ทางการนิการากัวเล่นบทโหด หลัง “เชย์นิส ปาลาซิโอส” นางงามที่เป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลคว้ามงกฎมิสยูนิเวิร์ส สั่งห้ามผู้จัดการประกวดระดับชาติกลับเข้าประเทศ ด้านนักเขียนที่ลี้ภัยอยู่ในสเปนยันผู้ออกคำสั่งคือรองประธานาธิบดีที่เป็นภรรยาของผู้นำนิการากัว แดเนียล ออร์เตกา
หนังสือพิมพ์ลา เปรนซา ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพรรคฝ่ายค้านนิการากัวรายงานข่าวบนเว็บไซต์ของตนที่ตั้งฐานอยู่ในประเทศคอสตาริกา ระบุว่า คาเรน เซเลเบอร์ติ เจ้าของสิทธิจัดการประกวดมิสนิการากัว เพื่อส่งเข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์ส พร้อมด้วยบุตรสาว ได้ถูกทางการควบคุมตัวภายหลังเดินทางถึงท่าอากาศยานเมืองหลวงมานากัว ไม่กี่วันหลังจากปาลาซิโอส วัย 23 ปี เป็นนางงามนิการากัวคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนามงามจักรวาล และจากนั้นทั้งเซเลเบอร์ติ และบุตรสาวถูกนำขึ้นเครื่องบินไปยังเม็กซิโก
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า เหตุใดเซเลเบอร์ติที่เป็นชาวนิการากัวจึงถูกห้ามเข้าประเทศ ขณะที่รัฐบาลนิการากัวไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
ทางด้าน จิโอคอนดา เบลลี นักเขียนที่อาศัยอยู่ในสเปนหลังถูกรัฐบาลนิการากัวริบสัญชาติ ยืนยันว่า ผู้ออกคำสั่งห้ามเซเลเบอร์ติเข้าประเทศคือ รองประธานาธิบดีโรซาริโอ มูริลโญ ซึ่งเป็นภรรยาของประธานาธิบดีแดเนียล ออร์เตกา แม้เซเลเบอร์ติสามารถช่วยให้นิการากัวคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สมาครองก็ตาม
สื่อของฝ่ายค้านยังรายงานว่า บ้านของเซเลเบอร์ติในกรุงมานากัว ได้ถูกค้นเมื่อวันศุกร์ (24 พ.ย.) และสามีของเธอคือ มาร์ติน อาร์เกลโล ถูกควบคุมตัวช่วงสั้นๆ
ทางด้านองค์การนางงามจักรวาล ที่เป็นผู้จัดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ออกคำแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลนิการากัวรับประกันความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดประกวดมิสนิการากัว
นับจากได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลในการประกวดที่กรุงซานซัลวาดอร์ เมืองหลวงของเอลซัลวาดอร์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ปาลาซิโอส ก็ได้รับการเปิดเผยอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านการปกครองของออร์เตกา ภาพที่เธอโบกธงชาติในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2018 กลายเป็นไวรัล
และชัยชนะของปาลาซิโอสทำให้ชาวนิการากัวพากันออกไปฉลองบนท้องถนน ซึ่งถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับจากที่รัฐบาลสั่งห้ามการชุมนุมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
เมื่อวันพุธ (22) ที่ผ่านมา รองประธานาธิบดีมูริลโญ กล่าวหาการเผยแพร่ภาพเหล่านั้นว่า เป็นการสื่อสารของผู้ก่อการร้ายที่ประสงค์ร้ายและต้องการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลางดงามของความภาคภูมิใจและการฉลองที่คู่ควรให้กลายเป็นการรัฐประหารยึดอำนาจมุ่งทำลายล้าง
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนิการากัวเชิดชูชัยชนะของปาลาซิโอส เป็นสัญญาณของความหวัง ผู้ชุมนุมบางส่วนของฝูงชนที่ออกมาชุมนุมฉลอง พากันโบกธงชาติที่เป็นสีฟ้า-ขาว และถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาล ไม่ใช่ธงแดง-ดำของแนวร่วมซานดินิสตา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของออร์เตกา
แหล่งข่าวในฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผยด้วยว่า เมื่อวันอังคาร (21) ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐบาลได้ห้ามศิลปิน 2 คนวาดภาพมิสยูนิเวิร์สบนกำแพงในเมืองเอสเตลิ ที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ และภาพที่วาดค้างอยู่นี้ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย
ผู้ลี้ภัยหลายคนยังมองชุดที่ปาลาซิโอสสวมขณะได้รับการสวมมงกุฎซึ่งเป็นชุดสีขาวพร้อมผ้าคลุมไหล่สีฟ้าว่า เป็นสัญลักษณ์ชวนให้ระลึกถึงภาพนักบุญองค์อุปถัมภ์ของนิการากัวคือ แม่พระปฏิสนธินิรมล
(Virgin of the Immaculate Conception) ขณะที่รัฐบาลนิการากัวพยายามปราบปรามคริสตจักรคาทอลิก
ทั้งนี้ ในการปราบปรามผู้ประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2018 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 350 คน และผู้ลี้ภัยกว่า 100,000 คน นับจากนั้นรัฐบาลได้จับกุมและคุมขังผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หลายร้อยคน
สำหรับปาลาซิโอสนั้น เติบโตในเมืองดิเรียมบา เธอ แม่ และยายเริ่มทำธุรกิจด้วยการขายขนมแป้งทอด
ปาลาซิโอสจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล อเมริกัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งและดำเนินการโดยคณะนักบวชเยซูอิต และถูกรัฐบาลสั่งปิดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยข้อหาเป็น “ศูนย์กลางการก่อการร้าย”
มิสยูนิเวิร์สคนล่าสุดที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินสายไปยังประเทศต่างๆ ประกาศมอบชัยชนะของเธอให้แก่ชาวนิการากัว 6 ล้านคนทั้งที่อยู่ในประเทศและที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศต่างๆ
(ที่มา : เอเอฟพี)