsidies)
ก่อนที่ ฮาเบ็ค จะเดินทางถึงปักกิ่ง รัฐบาลจีนได้ออกมายื่นคำเตือนวานนี้ (21) ว่าความขัดแย้งกับอียูเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าอาจลุกลามบานปลายถึงขั้นกลายเป็น “สงครามการค้า” ได้ในที่สุด
“ต้องเข้าใจก่อนว่า มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่การรีดภาษีลงโทษ (punitive tariffs)” ฮาเบ็ค กล่าวระหว่างการประชุมว่าด้วยสภาพอากาศและความเปลี่ยนแปลง พร้อมย้ำว่ามีหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล และตุรกี ที่เคยใช้บทลงโทษทางภาษีมาแล้ว แต่ไม่ใช่สหภาพยุโรป
“ยุโรปทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป” เขาย้ำ
รัฐมนตรีเมืองเบียร์เผยด้วยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปใช้เวลาถึง 9 เดือนในการตรวจสอบลงลึกถึงรายละเอียดว่าบริษัทของจีนได้รับประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมจากนโยบายอุดหนุนของภาครัฐ และการปรับอัตราภาษีนำเข้าที่เป็นผลมาจากกระบวนการทบทวนของอียู “ก็ไม่ถือเป็นบทลงโทษ” แต่เป็นวิธีที่อียู “ชดเชย” ความได้เปรียบที่ปักกิ่งมอบให้ผู้ผลิตของตนเอง
“มาตรฐานการเข้าถึงตลาดอย่างสามัญและเท่าเทียมควรจะเกิดขึ้น” เขากล่าวระหว่างที่พบกับ เจิ้ง ซานเจี๋ย (Zheng Shanjie) ประธานคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติจีน พร้อมย้ำว่ามาตรการทางภาษีของอียูมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การค้ากับจีนเป็นไปอย่างยุติธรรม
ด้าน เจิ้ง กล่าวตอบว่า “เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องบริษัทของจีน”
การขึ้นภาษีรถไฟฟ้าจีนของอียูจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.ค. ขณะที่กระบวนการสอบสวนจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 2 พ.ย. และหลังจากนั้นอาจมีการประกาศอัตราภาษีขั้นสุดท้าย (definitive duties) ซึ่งโดยปกติจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี
ที่มา : รอยเตอร์