xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฮ่องกงสั่งแบนเพลงประท้วง ‘Glory to Hong Kong’ ชี้อาจถูกใช้เป็น ‘อาวุธ’ ทำลายความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงมีคำวินิจฉัยวานนี้ (8 พ.ค.) อนุญาตตามคำร้องของรัฐบาลฮ่องกงให้แบนเพลงประท้วง ‘Glory to Hong Kong’ โดยพลิกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเคยปฏิเสธมาตรการแบนเพลงดังกล่าว เพราะอาจ “ส่งผลกระทบรุนแรง” ต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

คำตัดสินของศาลอุทธรณ์มีขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหลักนิติธรรมและสิทธิของบุคคลในฮ่องกงที่ถูกกัดเซาะลงไปเรื่อยๆ จากนโยบายปราบปรามผู้ต่อต้านของจีน ซึ่งทำให้แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยหลายคนถูกจำคุก และสื่อเสรีหลายสำนักถูกสั่งปิดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

คำตัดสินในคดีนี้ยังคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวฮ่องกง รวมถึงปฏิบัติการของบริษัทต่างๆ เช่น internet platforms operators (IPOs) และบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง กูเกิล เป็นต้น

คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งได้แก่ เจเรมี พูน (Jeremy Poon) คาร์ลี ชู (Carlye Chu) และแอนเธีย ผาง (Anthea Pang) ระบุในคำวินิจฉัยว่า ผู้ที่ประพันธ์เพลงนี้มีเจตนาใช้มันเป็นเสมือน “อาวุธ”

“เมื่ออยู่ในมือของผู้ที่มีเจตนาปลุกระดมหรือยั่วยุให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน เพลงนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือปลุกเร้าความรู้สึกต่อต้านรัฐได้” คณะผู้พิพากษาระบุ

คำตัดสินยังชี้ด้วยว่า ศาล “จำเป็นต้องออกคำสั่งห้าม (injunction) เพื่อโน้มน้าวผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต (IPOs) ทั้งหลายให้ดำเนินการถอดคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับเพลงนี้ออก”

หลิน เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุในงานแถลงข่าวว่า “การป้องกันไม่ให้ผู้ใดก็ตามใช้หรือเผยแพร่เพลงดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่ชอบธรรมและจำเป็น (สำหรับฮ่องกง) ในการรักษาหน้าที่ปกป้องความมั่นคงของชาติ”

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมฮ่องกงแถลงว่า รัฐบาล “จะประสานไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อร้องขอหรือสั่งการให้ดำเนินการถอดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเพลงนี้ออกตามคำสั่งห้ามของศาล”

สหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการกัดกร่อนสิทธิพลเมืองในฮ่องกง โดย แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า คำสั่งแบนเพลงปลุกใจนี้ “ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่บ่อนทำลายชื่อเสียงของฮ่องกง ซึ่งในอดีตเคยเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่ามีระบบตุลาการอันเป็นอิสระที่ให้ความคุ้มครองต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด และสินค้าอย่างเสรี” 

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น