ผู้ประท้วงหลายร้อยคนเดินขบวนบริเวณท่าเรือทาโคมา ในรัฐวอชิงตัน ของสหรัฐฯ พยายามขัดขวางเรือลำเลียงทางทหารของกองทัพอเมริกา ที่พวกเขาเชื่อว่ากำลังบรรทุกอาวุธจากสหรัฐฯ ไปส่งมอบแก่อิสราเอล
ผู้ชุมนุมมีความกังวลว่าอาวุธที่อยู่บนเรือลำนี้ จะถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการของอิสราเอล ในการระดมโจมตีถล่มฉนวนกาซา ซึ่งสังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วมากกว่า 10,000 คน "เราต้องการให้หยุดยิงเดี๋ยวนี้ เราต้องการให้ประชาชนออกมาหยุดการฆาตกรรมเดี๋ยวนี้เลย เราต้องการให้มีการตรวจสอบอย่างแท้จริงในด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และเงินทุนของสหรัฐฯ ที่มอบแก่อิสราเอล" วาสซิม เฮก หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าว
แกนนำการชุมนุมอ้างว่าได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม เปิดเผยว่าเรือลำนี้จะบรรทุกอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารส่งมอบแก่อิสราเอล ในขณะที่รัฐยิวยังคงเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา
สำนักข่าวอัลจาซีราห์ ไม่ยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าว ส่วน เจฟฟ์ เจอร์เกนเซน โฆษกเพนตากอน บอกแต่เพียงว่าเรือลำนี้ถูกใช้สำหรับสนับสนุนความเคลื่อนไหวขนส่งสินค้าทางทหาร และปฏิเสธให้ข้อมูลเพิ่มเติม "สืบเนื่องจากความปลอดภัยของปฏิบัติการ กระทรวงกลาโหมไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับการขนส่งเพิ่มเติม หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่อยู่บนเรือได้"
พวกผู้ประท้วงพากันโบกธงปาเลสไตน์ ชูป้ายข้อความเขียนว่า "ปกป้องกาซา" และตะโกนคำขวัญต่างๆ อย่างเช่น "ปลดปล่อยปาเลสไตน์" และ "อย่ามอบเงินให้อาชญากรอิสราเอล"
ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ตอนที่เรือเคป ออร์แลนโด จอดเทียบเท่าในโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เรีย พวกผู้ประท้วง 3 คน บุกรุกขึ้นไปล็อกตัวเองเข้ากับบันไดเรือ ส่งผลให้เรือลำดังกล่าวต้องออกเดินทางล่าช้านานหลายชั่วโมง
ยามชายฝั่งสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงในเวลาต่อมาว่า ในท้ายที่สุดแล้วพวกเขาสามารถเคลื่อนย้ายพวกผู้ประท้วง 3 คนลงจากเรือ และเวลานี้ทั้งหมดกำลังถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหากระทำผิดตามกฎหมายรัฐบาลกลาง
ความพยายามของพวกผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ ที่ขัดขวางเรือทั้งหลายที่เชื่อว่ากำลังส่งมอบอาวุธแก่อิสราเอล มีขึ้นไม่นาน หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องสภาคองเกรสจัดสรรเงินช่วยเหลือแก่อิสราเอลอีกมากกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากระดับ 3,800 ล้านดอลลาร์ ที่อเมริการับปากมอบให้อิสราเอลอยู่ก่อนแล้ว สำหรับปี 2023
สหรัฐฯ คือผู้มอบความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่ที่สุดของอิสราเอล นับตั้งแต่ประเทศแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1948 โดยความช่วยเหลือดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของงบประมาณด้านกลาโหมของอิสราเอล
ตามหลังอิสราเอลถูกพวกนักรบฮามาสบุกโจมตีอย่างไม่คาดคิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ไบเดนยังได้แถลงถึงความตั้งใจมอบความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมแก่อิสราเอล ในนั้นรวมถึงกระสุนและจรวดสกัดกั้นที่จะเข้ามาเติมเต็ม ระบบป้องกันขีปนาวุธ "ไอรอนโดม" ของอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม เอเลียส ยัวซิฟ นักวิจัยด้านโปรแกรมกลาโหมทั่วไป ณ ศูนย์สติมซัน สถาบันวิจัยที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ ชี้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบว่าอาวุธชนิดใดบ้างที่สหรัฐฯ โอนถ่ายไปอิสราเอล อันเนื่องจากขาดความโปร่งใสในส่วนของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน
"อย่างน้อยๆ อย่างเป็นทางการ สหรัฐฯ แทบไม่มีถ้อยแถลงใดๆ ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธที่ทำการขนส่งเลย" เขากล่าว "ต่างจากสงครามในยูเครน ซึ่งเรามีเอกสารข้อเท็จจริง ในการจัดหาของกระทรวงการต่างประเทศ เรามีหลักการที่ต่างออกไปในเรื่องการเดินหน้าและหาทางโอนถ่ายอาวุธป้อนแก่อิสราเอล"
ด้วยเหตุนี้ ซาราห์ ยาเกอร์ ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอตช์ สาขาวอชิงตัน จึงเชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่อาวุธสหรัฐฯ จะถูกใช้ในฉนวนกาซา "เนื่องด้วยความหนักหน่วงของการสู้รบ ฉันพูดได้เกือบแน่ใจเลยว่า อาวุธของสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับการสู้รบในกาซา" พร้อมเผยว่าองค์กรของเธอกำลังกดดันบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้ทำการตรวจสอบความช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบแก่อิสราเอล
"ณ เวลานี้ สภาคองเกรสหน้าที่หลักของพวกเขาคือตรวจสอบการขายอาวุธ" ยาเกอร์กล่าว "ดังนั้น ถ้าพวกเขาไม่ถามว่าอาวุธเหล่านี้จะถูกส่งไปไหน และพวกมันจะถูกใช้งานอย่างไร เมื่อนั้นก็เท่ากับว่า พวกเขาไม่ทำหน้าที่ของตนเอง" ยาเกอร์ระบุ
ก่อนหน้านี้ ฮิวแมนไรท์วอตช์ เรียกร้องประเทศต่างๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ ระงับถ่ายโอนอาวุธแก่อิสราเอล เช่นเดียวกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ของปาเลสไตน์ เนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่อาวุธเหล่านั้นจะถูกใช้กระทำผิดใหญ่หลวง
ในขณะที่ ฮิวแมนไรท์วอตช์ ประณาม ฮามาส ต่อเหตุเล่นงานพลเรือน ในเหตุจู่โจมอิสราเอลอย่างไม่คาดคิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม แต่พวกเขาก็กล่าวหาอิสราเอลเช่นกัน ต่อการลงโทษร่วมประชาชนชาวปาเลสไตน์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่ที่มีประชาชนพักอาศัยอยู่หนาแน่น รวมถึงตัดขาดปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็น อย่างเช่นอาหาร และน้ำ
นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอตช์ยังสงสัยว่า อิสราเอลใช้อาวุธฟอสฟอรัสขาว สารเคมีมีพิษที่สามารถเผาไหม้ด้วยอุณหภูมิรุนแรงและเป็นสิ่งผิดกฎหมายหากใช้กับพลเรือน แต่ทาง อิสราเอล ยืนกรานปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ใช้สารเคมีชนิดนี้กับพลเรือน
ยาเกอร์บอกว่า สหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบต้องรับประกันว่าเงินและอาวุธของพวกเขาจะไม่ถูกนำไปใช้ก่ออันตรายแก่พลเรือน
(ที่มา : อัลจาซีราห์)