ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในวันอังคาร (12 ธ.ค.) เตือนว่าอิสราเอลกำลังสูญเสียแรงสนับสนุนจากทั่วโลก ต่อกรณีทิ้งบอมบ์ถล่มฉนวนกาซาไม่เลือกหน้า และแนะนำเบนจามิน เนทันยาฮู ให้ปรับเปลี่ยนรัฐบาลสายแข็งกร้าวของเขา ความเคลื่อนไหวที่เปิดเผยให้เห็นร่องรอยแตกร้าวใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำอเมริกา กับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล
ความเห็นของ ไบเดน ที่พูดกับบรรดาผู้บริจาคสนับสนุนการหาเสียงของเขาในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ถือเป็นการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ต่อแนวทางรับมือสงครามของอิสราเอลในกาซาของเนทันยาฮู ซึ่งมันสวนทางโดยสิ้นเชิงกับท่าทีโอบอุ้มทางการเมืองผู้นำอิสราเอลรายนี้ ในวันแรกๆ ของสงคราม ตามหลังพวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมทางภาคใต้ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,200 ราย ลักพาตัวไปอีกประมาณ 240 คน
"อิสราเอลสามารถพึ่งพิงสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคง แต่ตอนนี้มันเป็นอะไรที่มากกว่าสหรัฐฯ มันมีสหภาพยุโรป มันมียุโรป มันมีทั่วทั้งโลก แต่พวกเขากำลังเริ่มสูญเสียแรงสนับสนุนเหล่านั้น ด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มไม่เลือกหน้า" ไบเดนกล่าว
ปฏิบัติการแก้แค้นของอิสราเอลได้เข่นฆ่าชีวิตในกาซาไปแล้วกว่า 18,000 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 50,000 คน และก่อวิกฤตด้านมนุษยธรรม ในขณะที่ความเห็นของ ไบเดน เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยแบบลับๆ กับเนทันยาฮู บุคคลที่เขามีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องต่างๆ มานานหลายทศวรรษ
ไบเดน เล่าว่าในการพูดคุยกันแบบเป็นส่วนตัวหนึ่ง ทางผู้นำอิสราเอลบอกกับเขาว่า "คุณปูพรมถล่มเยอรมนี คุณทิ้งระเบิดปรมาณู มีพลเรือนเสียชีวิตมากมาย" ซึ่งกระตุ้นให้ ไบเดน ตอบกลับว่า "ใช่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมสถาบันต่างๆ เหล่านี้ถึงถูกจัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อคอยดูไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง อย่าทำผิดพลาดต่างๆ แบบเดียวกับเราในเหตุการณ์ 9/11 ไม่มีเหตุผลว่าทำไมเราถึงจำเป็นต้องไปทำสงครามในอัฟกานิสถาน"
ความเห็นของความรุนแรงครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน เตรียมเดินทางไปเยือนอิสราเอล เพื่อพูดคุยหารือกับคณะรัฐบาลสงครามของอิสราเอล
เนทันยาฮู ระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในวันอังคาร (12 ธ.ค.) ว่าอิสราเอลได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ สำหรับการรุกรานทางภาคพื้นเข้าสู่ฉนวนกาซา และวอชิงตันขัดขวางแรงกดดันจากนานาชาติที่ต้องการให้หยุดสงคราม อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า "มีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับวันเวลาหลังการจบสิ้นของฮามาส และผมหวังว่าเราจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เช่นกัน"
ประธานธิบดีไบเดน กล่าวพาดพิงโดยตรงถึง อิตามาร์ เบน กาวีร์ นักการเมืองขวาจัดของอิสราเอล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของอิสราเอล และบอกว่า นี่คือคณะรัฐบาลหัวอนุรักษนิยมสุดขั้วที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล "เขา (เนทันยาฮู) จำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลในอิสราเอล กำลังทำให้มันยุ่งยากอย่างมาก"
นอกจากนี้ ไบเดน ยังบอกด้วยว่า ในท้ายที่สุดแล้ว อิสราเอลไม่อาจปฏิเสธรัฐปาเลสไตน์ ที่พวกสายแข็งกร้าวของอิสราเอลต่อต้านมาตลอด "เรามีโอกาสที่จะเริ่มต้นความเป็นหนึ่งเดียวกันของภูมิภาค และพวกเขายังคงต้องการทำมัน แต่เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่า เนทันยาฮู จะตระหนักว่าเขาจำเป็นต้องเคลื่อนไหวบางอย่างเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง คุณไม่อาจปฏิเสธรัฐปาเลสไตน์ มันจะเป็นส่วนที่ยาก"
ในถ้อยแถลงในวันอังคาร (12 ธ.ค.) เนทันยาฮู บอกว่าเขาจะไม่ยอมให้อิสราเอลทำผิดพลาดซ้ำรอยกับข้อตกลงสันติภาพออสโลช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งก่อตั้งองค์การบริหารปาเลสไตน์ ในฐานะส่วนหนึ่งของการเจรจา ในความเป็นไปได้ที่จะตั้งรัฐปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ กาซา และเยรูซาเลมตะวันออก
วอชิงตันเคยเผยว่าพวกเขามองถึงความเป็นไปได้ในการหวนคืนสู่ฉนวนกาซาขององค์การบริหารปาเลสไตน์ ในขณะที่พวกฮามาสยึดกาซามาจากองค์การบริหารปาเลสไตน์ ที่มีฐานบัญชาการในเวสต์แบงก์ เมื่อปี 2007
อย่างไรก็ตาม เนทันยาฮู กล่าวว่า "ผมจะไม่ยอมพวกที่ให้การศึกษาก่อการร้าย สนับสนุนก่อการร้ายและมอบเงินทุนแก่ก่อการร้ายเข้าสู่กาซา" คำกล่าวหาที่ทางองค์การบริหารปาเลสไตน์ปฏิเสธ
ไบเดน เคยแสดงจุดยืนสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล ในการกำจัดพวกนักรบฮามาสในกาซา แต่เขาและคณะทำงานเริ่มมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต
ซัลลิแวน ระบุในวันอังคาร (12 ธ.ค.) ว่าระหว่างการเดินทางเยือนอิสราเอลในช่วงปลายสัปดาห์นี้ เขาจะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่อิสราเอล เกี่ยวกับกรอบเวลาของอิสราเอลสำหรับการทำสงครามในกาซา
กระนั้น ซัลลิแวน ได้กล่าวโทษการพังครืนของข้อตกลงหยุดยิงตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ว่าเป็นเพราะพวกนักรบฮามาสไม่ยอมปล่อยตัวประกันเพิ่มเติม
(ที่มา : รอยเตอร์)