เจ้าหน้าที่กู้ภัยอินเดียช่วยเหลือคนงาน 41 คน ออกจากอุโมงค์ที่พังถล่มแถบเทือกเขาหิมาลัยได้แล้วเมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) หลังติดอยู่ด้านในนานถึง 17 วัน นับเป็นความสำเร็จของภารกิจกู้ภัยครั้งใหญ่ที่เรียกเสียงเฮลั่นทั่วอินเดีย
ปฏิบัติการอพยพคนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานค่าจ้างต่ำจากบรรดารัฐที่ยากจนของอินเดียเริ่มขึ้นประมาณ 6 ชั่วโมงเศษ หลังจากที่ทีมกู้ภัยสามารถขุดเจาะผ่านก้อนหินและเศษซากคอนกรีตเข้าไปยังอุโมงค์ในรัฐอุตตราขัณฑ์ ซึ่งพังถล่มลงมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย.
เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้เปลหามที่มีล้อนำคนงานแต่ละคนผ่านท่อเหล็กที่มีความกว้างเพียง 90 เซนติเมตร และสามารถช่วยพวกเขาออกมาได้จนครบทุกคนภายในเวลาราว 1 ชั่วโมง
“พวกเขายังคงแข็งแรงดีเหมือนกับคุณและผม เรื่องสุขภาพไม่มีอะไรที่น่ากังวล” วากิล ฮัสซัน หัวหน้าทีมกู้ภัยให้สัมภาษณ์
พุชการ์ ซิงห์ ธามี มุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์ และ วี.เค.ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทางหลวงของอินเดีย ได้นำพวงมาลัยดอกดาวเรืองไปคล้องคอคนงานรายแรกที่ได้รับการช่วยเหลือ เพื่อเป็นการรับขวัญในสไตล์ชาวอินเดีย
คนงานหลายคนออกมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และประนมมือแสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ให้การช่วยเหลือ
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า “ผมขอฝากถึงมิตรสหายทุกท่านที่ติดอยู่ภายใต้อุโมงค์ว่า ความกล้าหาญและความอดทนของพวกท่านเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราทุกคน”
“เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่มิตรสหายของเราจะได้พบหน้าบุคคลที่รักอีกครั้งหลังจากที่รอคอยมานาน ความอดทนและความกล้าหาญที่ครอบครัวของพวกเขาได้แสดงออกในช่วงเวลาอันยากลำบากเป็นสิ่งที่พวกเราซาบซึ้งใจ”
โมดี ยังได้โทรศัพท์พูดคุยกับบรรดาคนงานเพื่อถามไถ่สุขภาพของพวกเขา ตามรายงานจากสถานีโทรทัศน์ของอินเดีย
นิทิน กัดคารี รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและทางหลวงแห่งอินเดียได้กล่าวขอบคุณทีมกู้ภัย พร้อมยืนยันว่าจะเริ่มต้นตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของอุโมงค์แห่งนี้
รถพยาบาลซึ่งจอดเรียงรายอยู่ที่ปากทางเข้าอุโมงค์ได้นำคนงานทั้ง 41 คนไปส่งโรงพยาบาลซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 30 กิโลเมตร โดยคาดว่าทุกคนจะได้รับอนุญาตให้กลับไปยังรัฐบ้านเกิดหลังจากที่แพทย์ทำการตรวจร่างกายแล้ว
อุโมงค์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงชาร์ธัม (Char Dham) หนึ่งในโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลโมดี ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเชื่อมโยงสถานที่แสวงบุญ 4 แห่งของชาวฮินดูด้วยเครือข่ายถนนที่มีระยะทางรวม 890 กิโลเมตร
ทางการอินเดียยังไม่ฟันธงสาเหตุที่อุโมงค์พังถล่มลงมา ทว่าภูมิภาคแถบนี้มีภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเช่นดินถล่ม แผ่นดินไหว และอุทกภัยเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้ามาตรวจสอบสาเหตุที่อุโมงค์ถล่มให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า อุโมงค์แห่งนี้ไม่มีทางออกฉุกเฉิน และยังมีการสร้างทับบริเวณรอยเลื่อน (geological fault) อีกด้วย
ที่มา : รอยเตอร์