โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
ในบทความนี้ขอเล่าถึงปัญหาสังคมจีนที่มีปัญหากันมานานสักระยะแล้ว แต่ในช่วงนี้เหมือนกับปัญหาดังกล่าวจะเยอะขึ้น และในสังคมจีนมีการวิจารณ์และพูดถึงกันมากขึ้นคือประเด็นที่คนรุ่นใหม่ในวัยทำงานแต่กลับไม่ทำงานและอยู่บ้านเฉยๆ ให้พ่อกับแม่ที่ชราเลี้ยงดู คนจีนมีคำเรียกเฉพาะคนกลุ่มนี้ว่า “啃老族”(อ่านว่า เขิ่นเหล่าจู๋) ผู้เขียนแปลตรงตามตัวอักษรได้ว่า “กลุ่มกัดกินผู้สูงอายุ” โดยคนกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นคือ ชีวิตไม่สนใจอะไร ไม่ทำงานและชอบอยู่เฉยๆ ในปี 2022 มีสื่อจีนประเมินว่าคนกลุ่มนี้ในจีนปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 270 ล้านคน!
“เงินบำเหน็จบำนาญของคนชรากลายเป็นที่พึ่งพิงของลูกหลาน” กลุ่มคนที่กัดกินผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีเป้าหมายการงานที่ชัดเจนในชีวิต มีแค่ความต้องการดำรงชีพพื้นฐาน ดังนั้นการมีข้าวกิน การมีที่อยู่อาศัยก็เพียงพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน การที่ไม่ทำงานแล้วกลับไปอยู่กินกับบุพการี ใช้เงินบำเหน็จบำนาญของบุพการีในการดำรงชีพ ถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หมดไฟ
ในประเด็นที่ลูกโตแล้วยังเกาะพ่อแม่กิน กลุ่มคนที่เป็นพ่อแม่มีเสียงแตก มีกลุ่มที่ไม่พอใจด่าทอและไม่ยอมรับ กับอีกกลุ่มที่เห็นใจและสงสาร โดยส่วนใหญ่พ่อแม่จีนจะค่อนข้างตามใจลูกโดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเพียงคนเดียว (กลุ่มที่เกิดในช่วงปี 1980-2000 ที่ปัจจุบันเติบโตเป็นผู้ใหญ่) พ่อแม่ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้จะทนไม่ได้หากต้องเห็นลูกตัวเองตกงาน ลำบากตรากตรำอยู่ข้างนอก ในสถานการณ์บังคับที่ลูกไม่มีงานทำ พ่อแม่กลุ่มนี้จะอ้าแขนต้อนรับลูกกลับมาอยู่บ้านกับตัวเอง โดยคิดว่า “ไม่อยากทำงานก็ไม่ต้องทำ เพราะหากไปไล่บี้มากๆ เดี๋ยวลูกจะมีปัญหาทางจิตใจ”
มีตัวอย่างครอบครัวหนึ่ง คุณยายเจียงแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกชายคนเดียว ลูกชายของยายเจียงเป็นประเภทที่ชอบอยู่ตัวคนเดียวไม่แต่งงาน และยังไม่ชอบออกไปทำงานอีกด้วย ก่อนหน้านี้ลูกชายของยายเจียงเคยมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองต่อมาล้มเหลว ก็กลายเป็นว่าไม่อยากจะทำอะไรเลย แต่ละวันอยู่บ้านเฉยๆ ยายเจียงเองคุยกับลูกชายตัวเองหลายครั้งให้ออกไปหางานทำ แต่ทุกครั้งก็ไม่เป็นผล ยายเจียงเองทำอะไรไม่ได้ อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ครอบครัวจีนที่ประสบเหตุการณ์ลักษณะนี้ในจีนมีอยู่ไม่น้อย จนหลายคนบอกว่า “พ่อแม่จีนยอมให้ลูกได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด”
