(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China’s falling population could halve by 2100
By XIUJIAN PENG
20/01/2024
บัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ คาดการณ์ว่า ประชากรวัยทำงานของจีนจะลดจำนวนลงเหลือเพียง 210 ล้านคนในปี 2100 หรือแค่หนึ่งในห้าของระดับซึ่งได้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดเมื่อปี 2014
จำนวนประชากรของประเทศจีนได้ลดต่ำลงมาเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกันแล้ว
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่า ทารกเกิดใหม่ของจีนในปี 2023 มีเพียง 9.02 ล้านคน –หรือเพียงแค่ครึ่งเดียวของเมื่อปี 2017 เมื่อนำเอาจำนวนผู้เสียชีวิตของจีนในปี 2023 เข้ามาคำนวณด้วย ซึ่งอยู่ที่ 11.1 ล้านคน สูงขึ้น 500,000 คนจากปี 2022 นี่หมายความว่าจำนวนประชากรของจีนหดลดลงไป 2.08 ล้านคน [1] ในปี 2023 ภายหลังจากตกลงมาแล้ว 850,000 คนเมื่อปี 2022 เท่ากับว่าหายไปราวๆ 3 ล้านคนในระยะเวลา 2 ปี
การลดลง 2 ปีต่อเนื่องกันเช่นนี้ถือว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในแดนมังกร ภายหลังจากช่วงภัยอดอยากครั้งใหญ่ในปี 1959-1961 (great famine of 1959-1961) [2] โดยที่แนวโน้มนี้ยังกำลังอยู่ในอาการเร่งตัวอีกด้วย
ทีมวิจัยทีมหนึ่งของบัณฑิตสภาทางสังคมศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Academy of Social Sciences) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยแรกๆ [3] ที่พยากรณ์การลดลงของประชากรจีนในปี 2022 เอาไว้ เวลานี้ได้จัดทำการคาดการณ์ต่อไปโดยกำหนดฉากทัศน์สมมุติสถานการณ์เอาไว้หลายๆ แบบ ปรากฏว่าฉากทัศน์แบบที่สมมุติว่าปัญหาไม่หนักหน่วง อีกทั้งได้ผ่านการอัปเดตข้อมูลตัวเลขให้ทันสมัยยิ่งขึ้นแล้วด้วย มีผลออกมาว่าประชากรของจีนกำลังจะหดตัวลงจากระดับ 1,400 ล้านคนในปัจจุบัน จนเหลือเพียงแค่ 525 ล้านคนภายในปี 2100
ขณะที่ประชากรในวัยทำงานของจีนก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะลดต่ำลงจนเหลือเพียงแค่ 210 ล้านคนภายในปี 2100 --เท่ากับเพียงแค่หนึ่งในห้าของตัวเลขนี้ตอนที่ขึ้นไปถึงระดับสูงสุดเมื่อปี 2014
จำนวนคนตายขยับขึ้นขณะที่จำนวนคนเกิดลดน้อยลง
อัตราการตายเวลานี้กำลังไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของการที่ประชากรโดยรวมกำลังมีอายุสูงวัยขึ้น อีกทั้งเนื่องจากการแพร่ระบาดพรวดพราดของโควิดในระยะสองสามเดือนแรกของปี 2023
การที่ประชากรโดยรวมของจีนกำลังมีอายุมากขึ้นนั้น สาเหตุหลักเลยก็เนื่องมาจากอัตราการเกิดกำลังลดต่ำลงนั่นเอง
อัตราเจริญพันธุ์รวมยอด (total fertility rate) ของประชากร ซึ่งหมายถึงตัวเลขเฉลี่ยของการให้กำเนิดทารกของผู้หญิง 1 คนนั้น เคยอยู่ในระดับที่ต่ำมากนั่นคือ ประมาณ 1.66 ในช่วงระหว่างปี 1991 จนถึงปี 2017 ตอนที่จีนใช้นโยบายให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว ทว่าหลังจากนั้นตัวเลขนี้ก็ยังคงหล่นลงมาอีกอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ที่ 1.28 ในปี 2020 และ 1.08 ในปี 2022 แล้วเวลานี้อยู่ที่ราวๆ 1 ซึ่งต่ำกว่ามากจากระดับ 2.1 ที่คิดเห็นกันโดยทั่วไปว่าคืออัตราเจริญพันธุ์ที่จะสามารถรักษาจำนวนประชากรให้ยังคงระดับเดิมเอาไว้
เพื่อประโยชน์ของการเปรียบเทียบ ออสเตรเลียและสหรัฐฯนั้นมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.6 [4] ส่วนเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราส่วนนี้ต่ำที่สุดในโลกสำหรับปี 2023 นั้น ตัวเลขอยู่ที่ 0.72 [5]
การเกิดยังคงหล่นฮวบแม้นโยบายเปลี่ยนเป็นให้มีลูกได้ 3 คน
