ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เปิดเผยว่า ราวๆ 60% ของการทำธุรกรรมระหว่างรัสเซียกับเวียดนาม เวลานี้เป็นการดำเนินการโดยใช้สกุลเงินของทั้งสองชาติเอง แซงหน้าดอลลาร์สหรัฐ และยูโรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประมุขแห่งวังเครมลิน แสดงความคิดเห็นดังกล่าวในบทความหนึ่งที่เผยแพร่บนหนังสือพิมพ์พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ก่อนการเดินทางเยือนเวียดนามเป็นเวลา 2 วัน และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของวังเครมลินในวันพุธ (19 มิ.ย.)
ปูติน เน้นว่าทั้ง 2 ประเทศมีความสนใจอย่างจริงจังต่อการส่งเสริมการค้าร่วมกันและส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในรูปแบบของรูเบิลรัสเซีย และสกุลเงินด่งของเวียดนาม
"การทำธุรกรรมดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการค้าทวิภาคีเมื่อปีที่แล้ว และในไตรมาสแรกของปีนี้ สัดส่วนของมันเพิ่มเป็นเกือบ 60%" ผู้นำรัสเซียกล่าว พร้อมระบุว่าความก้าวหน้าดังกล่าวเป็นไปตามกรอบแนวโน้มโลกที่กำลังค่อยๆ เลิกใช้สกุลเงินที่ไร้เครดิตในวงกว้าง ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ปูติน ยอมรับถึงความสำคัญของธนาคารร่วมทุนระหว่างเวียดนามกับรัสเซีย ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยทั้ง 2 ประเทศในปี 2006 ซึ่งมีเป้าหมายกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
อ้างถึงสถิติอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีรัสเซียบอกว่าการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้น 8% ในปี 2023 และยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมระบุภาคพลังงานยังคงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในขอบเขตความร่วมมือระหว่าง 2 ชาติ
"อาหาร ทรัพยากรเหมือง เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ส่งออกไปยังเวียดนาม สินค้าต่างๆ ของเวียดนาม ในนั้นรวมถึงเสื้อผ้า อาหาร พืชผักและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ เป็นที่ต้องการของตลาดรัสเซีย" ปูตินเน้นย้ำ พร้อมโอ้อวดเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) ที่นำโดยรัสเซีย กับเวียดนาม
EAEU จัดตั้งขึ้นในปี 2015 บนพื้นฐานของสหภาพศุลกากรรัสเซีย คาซัคสถานและเบลารุส ต่อมา อาร์เมเนียและคีร์กิสถานเข้ามาร่วมด้วย ก่อนที่ในปี 2016 เวียดนามจะกลายเป็นชาติแรกนอกภูมิภาคที่กลายมาเป็นพันธมิตรการค้าเสรีกับกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มยังประกอบด้วยรัฐสังเกตการณ์ 3 ชาติ ประกอบด้วย คิวบา และ 2 อดีตสหภาพโซเวียต อย่างมอลโดวาและอุซเบกิสถาน ขณะที่คาดหมายว่า อิหร่านจะเข้าร่วม EAEU ในอนาคตเช่นกัน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)