นอกจากนี้ จีนยังมี “กลุ่มคนที่กัดกินผู้สูงอายุแบบใหม่” คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แต่งงานและมีลูก ตัวเองสามีภรรยาออกไปทำงานไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ให้พ่อแม่ของตัวเอง (ปู่ยาตายาย) มาอยู่ด้วยและให้ช่วยเลี้ยงหลาน ปู่ย่าตายายที่ไปเลี้ยงหลานส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินจากลูกของตัวเอง ซ้ำยังต้องควักกระเป๋าสตางค์ของตัวเองช่วยค่าใช้จ่ายเลี้ยงหลานด้วย เหตุการณ์ลักษณะนี้มีปรากฏอยู่ไม่น้อยในครอบครัวจีนสมัยใหม่ ปู่ย่าตายายมาช่วยเลี้ยงหลานออกแรงและยังต้องออกเงิน มีตัวอย่างหนึ่งมีคนเขียนลงโซเชียลแชร์เรื่องราวว่า “มีญาติคนหนึ่งออกไปทำงานในเมือง แต่งงานมีภรรยาและลูก หลังจากลูกคลอดออกมาญาติคนนี้รับแม่ตัวเองไปอยู่ด้วยเพื่อช่วยเลี้ยงหลาน ปรากฏว่าญาติคนนี้และภรรยาไม่เคยให้เงินช่วยเหลือแก่แม่ชราเลย แม่ชรานอกจากต้องรับผิดชอบรายจ่ายของตัวเองแล้ว ยังต้องออกเงินเลี้ยงหลานอีกด้วย นี่แหละโมเดลใหม่ของพวกกัดกินผู้สูงอายุ” ชาวเน็ตคอมเมนต์ต่อว่า เรื่องแบบนี้ในสังคมกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ลูกหลายๆ คนโตแล้วควรมีความรับผิดชอบตัวเอง บางคนยังมองว่าการไปตอดเงินพ่อแม่เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ มองผู้สูงอายุเป็นเครื่องเอทีเอ็มตลอดกาล ส่วนผู้สูงอายุเองได้แต่จำยอมทุกครั้งไป
ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นนี้ คนจีนหลายคนมองว่า “เป็นความผิดพลาดของการเลี้ยงดู” โดยเฉพาะครอบครัวที่ประคบประหงมลูกหลานมากเกินไป หรือไม่ก็ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเพียงด้านเดียว เช่น เน้นแค่การเรียนในห้องเรียนต้องได้เกรดดีๆ เข้าโรงเรียนดีๆ เอ็นทรานซ์ติดมหาวิทยาลัยดีๆ แต่ไม่เน้นการสอนเอาชีวิตรอดและช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้น การเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป ดูแลมากจนเกินไป มักทำให้ลูกหลาน “โตมาแบบป่วยๆ” พอออกไปสู่สังคมไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่คิดต่อสู้ และกลับมาบ้านพึ่งพาพ่อแม่เหมือนตอนเด็ก
นอกจากค่านิยมการอบรมเลี้ยงบุตรดูของพ่อแม่ชาวจีนที่คนจีนด้วยกันเองยังมองว่าค่อนข้างบิดเบี้ยวแล้ว ปัจจัยที่ทำให้จำนวนกลุ่มคนวัยทำงานที่กลับบ้านมาให้พ่อแม่เลี้ยงดูพุ่งสูงขึ้น คือ ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ถดถอย คนตกงานเยอะ หากท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามข่าวเศรษฐกิจจีนอยู่อาจจะพอทราบว่า ขณะนี้อัตราการว่างงานของคนจีนรุ่นใหม่กลุ่มอายุ 16-24 ปี สูงถึง 21% และใน 3 เดือนแรกของปี (2023) นี้ กลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของจีนอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการส่งออก ภาคธุรกิจไอที ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และอื่นๆ มีการปลดและลดพนักงานไม่มากก็น้อย โดยอัตราเฉลี่ยการปลดพนักงานของแต่ละอุตสาหกรรมอยู่ที่ 10-40% โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งนอกจากลดจำนวนพนักงานแล้ว ยังลดเงินเดือนผู้บริหารอีกด้วย
