การประท้วงในรั้วมหาวิทยาลัยของบรรดานักเคลื่อนไหวฝักใฝ่ปาเลสไตน์ลุกลามทั่วยุโรปมาตั้งแต่วันอังคาร (7 พ.ค.) บางแห่งเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล ต่อการทำสงครามในกาซา ในขณะที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ ตกอยู่ในประเด็นถกเถียงหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ว่าควรอนุญาตให้มีการชุมนุมต่อไป หรือต้องเข้าแทรกแซง
ตำรวจเยอรมนีเข้าสลายการประท้วงของพวกนักเคลื่อนไหวฝักใฝ่ปาเลสไตน์หลายร้อยคน ซึ่งบุกยึดลานหญ้าของมหาวิทยาลัยฟรี ในเบอร์ลิน ขณะเดียวกัน ก็พบเห็นผู้ชุมนุมบุกยึดอาคารของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นานหลายชั่วโมง หลังจากตำรวจเข้าควบคุมตัวผู้ประท้วง 169 คน ในอีกมหาวิทยาลัย
ส่วนที่อื่นๆ ในยุโรป แคมป์ประท้วงบางส่วนของนักศึกษาได้รับอนุญาตให้ปักหลักชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ อย่างเช่นลานหญ้าของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร หลังจากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา พวกนักศึกษาได้จัดการชุมนุมหรือตั้งแคมป์ประท้วง ทั้งในฟินแลนด์ เดนมาร์ก อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
ในเบอร์ลิน พวกผู้ประท้วงเต็นท์ราว 20 หลังและก่อตัวเป็นห่วงโซ่มนุษย์รอบค่ายแห่งนี้ พร้อมกับตะโกนคำขวัญสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลต่างๆ โดยแกนนำอ้างว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของบรรดานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่งในเบอร์ลิน และกลุ่มบุคคลอื่นๆ
พบเห็นตำรวจเข้าลากตัวผู้ประท้วงบางคนออกไปและใช้สเปรย์พริกไทยระหว่างมีการกระทบกระทั่งกันกับพวกผู้ประท้วง ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยระบุในถ้อยแถลงว่าพวกเขาตัดสินใจโทรศัพท์เรียกตำรวจ หลังจากพวกผู้ชุมนุมปฏิเสธเจรจาใดๆ และบางส่วนพยายามบุกยึดอาคารเรียน ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีเบอร์ลิน ออกมาชื่นชมการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยที่โทร.เรียกตำรวจก่อนสถานการณ์ลุกลามบานปลาย
ที่เนเธอร์แลนด์ ตำรวจเข้าสลายค่ายประท้วงฝักใฝ่ปาเลสไตน์ ณ มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ทุบตีผู้ชุมนุมบางส่วนและรื้อถอนเต็นท์ ตำรวจระบุบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ สื่อสังคมออนไลน์ ว่า มาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อคืนความสงบเรียบร้อย หลังจากการประท้วงเสี่ยงเข้าสู่ความรุนแรง
ฝูงชนได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ สู่ระดับราว 3,000 คน ในนั้นรวมถึงนักศึกษาและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย รวมตัวกันใกล้กับตำแหน่งเต็นท์ที่ถูกรื้อถอน ตะโกนคำขวัญต่างๆ ในนั้นรวมถึง "ปาเลสไตน์จะเป็นอิสระ" และ "ตำรวจออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย"
ช่วงเย็นวันเดียวกัน นักศึกษากลุ่มหนึ่งบุกยึดอาคารของมหาวิทยาลัยอีกแห่งในย่านประวัติศาสตร์ใจกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ตามรายงานของผู้สื่อข่าวเอพี
ในออสเตรีย พวกผู้ประท้วงได้มีการตั้งเต็นท์ราว 20 หลัง ปักหลักชุมนุมกันบริเวณลานหญ้าหลักของมหาวิทยาลัยเวียนนา เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยผู้ชุมนุมปิดกั้นการเข้าออกค่ายแห่งนี้ ท่ามกลางการจับตามองของตำรวจ
นอกจากนี้ แคมป์ประท้วงของพวกผู้ชุมนุมฝักใฝ่ปาเลสไตน์ ยังผุดขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 10 แห่งในสหราชอาณาจักร ในนั้นรวมถึงมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ เรียกร้องสถาบันการศึกษาเปิดเผยตัวเลขการลงทุนอย่างครบถ้วน ตัดความสัมพันธ์ด้านการศึกษากับอิสราเอล และปลีกตัวออกห่างจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศแห่งนี้ ทั้งนี้ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกว่า 200 คน ยังร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนการประท้วงในครั้งนี้ด้วย
ที่ฟินแลนด์ พวกผู้ประท้วงหลายสิบคนจากกลุ่มนักศึกษาเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกับปาเลสไตน์ ได้จัดตั้งแคมป์บริเวณด้านนอกอาคารหลักของมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ พร้อมบอกว่าจะปักหลักชุมนุมไปจนกว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาใหญ่ที่สุดของฟินแลนด์จะตัดความสัมพันธ์ด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยต่างๆ ของอิสราเอล
ในเดนมาร์ก นักศึกษาจัดตั้งแคมป์ฝักใฝ่ปาเลสไตน์ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และทางมหาวิทยาลัยบอกว่าพวกนักศึกษาสามารถประท้วงได้ แต่เรียกร้องให้พวกเขาเคารพกฎระเบียบต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัย ส่วนในอิตาลี นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยโบโลญญา หนึ่งในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในโลก ได้จัดตั้งแคมป์มาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ เรียกร้องให้ยุติสงครามในกาซา นอกจากนี้ ยังพบเห็นการชุมนุมแบบเดียวกันและส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ ทั้งในกรุงโรมและเมืองเนเปิลส์
นักศึกษาหลายสิบคนในสเปน ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ ณ แคมป์สนับสนุนปาเลสไตน์ ที่มหาวิทยาลัยบาเลนเซีย จากนั้นในวันจันทร์ (6 พ.ค.) ได้มีการจัดตั้งแคมป์แบบเดียวกัน ณ มหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา และมหาวิทยาลัยบาสก์ เคาน์ตี ขณะที่กลุ่มตัวแทนมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งในมาดริดก็แถลงว่าพวกเขาจะจัดตั้งแคมป์ประท้วงเช่นกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ที่กรุงปารีส กลุ่มนักศึกษานัดรวมตัวแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในช่วงเย็นวันอังคาร (7 พ.ค.) และมีรายงานกรณีตำรวจใช้แก๊สน้ำตาบังคับสลายการชุมนุมของนักศึกษาฝักใฝ่ปาเลสไตน์ บริเวณรอบนอกมหาวิทยาลัยซอร์บอนในกรุงปารีส ที่ออกมาประท้วงต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซา
(ที่มา : เอพี)