ทางการรัสเซียแถลงในวันจันทร์ (30 ต.ค.) กล่าวหายูเครนเป็นตัวการสร้างเรื่อง “ยั่วยุ” ขึ้นมา จากกรณีที่มีผู้ก่อจลาจลหลายร้อยคนในแคว้นดาเกสถาน ซึ่งเป็นดินแดนของรัสเซียที่ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม บุกเข้าไปในสนามบินของเมืองหลวงของแคว้น เพื่อ “จับตัว” ผู้โดยสารชาวยิวบนเครื่องบินที่เดินทางมาจากกรุงเทลอาวีฟ
ทางด้านยูเครนแถลงว่าตนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 20 คน
สำหรับอิสราเอลนั้น ภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่สนามบินมาฮัชกาลา เมืองเอกของสาธารณรัฐดาเกสถาน รัสเซีย เมื่อวันอาทิตย์ (29) แล้ว ได้ออกมาเรียกร้องรัสเซียต้องปกป้องพลเมืองของตน ขณะที่อเมริกาผสมโรงประณามการประท้วงต่อต้านยิว
จากคลิปวิดีโอที่โพสต์บนโซเชียลมีเดีย รวมทั้งรายงานจากสื่อท้องถิ่นของรัสเซียเผยให้เห็นผู้ประท้วงหลายร้อยคน ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้ตะโกนคำภาษาอาหรับว่า “อัลลาฮู อัคบาร์” (พระเจ้ายิ่งใหญ่ที่สุด) พังประตูและสิ่งกีดขวางเข้าสู่สนามบินมาฮัชกาลา และบางคนพุ่งเข้าไปที่รันเวย์เพื่อพยายามค้นหาชาวอิสราเอลและชาวยิวอื่นๆ หลังมีข่าวลือว่า มีเที่ยวบินขนพวกผู้ลี้ภัยจากอิสราเอล
นอกจากนั้น ยังมีผู้ประท้วงอีกหลายสิบคนด้านนอกสนามบินพยายามหยุดรถ โดยผู้ประท้วงคนหนึ่งถือป้ายที่มีข้อความว่า “ดาเกสถานไม่มีที่ว่างสำหรับพวกฆาตกรฆ่าเด็ก”
ป้ายอีกแผ่นหนึ่งเขียนว่า “เราไม่ต้องการผู้ลี้ภัยชาวยิว”
หลังจากนั้นไม่นาน โรซาเวียตซิยา หรือสำนักงานการบินรัสเซียประกาศปิดสนามบินและกองกำลังความมั่นคงเดินทางไปถึง จากนั้นทางการท้องถิ่นประกาศผ่านแอปเทเลแกรมว่า สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว
คืนวันอาทิตย์ โรซาเวียตซิยาประกาศว่า ไม่มีม็อบในสนามบินดังกล่าวแล้วแต่จะยังคงปิดให้บริการจนถึงวันที่ 6 พ.ย. ก่อนออกมาแก้ไขว่า จะเปิดทำการอีกครั้งในวันอังคาร (31 ต.ค.)
วันจันทร์ (30) ตำรวจรัสเซียเผยว่า จับกุมผู้ต้องสงสัยบุกสนามบินในดาเกสถานได้ 60 คน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยดาเกสถานแถลงว่า มีผู้เข้าร่วมก่อความไม่สงบทั้งสิ้นกว่า 150 คน และมีตำรวจ 9 นายได้รับบาดเจ็บระหว่างพยายามฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ซึ่ง 2 นายในจำนวนนี้ต้องนำส่งโรงพยาบาล
ขณะที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเผยว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บในสนามบิน 20 คน ก่อนที่กองกำลังความมั่นคงจะควบคุมสถานการณ์ได้ พร้อมระบุว่า ผู้โดยสารบนเครื่องบินปลอดภัย
เว็บไซต์ไฟลต์เรดาร์ระบุว่า เที่ยวบินของสายการบิน “เรด วิงส์” จากเทลอาวีฟลงจอดที่มาฮัชกาลาเมื่อเวลา 19.00 น.วันอาทิตย์ ขณะที่สื่อรัสเซียรายงานว่า เที่ยวบินดังกล่าวแค่แวะจอด 2 ชั่วโมงก่อนมุ่งหน้าสู่มอสโก
ค่ำวันอาทิตย์ สำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกคำแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการรัสเซียปกป้องพลเมืองอิสราเอลและยิวทั้งหมด และจัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้ก่อจลาจลและการยั่วยุให้ก่อความรุนแรงกับคนยิวและอิสราเอล
ที่วอชิงตัน เอเดรียนน์ วัตสัน โฆษกหญิงของสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า อเมริกาประณามการประท้วงต่อต้านยิวในดาเกสถาน ซึ่งเป็นสาธารณรัฐของรัสเซีย และสำทับว่า อเมริกาจะยืนหยัดเคียงข้างชุมชนชาวยิวท่ามกลางกระแสต่อต้านยิวที่กำลังโหมกระพือทั่วโลก
ขณะเดียวกัน อัคห์เมด ดูดาเยฟ รัฐมนตรีสารสนเทศสาธารณรัฐเชชเนียที่อยู่ติดกับดาเกสถาน เตือนผ่านเทเลแกรมให้ระวังการยั่วยุ และเรียกร้องความสงบท่ามกลางสถานการณ์ในคอเคซัสที่ตึงเครียดยิ่งขึ้น
รายงานข่าวของสื่อรัสเซียระบุว่า ฝูงชนไปรวมตัวกันที่สนามบินคราวนี้ หลังจากมีข้อความทางแอปเทเลแกรม เรียกร้องให้ชาวดาเกสถานไปพบกับ “พวกแขกที่ไม่ได้รับเชิญ” และเพื่อทำให้เครื่องบินลำดังกล่าวตลอดจนผู้โดยสารบนเครื่องต้องออกไปและบินไปที่อื่น
ข้อความดังกล่าวนี้โพสต์อยู่บนช่อง “ยูโทร ดาเกสถาน” ของเทเลแกรม
ทางด้านโฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ แถลงในวันจันทร์ว่า ประธานาธิบดีจะจัดการประชุมในเวลาต่อไปของวันจันทร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการที่ฝ่ายตะวันตกกำลังพยายามใช้วิกฤตในตะวันออกกลางเพื่อแบ่งแยกสังคมของชาวรัสเซีย