ประเทศจีนเลิกใช้นโยบายมีลูกได้คนเดียวไปในปี 2016 [6] แล้วในปี 2021 ก็เริ่มนำเอานโยบายครอบครัวหนึ่งมีลูกได้ 3 คนมาใช้ โดยหนุนหลังด้วยมาตรการจูงใจทางภาษีและอื่นๆ [7]
ทว่าอัตราเกิดยังคงหล่นลงอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้นโยบายลูกคนเดียวมายาวนานจนกลายเป็นบรรทัดฐานที่หนักแน่นมั่นคง, ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายลูกคนเดียวได้ตัดลดจำนวนผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีลูกได้ให้เหลือน้อยลงไป, และส่วนหนึ่งเนื่องจากแรงบีบคั้นต่างๆทางเศรษฐกิจกำลังทำให้การเป็นพ่อเป็นแม่มีเสน่ห์ดึงดูดลดน้อยลง
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนให้ตัวเลขเอาไว้ว่า พวกลูกจ้างพนักงานของวิสาหกิจต่างๆ ในแดนมังกรทำงานกันเฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ 49 ชั่วโมง [8] มากกว่าวันละ 9 ชั่วโมง (เมื่อคำนวณว่าแต่ละสัปดาห์มีวันหยุด 2 วัน) ผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนน้อยกว่าผู้ชาย และพวกเธอก็กำลังเลื่อนเวลาสำหรับการมีลูกออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ [9]
ความหวังประการหนึ่งก็คือว่า ปี 2024 นี้จะได้เห็นอัตราการเกิดพุ่งพรวดขึ้นมา เนื่องจากเป็นปีมังกรตามรอบปีนักษัตรแบบจีน โดยที่มังกรเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี
บางครอบครัวอาจเลือกที่จะเลื่อนเวลายังไม่ให้เด็กเกิดในปี 2023 ซึ่งถือเป็นปีกระต่ายที่มีความเป็นมงคลด้อยกว่า ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยอย่างน้อยที่สุดก็รายหนึ่ง [10] ที่ระบุว่าปัจจัยนี้ก็มีผลด้วยเช่นกัน
ประชากรที่อายุสูงขึ้นและต้องพึ่งพิงคนอื่นมากขึ้น
ทีมวิจัยทีมเดียวกันของบัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ และศูนย์นโยบายศึกษา (Centre for Policy Studies) ณ มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย (Victoria University) ในออสเตรเลีย เวลานี้คาดการณ์ว่าประชากรของจีนกำลังลดต่ำลงจนกระทั่งภายในปี 2100 จะลดลงมาเกินกว่าครึ่งหนึ่ง นั่นคือเหลือราวๆ 525 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขการลดลงมาที่มากกว่าการพยากรณ์ก่อนหน้านี้ราวๆ 62 ล้านคน
ขณะที่ประชากรในวัยทำงานก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะลดต่ำลงกว่าที่ทำนายไว้เดิมมาก โดยลงมาอยู่ที่ 210 ล้านคน
ทีมวิจัยของพวกเราเวลานี้ยังคาดหมายว่า ในปี 2077 จำนวนคนจีนอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีมากจนกระทั่งแซงหน้าจำนวนของผู้ที่ถือกันมาแต่ไหนแต่ไรว่าเป็นผู้อยู่ในวัยทำงานแล้ว หรือ 3 ปีก่อนหน้าที่ได้เคยพยากรณ์กันเอาไว้
ภายในปี 2100 พวกเราคาดหมายว่า ชาวจีนที่อยู่ในวัยซึ่งแต่ไหนแต่ไรถือเป็นวัยทำงานทุกๆ 100 คน จะต้องสนับสนุนชาวจีนที่เป็นผู้สูงอายุ 137 คน เพิ่มขึ้นอย่างมากมายจากระดับแค่ 21 คนในปัจจุบัน
ฉากทัศน์การสมมุติสถานการณ์แบบกลางๆ ของพวกเรา ตั้งข้อสมมุติฐานว่าอัตราเจริญพันธุ์ของจีนจะมีการฟื้นตัวกระเตื้องขึ้น โดยขยับสูงขึ้นอย่างช้าๆ จนไปถึงระดับ 1.3 ขณะที่ฉากทัศน์แบบต่ำๆ ของพวกเรานั้น มีสมมุติฐานว่ามันจะยังคงลดต่ำต่อไปอีกจนกระทั่งถึงระดับ 0.88 ในตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า แล้วจากนั้นจึงค่อยฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ จนอยู่ที่ระดับ 1.0 ภายในปี 2050 ก่อนที่จะยืนนิ่งอยู่ที่ตรงนั้น