มีข่าวออนไลน์หนึ่งพาดหัวข่าวว่า “อัตราการจ้างงานตกเก้าอี้ลำบาก” ได้เปิดเผยตัวเลขในปี 2022 จนถึงสิ้นปีว่า มีจำนวนคนมีงานทำทั่วประเทศ 733 ล้านคน หากเทียบกับปี 2021 มีจำนวนลดลง 13 ล้านคน ในขณะที่เป้าหมายการจ้างงานของรัฐบาลจีนมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี
ปัจจุบันจีนมีความกังวลต่ออัตราการจ้างงานที่ลดน้อยลง สวนทางกับจำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่แต่ละปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดแรงงาน อย่างในปี 2023 นี้จะมีนักศึกษาจบใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาดแรงงานสูงถึง 11.58 ล้านคน! ผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้จำนวนคนหางานในตลาดงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่หลายบริษัทลดขนาดพนักงานลง มาเจอกับกลุ่มนักศึกษาจบใหม่อีก เอาเป็นว่าตลาดแรงงานในจีนจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นไปอีก อย่างอีกข่าวดังล่าสุดคือ บริษัทยักษ์จีน oppo เพิ่งยุบแผนกวิจัยและพัฒนาชิปไปซึ่งจะทำให้มีการปลดพนักงาน 2,000 ตำแหน่ง อีกทั้ง Linkin China ได้ประกาศจะปิดสำนักงานที่จีนและถอยทัพออกไปแล้ว
เล่ามาถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านอาจจะพอเห็นภาพว่า ปัญหากลุ่มคนที่กัดกินผู้สูงอายุของสังคมจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจจีนที่ถดถอย คนรุ่นใหม่ตกงานกันมากขึ้น ยังมีคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่เมื่อเข้าสู่สังคมทำงานหลายสิ่งหลายอย่างแล้วล้มเหลว ปรับตัวกับองกรค์ต่างๆ ไม่ได้ สุดท้ายเลือกที่จะลาออกกลับบ้านไปอยู่เฉยๆ เช่น นางเฉิง เรียนจบมหาวิทยาลัยดี ในคณะที่จบมาหางานได้ง่ายได้รับความนิยม ตอนแรกได้งานทำในบริษัทใหญ่ในเมืองหางโจว ทำงานได้ไม่ถึงปีเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ก็ลาออก ขอเงินกับที่บ้านก้อนหนึ่งย้ายเมืองไปหางานทำที่กว่างโจว สุดท้ายเงินหมดงานใหม่ไม่สำเร็จก็กลับบ้านและขอเงินที่บ้านอีกก้อนเพื่อเริ่มธุรกิจของตนเอง (ทำแบบไม่มีความรู้มาก่อน ทำไปเรียนรู้ไป) สุดท้ายไปต่อไม่ได้หมดสิ้นทุกอย่างก็กลับมาอยู่ที่บ้านเฉยๆ ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะบอกให้ไปหางานง่ายๆ สบายๆ ก็ปฎิเสธ กลายเป็นหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตอยู่บ้านแบบไม่มีเป้าหมายใดๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาสังคมที่จีนกำลังเผชิญ นับว่าเป็นปัญหาท้าทายระดับชาติเพราะเป็นผลพวงมาจากปัญหาเศรษฐกิจ อีกทั้งการเลี้ยงดูบุตรแบบประคบประหงมตามใจตั้งแต่เด็กยันโต โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกคนเดียวจะถูกตามใจอย่างมาก ภายใต้ภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจที่กดดันในปัจจุบัน หากคนรุ่นใหม่ไม่มีภูมิต้านทานที่ดีพอมักจะยอมแพ้และกลับบ้านเข้าสู่ “วงจรกัดกินผู้สูงอายุ” ต่อไป