ถ้าหากเกิดความไม่สงบขึ้นมาอีกในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งกองกำลังความมั่นคงของรัสเซียเคยสู้รบอย่างดุเดือดกับพวกผู้ก่อความไม่สงบอิสลามิสต์เมื่อราว 10-20 ปีก่อน ก็จะเป็นเรื่องปวดหัวหนักสำหรับปูติน ผู้ซึ่งกำลังทำสงครามในยูเครนอยู่แล้ว และมุ่งหวังที่จะรักษาเสถียรภาพภายในบ้านเอาไว้ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในรัสเซียซึ่งคาดหมายกันว่าจะมีขึ้นในปีหน้า
เปสคอฟบอกว่า ความรุนแรงที่สนามบินคราวนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลภายนอก และ “พวกผู้ไม่หวังดี” ซึ่งต้องการใช้ภาพความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในกาซา มาปั่นหัวประชาชนของรัสเซีย
“เป็นที่ทราบกันดีและเห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ท่าอากาศยานมาฮัชกาลาเมื่อวานนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลของการแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งอิทธิพลทางข้อมูลข่าวสาร” เปสคอฟบอก
ในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกคำแถลง ระบุชื่อยูเครนว่าเป็นผู้ต้องสงสัยรายสำคัญ โดยเธอบอกว่าพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของยูเครนได้แสดง “บทบาทโดยตรงและสำคัญ” ในการตระเตรียมเพื่อให้เกิดสิ่งที่เธอเรียกว่า “การยั่วยุ” ขึ้นมา
ทั้งนี้ เธออ้างอิงถึงพวกทรัพยากรทางออนไลน์ที่มีความเชื่อมโยงกับ อิลยา โปโนมารีออฟ อดีตสมาชิกรัฐสภาชาวรัสเซียซึ่งเวลานี้หลบไปตั้งฐานอยู่ในยูเครนและก่อตั้งกลุ่มต่อต้านเครมลินขึ้นมา
ตัวโปโนมารีออฟ แถลงในวันจันทร์ยอมรับว่า เขาเคยเป็นนายทุนคนหนึ่งในช่อง “ยูโทร ดาเกสถาน” ของเทเลแกรม แต่ตอนนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรด้วยแล้ว
ด้าน มีคาอิโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาคนหนึ่งสำคัญของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน บอกกับรอยเตอร์ว่า เคียฟ “ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง” กับความไม่สงบที่สนามบินดาเกสถาน
ขณะที่ตัวเซเลนสกีเอง กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (29) ประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นผลมาจาก “วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังประเทศอื่นๆ ซึ่งถูกโฆษณาชวนเชื่อเอาไว้โดยทีวีของภาครัฐ พวกที่อ้างตนเป็นผู้รู้ด้านต่างๆ ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของทางการรัสเซีย”
ด้านรัฐบาลดาเกสถานโพสต์บนเทเลแกรมเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องยุติการกระทำผิดกฎหมาย แม้โกรธแค้นการสังหารหมู่พลเรือนปาเลสไตน์ก็ตาม
เซียร์เก เมลิคอฟ ผู้ว่าการดาเกสถานโพสต์บนเทเลแกรมเมื่อคืนวันอาทิตย์ว่า ชาวดาเกสถานทั้งหมดเข้าใจความทุกข์ยากของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำของบุคคลและนักการเมืองที่ไม่มีความชอบธรรม และสวดอ้อนวอนขอให้ปาเลสไตน์ได้พบสันติภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสนามบินมาฮัชกาลาเป็นการกระทำอุกอาจและต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ทั้งดาเกสถานและเชเชนมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความตึงเครียดและความรุนแรงต่อเนื่องยาวนานกับรัฐบาลกลางของรัสเซีย
สำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสตีรายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่า ศูนย์ชาวยิวในเมืองนัลชิก สาธารณรัฐคาบาร์ดีโน-บัลคาเรีย ในภูมิภาคคอเคซัสเหนือ เช่นเดียวกับดาเกสถานและเชเชน ถูกลอบวางเพลิง
นอกจากในรัสเซียแล้ว กระแสต่อต้านยิวและสนับสนุนปาเลสไตน์ยังแพร่หลายทั่วโลก โดยเมื่อวันอาทิตย์มีผู้คนราว 35,000 คนเดินขบวนสนับสนุนปาเลสไตน์ในกรุงมาดริดของสเปน และเรียกร้องให้อิสราเอลและฮามาสหยุดยิงทันที
ที่เอเธนส์วันเดียวกัน ฝูงชนกว่า 5,000 คนชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา พร้อมประณามอิสราเอลว่าเป็น “รัฐฆาตกร” และประณามรัฐบาลกรีซที่งดออกเสียงในการลงมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันทีในกาซาเมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.)
นอกจากนี้ ยังมีคนนับพันเดินขบวนสนับสนุนปาเลสไตน์ในอังกฤษเมื่อวันเสาร์ (28 ต.ค.) เรียกร้องให้หยุดยิงขณะที่อิสราเอลโจมตีกาซาหนักขึ้น และมวลชนจำนวนมากประท้วงในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งนิวยอร์ก
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)