พวกเราตั้งสมมุติฐานของพวกเราขึ้นมาโดยอิงอาศัยการสังเกตการณ์อัตราเจริญพันธุ์รวมยอดแท้จริงในภูมิภาคของจีน และแนวโน้มการลดต่ำของอัตราส่วนนี้ ทั้งนี้ในปี 2022 อัตราส่วนนี้อยู่ที่ 1.26 ในญี่ปุ่น, 1.04 ในสิงคโปร์, 0.87 ในไต้หวัน, 0.8 ในฮ่องกง, และ 0.78 ในเกาหลีใต้
ประเทศและดินแดนเหล่านี้ไม่มีรายไหนเลยที่อัตราเจริญพันธุ์สามารถกระเตื้องกลับขึ้นสูงใหม่ได้ ถึงแม้รัฐบาลได้ทุ่มเทใช้ความพยายามจำนวนมาก แนวโน้มเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่พวกนักประชากรศาสตร์เรียกกันว่า “กับดักของอัตราเจริญพันธุ์ต่ำ” (low-fertility trap) [11] ซึ่งเป็นสภาพที่อัตราเจริญพันธุ์ยากที่จะยกให้สูงขึ้นได้ในทันทีที่มันตกลงไปจนอยู่ต่ำกว่า 1.5 หรือ 1.4
ประชากรโลกขึ้นถึงระดับสูงสุดเร็วยิ่งขึ้น
เนื่องจากในปัจจุบัน ประชากรของจีนมีจำนวนเท่ากับหนึ่งในหกของประชากรทั้งหมดของโลก ดังนั้นการลดต่ำในลักษณะเร่งตัวขึ้นทุกทีของแดนมังกรจึงทำให้วันเวลาที่จำนวนประชากรของโลกขึ้นถึงระดับสูงสุด มาถึงเร็วยิ่งขึ้น
การพยากรณ์ของพวกเราเกี่ยวกับจีนที่มีการอัปเดตตัวเลขแล้วเช่นนี้ ทำให้การพยากรณ์ของพวกเราในเรื่องวันเวลาที่จำนวนประชากรโลกจะขึ้นถึงระดับสูงสุด ร่นเข้ามาเร็วขึ้น 1 ปี เป็นปี 2083 ถึงแม้ยังคงมีปัจจัยจำนวนมากที่ไม่แน่ไม่นอน (รวมทั้งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอินเดีย ซึ่งเวลานี้มีจำนวนประชากรแซงหน้าจีนไปแล้ว ทว่าอัตราเจริญพันธุ์ของอินเดียก็ได้ตกลงมาจนอยู่ต่ำกว่า [12] ระดับการทดแทนแล้วเช่นกัน)
การที่ประชากรของจีนลดต่ำลงแบบเร่งตัวเช่นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจของจีนอ่อนแอลง และจากนั้นก็ย่อมส่งผลทำให้เศรษฐกิจของโลกอ่อนแอลงด้วย
เรื่องนี้จะกลายเป็นแรงกดดันขาลงที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีน ขณะที่กลายเป็นแรงกดดันขาขึ้นซึ่งส่งผลต่อเรื่องค่าจ้างและการใช้จ่ายของภาครัฐบาล ในฐานะที่จีนเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ความอ่อนแอนี้ย่อมกลายเป็นความท้าทายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก
ซิวเจียน เผิง เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ ศูนย์นโยบายศึกษา มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย, ออสเตรเลีย
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/chinas-population-shrinks-again-and-could-more-than-halve-heres-what-that-means-220667
เชิงอรรถ
[1]https://www.stats.gov.cn/english/PressRelease/202401/t20240117_1946605.html
[2]https://alphahistory.com/chineserevolution/great-chinese-famine/
[3] https://theconversation.com/chinas-population-is-about-to-shrink-for-the-first-time-since-the-great-famine-struck-60-years-ago-heres-what-it-means-for-the-world-176377
[4]https://www.abs.gov.au/statistics/people/population/births-australia/latest-release
[5] https://time.com/6488894/south-korea-low-fertility-rate-trend-decline/
[6]https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3135510/chinas-one-child-policy-what-was-it-and-what-impact-did-it
[7] https://www.china-briefing.com/news/china-releases-supporting-measures-for-three-child-policy/
[8]https://www.stats.gov.cn/english/PressRelease/202401/t20240117_1946605.html
[9] https://www.ft.com/content/4c47ddba-0e1a-467e-9f7c-33d71b0e843a
[10] https://www.jstor.org/stable/1973601
[11]https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1728-4457.2005.00094.x
[12]https://data.worldbank.org/indicator/SP.DYN.TFRT.IN?page=&locations=IN