xs
xsm
sm
md
lg

สื่อ รบ.สหรัฐฯ วิจารณ์ข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำจีนเป็นดีลการเมือง ไทยไม่จำเป็นต้องมี แต่มันกลายเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ทางทหารไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วอยซ์ออฟอเมริกา หรือวีโอเอ เครือข่ายเว็บไซต์และสถานีวิทยุด้านข่าวสารที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเจ้าของ เสนอรายงานบอกว่า รัฐบาลไทยดูเหมือนใกล้ปิดดีลเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซล-ไฟฟ้าสร้างโดยจีนได้แล้ว ตามข้อตกลงจัดซื้อซึ่งทำกันขึ้นตั้งแต่ยุคไทยอยู่ใต้รัฐบาลทหาร พร้อมกับอ้างอิงความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญจากเหล่าชาติพันธมิตรของอเมริกา ซึ่งระบุว่าข้อตกลงนี้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าทางการทหาร

รายงานชิ้นนี้ของวีโอเอ หรือเสียงอเมริกา บอกว่า รัฐบาลไทยชุดก่อนในยุคของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำจากจีนเมื่อปี 2017 แต่ต่อมาฝ่ายไทยลดการสั่งต่อเรือดำน้ำจากจีนเหลือเพียงลำเดียว โดยเป็นเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล-ไฟฟ้า คลาสหยวน S26T มูลค่าประมาณ 13,500 ล้านบาท หรือ 367 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ จำนวนมากในระหว่างทาง รวมทั้งเคยถูกระงับไประยะหนึ่งท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในเดือนตุลาคม 2023 กระทรวงกลาโหมของไทยในยุครัฐบาลพลเรือนของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ระบุว่าจะไม่เดินหน้าซื้อเรือดำน้ำจากจีน เนื่องจากฝ่ายจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตในเยอรมนีมาใช้กับเรือดำน้ำได้ตามสัญญาที่ทำไว้ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจที่สหภาพยุโรปนำมาใช้เล่นงานปักกิ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหม สุทิน คลังแสง ประกาศว่า กองทัพเรือไทยได้ตกลงใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD620 ที่ผลิตในประเทศจีนแทนเครื่องยนต์จากเยอรมนีแล้ว ซึ่งทำให้สัญญาซื้อเรือดำน้ำจากจีนกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

เบนจามิน ซาวัคกี ซึ่งทำงานเป็นผู้ชำนาญพิเศษอยู่กับมูลนิธิเอเชีย และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Thailand: Shifting Ground Between the U.S and Rising China กล่าวให้ความเห็นกับวีโอเอว่า เหตุการณ์ผันแปรต่างๆ เรื่องเรือดำน้ำนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไทยเผชิญกับความไม่แน่ไม่นอนทางการเมือง และรัฐบาลทหารของไทยเองก็เกิดความตระหนักว่าดีลเรือดำน้ำนี้ไม่ใช่ก่อให้เกิดผลดีอะไรในทางการเมือง

จากนั้น รายงานชิ้นนี้ของวีโอเอได้เท้าความว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารยึดอำนาจในไทยเมื่อปี 2014 ไทยกับจีนก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประณามการยึดอำนาจและยกเลิกเงินช่วยเหลือทางการทหารที่ให้กองทัพไทย

วีโอเอ อ้างอิงรายของสถาบันโลวี ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่าระหว่างปี 2016-2022 ไทยซื้ออาวุธจากจีนเป็นมูลค่าสูงกว่าที่ซื้อจากสหรัฐฯ

ยิ่งในทางเศรษฐกิจแล้ว วีโอเอชี้ว่า ปัจจุบันจีนคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 135,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากจีนยังถือเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยด้วย

วกกลับมาเรื่องดีลเรือดำน้ำ วีโอเออ้างอิงความเห็นของ ซาวัคกี ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นของการที่ไทยจะซื้อเรือดำน้ำโจมตีจากจีน โดยเขามองว่า "ไทยไม่มีความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ และจีนก็ไม่ได้เห็นว่าจำเป็นต้องให้ไทยมีเรือดำน้ำ" และย้ำว่า "เมื่อมองจากมุมด้านความมั่นคง นี่ไม่ใช่ข้อตกลงที่สมเหตุสมผลนักทั้งกับจีนหรือไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงเสียงวิจารณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น"

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้กล่าวเสริมกับวีโอเอว่า ข้อตกลงนี้คือ "สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางทหารของสองประเทศ" ที่พัฒนาขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อ 10 ปีก่อน

รายงานของวีโอเอ ยังอ้างความคิดเห็นของ เกร็ก เรย์มอนด์ แห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และการกลาโหมศึกษา ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเชื่อว่าดูเหมือนเป็นฝ่ายจีนที่พยายามผลักดันการขายเรือดำน้ำให้กองทัพไทย

"ผมไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐากำลังมองหา เห็นได้จากที่รัฐบาลเศรษฐา เคยพูดช่วงสั้นๆ ในเดือนตุลาคม 2023 เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนข้อตกลงเป็นการจัดซื้อเรือฟริเกตจากจีนแทน" เขากล่าว พร้อมบอกต่อว่า แต่ไม่ว่าแรงกดดันหรือวิธีการไหนที่จีนนำมาใช้ ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ

เรย์มอนด์เสริมด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของปักกิ่งที่พยายามขยายอิทธิพลทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการขายเรือดำน้ำให้ไทยและการส่งเรือรบไปเทียบท่าที่กัมพูชา ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันมีความกังวล

"มันเป็นบางอย่างที่ผมไม่แน่ใจว่าไทยคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วหรือไม่ ในแง่ที่ว่าสหรัฐฯ จะคิดอ่านอย่างไรในเรื่องนี้" เขากล่าว "ผมคิดว่ามันจะทำให้การตั้งความหวังในการบรรลุเป้าหมายรักษาสมดุลและเว้นระยะห่างกับทั้งจีนและสหรัฐฯ กลายเป็นเรื่องไร้ความหมาย"

ทางด้าน ซาวัคกี ยังกล่าวกับวีโอเอด้วยว่า ความกังวลที่สุดของสหรัฐฯ ตอนนี้คือ เรือดำน้ำที่ไทยซื้อจากจีนนั้นจะไปเทียบท่าหรือประจำการอยู่ที่ไหนเป็นหลัก

"จะไปอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบที่ซึ่งมีเรือของสหรัฐฯ เทียบท่าอยู่ด้วยหรือไม่? และการที่มีเรือของจีนและของสหรัฐฯ ประจำอยู่ที่ท่าเรือเดียวกันจะเป็นการสร้างความเสี่ยงของการถูกจารกรรมและเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญหรือไม่? นั่นเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กังวลมากที่สุด" ซาวัคกีกล่าว

(ที่มา : วอยซ์ออฟอเมริกา)
กำลังโหลดความคิดเห็น