ข่าวกรองสหรัฐฯ เชื่อว่าเหตุปลดบุคลากรทางทหารระดับสูงในกองทัพจีนก่อนปีใหม่ เกี่ยวข้องกับเหตุคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ในนั้นรวมถึงลอบบรรจุน้ำแทนเชื้อเพลิงในขีปนาวุธ ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก อ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน
บลูมเบิร์กได้ยกตัวอย่างการคอร์รัปชันหลายกรณีภายในกองทัพปลดแอกประชาชน บนพื้นฐานคำประเมินของสหรัฐฯ พร้อมชี้ว่าปัญหาหนักหน่วงที่สุดเกิดขึ้นภายในกองกำลังจรวดของจีน (rocket force) ซึ่งได้มีการลงทุนครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในบรรดาตัวอย่างการคอร์รัปชันเหล่านั้น แหล่งข่าวของบลูมเบิร์ก กล่าวอ้างถึงกรณีที่ขีปนาวุธทั้งหลายของจีนถูกเติมด้วยน้ำแทนเชื้อเพลิง และปัญหาที่ไซโลขีปนาวุธทางตะวันตกของจีน ซึ่งฝาปิดที่ชำรุด ทำให้การยิงกระสุนไม่มีประสิทธิภาพ
บลูมเบิร์กอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ปัญหาคอร์รัปชันภายในกองกำลังจรวดและอุตสาหกรรมกลาโหมหนักหน่วงมากเสียจน เวลานี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มองว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มีความเป็นไปได้น้อยลงที่จะครุ่นคิดเกี่ยวกับการเปิดปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
วอชิงตันเชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันได้กัดเซาะความเชื่อมั่นที่มีต่อศักยภาพโดยรวมของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปักกิ่ง และยังเป็นตัวถ่วงแผนการของประธานาธิบดีสี ที่จะเปลี่ยนกองทัพจีน เป็นกองกำลังทันสมัย ภายในปี 2027
อย่างไรก็ตาม คำประเมินเน้นย้ำว่า ผู้นำจีนไม่ได้อ่อนแอลงจากการลงมือกวาดล้างในวงกว้าง "การตัดสินใจของสี ในการปลดบุคคลทางทหารระดับสูง แสดงให้เห็นว่าเขายังคงกุมอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างหนักแน่น และแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของเขา ต่อการปรับปรุงระเบียบวินัย กำจัดคอร์รัปชันและท้ายที่สุดแล้ว คือเตรียมพร้อมกองทัพจีนสำรับการสู้รบในระยะยาว" รายงานข่าวระบุ
กระนั้นทั้งหมดทั้งมวลนี้ บลูมเบิร์กเน้นย้ำว่าคำประเมินของสหรัฐฯ ไม่ได้รับการยืนยันหรือผ่านการตรวจสอบโดยอิสระ ขณะที่กระทรวงกลาโหมของจีนหรือเจ้าหน้าที่พลเรือนของจีน ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานดังกล่าว
ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ปักกิ่งแถลงปลดบุคลากรด้านการทหาร 9 นาย ในนั้น 5 นาย เกี่ยวข้องกับกองกำลังจรวด ไม่นานก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูง 3 คน ที่รับผิดชอบในด้านการผลิตขีปนาวุธของประเทศมีอันต้องตกงานเช่นกัน
มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ภายในกองทัพจีนที่ถูกกล่าวหาเช่นกันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึง หลี่ ซ่างฝู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกปลดในช่วงปลายเดือนตุลาคม ท่ามกลางรายงานข่าวว่าเขาเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันอื้อฉาวหนึ่ง
เมื่อวันอาทิตย์ (7 ม.ค.) จีนขึ้นบัญชีดำบริษัทอุตสาหกรรมกลาโหมสหรัฐฯ 5 แห่ง ตอบโต้พฤติกรรมผิดๆ อย่างร้ายแรงของสหรัฐฯ จากคำกล่าวอ้างของปักกิ่ง ในนั้นรวมถึงการยังคงเดินหน้าขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน และการที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรบริษัทต่างๆ ของจีน
(ที่มา : บลูมเบิร์ก/อาร์ทีนิวส์)