ความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น ในการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตแก่ยูเครน จะต้องเจอกับ "ผลสนองเลวร้าย" ในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น จากคำกล่าวของ มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาวเมื่อวันพุธ(27ธ.ค.)
ความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับโตเกียว ที่ยุ่งยากอยู่ก่อนแล้ว เสื่อมทรามลงอย่างหนักนับตั้งแต่รัสเซียส่งทหารหลายหมื่นนายบุกเข้าไปในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ในขณะที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับพันธมิตรตะวันตก กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางเล่นงานรัสเซียเป็นการลงโทษ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ญี่ปุ่นบอกว่าพวกเขาจะเตรียมการส่งมอบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตแก่สหรัฐฯ หลังปรับแก้กรอบในการส่งออกอาวุธ ซึ่งนับเป็นการยกเครื่องในด้านข้อจำกัดด้านการส่งออกดังกล่าว ครั้งใหญ่หนแรกของญี่ปุ่นในรอบกว่า 9 ปี
แม้มาตรการควบคุมการส่งออกของญี่ปุ่น ยังคงห้ามพวกเขาจากการส่งออกอาวุธไปยังประเทศต่างๆที่อยู่ในภาวะสงคราม แต่พวกเขาอาจมอบประโยชน์ทางอ้อมแก่ยูเครนที่กำลังทำสงครามกับรัสเซีย ด้วยการจัดหามันให้แก่สหรัฐฯ เพิ่มขีดความสามารถพิเศษแก่อเมริกาที่จะมอบความช่วยเหลือด้านการทหารให้แก่ยูเครนต่ออีกทอดหนึ่ง
"ฝ่ายญี่ปุ่นสูญเสียการควบคุมอาวุธ ซึ่งเวลานี้วอชิงตันสามารถนำไปทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ" ชาคาโรวากล่าว "มันไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ภายใต้แผนการที่พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ว่าขีปนาวุธแพทริออตเหล่านี้จะไปจบอยู่ในยูเครน"
"สถานการร์เช่นนี้จะสามารถตีความได้ว่า เป็นการกระทำที่เป็นปรปักษ์อย่างโจ่งแจ้งกับรัสเซีย และจะนำมาซึ่งผลสนองร้ายแรงสำหรับญี่ปุ่น ในบริบทความสัมพันธ์ทวิภาคี" เธอกล่าว
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่งต้องส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเฝ้าจับตาเที่ยวบินของเครื่องบินทิ้งระบิดและเครื่องบินขับไล่ของจีนและรัสเซีย ที่บินเข้าใกล้เขตแดนของพวกเขา
รัสเซียและญี่ปุ่น ยังไม่ได้บทสรุปเกี่ยวกับสนธิสัญญาฉบับหนึ่งในการยุติความเป็นปรปักษ์อย่างเป็นทางการในสงครามโลกครั้งที่ 2 สืบเนื่องจากข้อพิพาทด้านเขตแดนที่มีมาอย่างยาวนาน ในนั้นรวมถึงหมู่เกาะหนึ่งในแปซิฟิก ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า นอร์เทิร์น เทอร์ริทอรีส์ ขณะที่รัสเซีย เรียกว่า เซาเทิร์น คูริลส์
แม้กระทั่งก่อนเกิดความขัดแย้งยูเครน ทางโตเกียวได้คว่ำครวญกรณีที่รัสเซียเพิ่มประจำการทางทหารบนหมู่เกาะแห่งนี้ ที่ทางสหภาพโซเวียตยึดมันมาจากญี่ปุ่น ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2
(ที่มา:รอยเตอร์)