โตโยต้า มอเตอร์ประกาศเมื่อวันจันทร์ (29 ม.ค.) พบการปลอมแปลงข้อมูลการทดสอบแรงม้ารถ 10 รุ่นที่วางจำหน่ายทั่วโลก อาทิ ฟอร์จูนเนอร์ แลนด์ครุสเซอร์ และไฮลักซ์ ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายครั้งใหม่สำหรับกลุ่มบริษัทยานยนต์ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ ซ้ำเติมปัญหาการควบคุมคุณภาพที่เกิดขึ้นหลายระลอกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โตโยต้าแจงว่า บริษัทในเครือคือ โตโยต้า อินดัสทรีส์ ปลอมแปลงข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ดีเซล 3 รุ่น โดยพนักงานได้พยายามทำให้ผลการทดสอบแรงม้ามีความแปรปรวนน้อยลง ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์คนละชุดกับที่ใช้ในการผลิตรถจำนวนมาก
ทั้งนี้ จากรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบพิเศษซึ่งเป็นบุคคลภายนอก พบความผิดปกติระหว่างการทดสอบแรงม้าเพื่อออกใบรับรองเครื่องยนต์ดีเซล 3 รุ่น ซึ่งใช้ในรถยนต์ 10 รุ่นของโตโยต้าที่จำหน่ายทั่วโลก และข้อมูลการโกงการตรวจสอบสามารถย้อนไปได้ถึงปี 2017
คณะกรรมการตรวจสอบชี้ว่า ปัญหาเกิดจากวัฒนธรรมองค์กรของโตโยต้า อินดัสทรีส์ และการขาดความตั้งใจที่จะยกระดับการปฏิบัติตามกฎระเบียบในสถานการณ์ที่บริษัทรู้สึกว่า ตนเองอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยในฐานะซัปพลายเออร์ของโตโยต้า
โคอิชิ อิโตะ ประธานโตโยต้า อินดัสทรีส์ ขอโทษผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งรวมถึงลูกค้าและซัปพลายเออร์ของบริษัท และให้สัญญาจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อฟื้นฟูบริษัท โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอันดับแรก
เขาสำทับว่า บริษัทขาดการสื่อสารกับโตโยต้า มอเตอร์ และไม่มีการประสานงานกันเพียงพอเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการทดสอบที่ต้องปฏิบัติตาม
โตโยต้า อินดัสทรีส์เผยว่า ขายเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นปัญหาเหล่านี้ไปราว 84,000 เครื่องระหว่างปีการเงินที่สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2023
ทางด้านโตโยต้ายืนยันว่า เครื่องยนต์ 3 รุ่นดังกล่าวที่ผลิตออกมาจำนวนมากมีสมรรถนะสอดคล้องกับมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม บริษัทจะระงับการจัดส่งรถ 10 รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์เหล่านี้ชั่วคราว
ทั้งนี้ รถ 10 รุ่นที่จะระงับการจัดส่งมีอาทิ ไฮเอซ, ฟอร์จูนเนอร์, แลนด์ครุสเซอร์ 300, ไฮลักซ์, อินโนวา และ LX500D ของเลกซัส ที่ขายในญี่ปุ่น ยุโรป ตะวันออกกลาง และอีกหลายประเทศ
การแถลงข่าวล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากโตโยต้า อินดัสทรีส์ยอมรับเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า ปลอมแปลงข้อมูลการปล่อยไอเสียเครื่องยนต์รถยก และเมื่อวันจันทร์บริษัทยังเปิดเผยว่า พบการปลอมแปลงข้อมูลในรถยกอีกหลายรุ่น และได้ระงับการจัดส่งรถที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้ว
กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นออกมาตำหนิโตโยต้า อินดัสทรีส์ โดยระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเขย่ารากฐานระบบรับรองยานยนต์ และสั่งให้บริษัทแห่งนี้ไปตรวจสอบหาต้นตอของปัญหา
ขณะที่กระทรวงคมนาคมเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานของโตโยต้า อินดัสทรีส์ที่จังหวัดไอจิ ซึ่งทำการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์และเครื่องยนต์อุตสาหกรรมในวันอังคาร (30 ม.ค.)
การเปิดเผยนี้ยังมีขึ้นหลังจากที่ชื่อเสียงของโตโยต้าสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจากปัญหาคุณภาพหลายครั้งในระยะหลังมานี้
เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไดฮัทสุ มอเตอร์ บริษัทรถเล็กในเครือโตโยต้า ระงับการจัดส่งทั้งในและนอกญี่ปุ่น หลังจากการตรวจสอบของบุคคลภายนอกพบว่า มีการโกงการทดสอบความปลอดภัยรถหลายรุ่น
ฮีโน่ มอเตอร์ บริษัทในเครืออีกแห่งของโตโยต้า ยอมรับเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ว่า ส่งข้อมูลการปล่อยไอเสียและการประหยัดเชื้อเพลิงปลอมให้หน่วยงานกำกับดูแลการขนส่ง