xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกากังวล! สื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำจีนเป็นดีลการเมือง ไทยไม่จำเป็นต้องมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วีโอเอ รายงานว่า รัฐบาลไทยดูเหมือนใกล้ปิดดีลเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซล-ไฟฟ้าสร้างโดยจีนได้แล้ว ตามข้อตกลงจัดซื้อที่ทำขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากชาติพันธมิตรอเมริกามองว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าทางทหาร เนื่องจากมองว่าไทยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมีเรือดำน้ำ

วอยซ์ออฟอเมริกา เครือข่ายข่าวสารที่มีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเจ้าของรายงานว่า ภายใต้รัฐบาลชุดก่อนของไทย ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการจัดทำข้อตกลงสำหรับจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำในปี 2017 แต่มีเพียงข้อตกลงเดียวเท่านั้นที่เป็นรูปเป็นร่างและต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ ระหว่างนั้น และเคยถูกระงับไปท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

โครงการนี้ใช้งบประมาณไปราว 13,500 ล้านบาท สำหรับการขอให้จีนสร้างเรือดำน้ำชั้นหยวน S26T

เมื่อเดือนตุลาคม 2023 กระทรวงกลาโหมของไทยภายใต้รัฐบาลพลเรือนของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ระบุว่าจะไม่เดินหน้าซื้อเรือดำน้ำจากจีน เนื่องจากฝ่ายจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตในเยอรมนีมาใช้กับเรือดำน้ำได้ตามสัญญาที่ทำไว้ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่สหภาพยุโรปกำหนดเล่นงานจีน

เบนจามิน ซาวัคกี ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Shifting Ground Between the U.S and Rising China กล่าวกับวอยซ์ออฟอเมริกา ว่าเรื่องราวต่างๆ ค่อยๆ ปรากฏออกมาในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทย

"นอกเหนือจากความกังวลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ช่วงเวลาของประเด็นถกเถียงยังเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีกระแสวิจารณ์รัฐบาลทหาร ณ ขณะนั้นว่าสมควรหรือไม่ที่จะใช้เงินจำนวนมหาศาล ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19" เขาบอกกับวอยซ์ออฟอเมริกา "มีความพยายามสร้างความตะหนักว่า ข้อตกลงเรือดำน้ำนี้ไม่ควรถูกวางบนไฟส่องสว่างทางการเมือง"

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุทิน คลังแสง ประกาศว่า กองทัพเรือไทยได้ตกลงใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD620 ที่ผลิตในประเทศจีนแทนเครื่องยนต์จากเยอรมนีแล้ว ซึ่งทำให้สัญญาซื้อเรือดำน้ำจากจีนกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

รายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา ชี้ว่าข้อตกลงนี้จึงไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกลาโหมแต่เพียงอย่างเดียว ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวของไทย จีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในปี 2023 ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 135,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

วอยช์ออฟอเมริกา ระบุว่า ตามหลังรัฐประหารปี 2014 สหรัฐฯ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับไทยในอดีต รุดออกมาประณามการยึดอำนาจอย่างรวดเร็ว ถอนเงินช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบแก่ไทยไปหลายล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่นั้นไทยและจีนได้กระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงแน่นแฟ้นขึ้น และในช่วงระหว่างปี 2016 และ 2022 ไทยจัดซื้ออาวุธจากจีนในแง่มูลค่ามากกว่าที่จัดซื้อจากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ซาวัคกี บอกว่ายังคงมีคำถามต่างๆ ถึงความจำเป็นที่ไทยต้องการเรือดำน้ำโจมตี "ไทยไม่ได้ต้องการเรือดำน้ำ และจีนก็ไม่จำเป็นต้องขายให้ไทย เมื่อมองจากมุมด้านความมั่นคงล้วนๆ นี่ไม่ใช่ข้อตกลงที่สมเหตุสมผลนักกับทั้งจีนหรือไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันก่อประเด็นถกเถียงทางการเมือง"

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้เสริมว่า ข้อตกลงนี้คือ "สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางทหารของสองประเทศ" ที่พัฒนาขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2014 และเชื่อว่าจีนได้พยายามสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงนี้อีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงบางส่วนให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการค้าว่าด้วยยุทโธปกรณ์ทางการทหารที่มีการแถลงจัดซื้อภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของนายเศรษฐา

เกร็ก เรย์มอนด์ แห่งศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการทหาร มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บอกกับวอยซ์ออฟอเมริกา ว่า ดูเหมือนเป็นฝ่ายจีนที่พยายามผลักดันการขายเรือดำน้ำให้กองทัพไทย "ผมไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่รัฐบาลของนายเศรษฐากำลังมองหา เห็นได้จากที่รัฐบาลของนายเศรษฐา เคยพูดช่วงสั้นๆ ในเดือนตุลาคม 2023 เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนข้อตกลงเป็นการจัดซื้อเรือฟริเกตจากจีนแทน" เขากล่าว พร้อมบอกต่อว่า แต่ไม่ว่าแรงกดดันหรือวิธีการไหนที่จีนนำมาใช้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ

เรย์มอนด์กล่าวเสริมด้วยว่าความเคลื่อนไหวของปักกิ่งที่พยายามขยายอิทธิพลทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการขายเรือดำน้ำให้ไทยและการส่งเรือรบไปเทียบท่าที่กัมพูชา ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันมีความกังวล

"มันเป็นบางอย่างที่ผมไม่แน่ใจว่าไทยคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วหรือไม่ ในแง่ที่ว่าสหรัฐฯ จะคิดอ่านอย่างไรในเรื่องนี้" เขากล่าว "ผมคิดว่ามันจะทำให้ความหวังในการบรรลุเป้าหมายรักษาสมดุลและเว้นระยะห่างกับทั้งจีนและสหรัฐฯ ไร้ความหมาย"

ซาวัคกี กล่าวกับวอยซ์ออฟอเมริกาว่า ความกังวลที่สุดของสหรัฐฯ ตอนนี้คือ เรือดำน้ำที่ไทยซื้อจากจีนนั้นจะไปเทียบท่าหรือประจำการอยู่ที่ไหนเป็นหลัก

"จะไปอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบที่ซึ่งมีเรือของสหรัฐฯ เทียบท่าอยู่ด้วยหรือไม่? และการที่มีเรือของจีนและของสหรัฐฯ ประจำอยู่ที่ท่าเรือเดียวกันจะเป็นการสร้างความเสี่ยงของการถูกจารกรรมและเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญหรือไม่? นั่นเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กังวลมากที่สุด" ซาวัคกีกล่าว

หลังจากเปิดเผยสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำฉบับปรับปรุงใหม่นี้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน นายสุทินยืนยันว่ายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ ได้ และยังไม่เปิดโอกาสให้มีการซักถามจนกว่าจะมีการสรุปส่วนอื่นๆ ของข้อตกลงนี้เสร็จสิ้นเสียก่อน วอยซ์ออฟอเมริการายงานปิดท้าย

(ที่มา : วอยซ์ออฟอเมริกา)


กำลังโหลดความคิดเห็น