Neuralink บริษัทสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีประสาทของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ประกาศความสำเร็จในการปลูกถ่ายชิปลงในสมองของผู้ป่วยรายแรก และพบว่าคนไข้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ
มัสก์ แถลงผ่าน X เมื่อวันจันทร์ (29 ม.ค.) ว่า “ผลลัพธ์เบื้องต้นพบว่ามีคลื่นไฟฟ้าจากเซลล์ประสาท (neuron spike) ในระดับที่น่าพอใจ”
คลื่นไฟฟ้าเป็นกิจกรรมของเซลล์ประสาท (neurons) ซึ่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institute of Health - NIH) ระบุว่าหมายถึงเซลล์ซึ่งใช้สัญญาณไฟฟ้าและเคมีเพื่อส่งข้อมูลบริเวณสมองและต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุญาตเมื่อปีที่แล้วให้ Neuralink ทำการทดลองฝังชิปในสมองมนุษย์ ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสำคัญของบริษัทสตาร์ทอัปแห่งนี้ที่มีเป้าหมายในการช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาต หรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาทอื่นๆ
Neuralink ระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบอิสระได้อนุญาตให้บริษัทเริ่มกระบวนการรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองฝังชิปในสมองเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
การศึกษาวิจัยนี้ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดฝังชิปเข้าไปยังสมองส่วนที่สั่งการการเคลื่อนไหว โดยเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า brain-computer interface หรือ BCI ซึ่งเป้าหมายในระยะแรกคือการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมเคอร์เซอร์คอมพิวเตอร์ หรือแป้นคีย์บอร์ดได้โดยอาศัยเพียงการ “คิด” เท่านั้น
Neuralink เผยด้วยว่า การปลูกถ่ายนี้จะใช้เส้นใยขนาดเล็กพิเศษ (ultra-fine threads) เพื่อช่วยส่งสัญญาณภายในสมองของคนไข้
ด้าน มัสก์ ออกมาประกาศตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ตัวแรกของ Neuralink ว่า ‘Telepathy’ หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่า “โทรจิต”
“มันจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์แทบทุกอย่างได้ ด้วยการใช้ความคิดเท่านั้น” มัสก์ โพสต์ข้อความผ่าน X
“ลองจินตนาการดูว่า ถ้า สตีเฟน ฮอว์กิง (นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาผู้มีชื่อเสียง ซึ่งป่วยด้วยโรคอะไมโอโทรฟิก แลเทอรัล สเกลอโรซิส (ALS) ชนิดหายาก ทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง) สามารถสื่อสารได้เร็วเสียยิ่งกว่านักพิมพ์ดีดความเร็วสูง หรือผู้ประมูลสินค้า นี่แหละคือจุดมุ่งหมาย” มัสก์ กล่าว
ที่ผ่านมา มีกระแสเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ตรวจสอบมาตรการควบคุมความปลอดภัยของ Neuralink และรอยเตอร์เพิ่งรายงานไปเมื่อต้นเดือน ม.ค. ว่า ทางบริษัทถูกสั่งปรับเงินฐานฝ่าฝืนกฎของกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ (DOT) ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายวัสดุอันตราย
Neuralink มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราวๆ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่เมื่อเดือน พ.ย. สมาชิกสภาคองเกรส 4 คนเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ตรวจสอบว่า มัสก์ มีการให้ข้อมูลบิดเบือนต่อนักลงทุนเกี่ยวกับความปลอดภัยของเทคโนโลยีการฝังชิปในสมองหรือไม่ หลังมีบันทึกของสัตวแพทย์ที่พบว่า “ลิง” ซึ่งถูกใช้ในการทดลองเป็นอัมพาต มีอาการชัก และสมองบวม
ที่มา : รอยเตอร์, forbes