เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่กู้ภัยอินเดียกำลังพิจารณาขุดโพรงใหม่เพื่อช่วยเหลือคนงาน 41 คนที่ติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่มลงมาก่อนหน้านี้ หลังจากการขุดเจาะบริเวณดังกล่าวต้องหยุดลงเนื่องจากกังวลว่า อุโมงค์จะยิ่งทรุดลง ขณะที่ความพยายามในการกู้ภัยล่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง
ทางการอินเดียใช้รถขุดตักดิน คอนกรีต และเศษปรักหักพังออกจากอุโมงค์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในรัฐอุตรระขันฑ์ทางเหนือของประเทศ นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่แล้ว (12 พ.ย.) หลังจากอุโมงค์บางส่วนพังถล่มลงมา
ความพยายามในการกู้ภัยล่าช้าออกไปเนื่องจากเศษปรักหักพังยังคงร่วงลงไป ขณะที่เครื่องขุดเจาะขนาดใหญ่พัง และกองทัพอากาศขนเครื่องขุดเจาะใหม่ไปเปลี่ยน 2 เครื่อง
เจ้าหน้าที่ทางหลวงของรัฐบาลอินเดียและบริษัทโครงสร้างพื้นฐาน NHIDCL เผยว่า การขุดเจาะซากอุโมงค์ที่หนักหลายตันต้องหยุดลงเมื่อคืนวันศุกร์ (17 พ.ย.) หลังได้ยินเสียงรอยแตกที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และมีความเป็นไปได้ว่าอุโมงค์อาจถล่มลงอีก
ญาติพี่น้องที่ใช้วิทยุสื่อสารกับผู้ที่ติดอยู่ในอุโมงค์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันเสาร์ (18 พ.ย.) ว่า บุคคลเหล่านั้นหวาดกลัวมากและเริ่มถามว่า มีปฏิบัติการกู้ภัยจริงหรือไม่
เหล่าวิศวกรพยายามดันท่อเหล็กกล้ากว้างประมาณ 90 เซนติเมตรผ่านซากปรักพักพังเพื่อทำให้มีช่องว่างเพียงพอที่จะดึงผู้ประสบภัยขึ้นมา
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของรัฐบาลอินเดียที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการกู้ภัย เผยว่า ขณะนี้ ทีมกู้ภัยกำลังสำรวจความเป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาขุดโพรงใหม่ และยืนยันว่า ไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร ตัวเลือก หรือวิธีการ
เขาเสริมว่า ทีมกู้ภัยกำลังพิจารณาช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ภายในเวลา 4-5 วัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ ด้านสำนักข่าวเพรสส์ทรัสต์ของอินเดียรายงานว่า การเตรียมการขุดเจาะช่องแนวตั้งจากบนภูเขาเริ่มต้นขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้วิทยุสื่อสารกับคนงานที่ติดอยู่ใต้อุโมงค์ รวมทั้งส่งอาหาร น้ำ ออกซิเจน และยาลงไปให้ผ่านท่อที่มีความกว้าง 15 เซนติเมตร
อาร์โนลด์ ดิกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุโมงค์ และนักตรวจสอบภัยพิบัติอิสระ อีกทั้งยังเป็นประธานอินเตอร์เนชันแนล ทันเนลลิง แอนด์ อันเดอร์กราวนด์ สเปซ แอสโซซิเอชัน เผยว่า กำลังเดินทางไปอินเดียหลังจากได้รับคำขอความช่วยเหลือ และเสริมว่า กำลังพิจารณาตัวเลือกต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนงานเหล่านั้นขึ้นมาอย่างปลอดภัย
ผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากการก่อสร้างในพื้นที่ขนาดใหญ่ในรัฐอุตรระขัณฑ์ ซึ่งพื้นที่กว้างขวางมีแนวโน้มดินถล่ม
ดิกซ์ทิ้งท้ายว่า อุโมงค์เป็นบริเวณที่ยากลำบากที่สุด แต่เขามั่นใจว่าจะสามารถช่วยพนักงานขึ้นมาได้