ผู้คนหลายแสนคนเดินขบวนตามเมืองต่างๆ ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ในวันเสาร์ (28 ต.ค.) แสดงจุดยืนสนับสนุนปาเลสไตน์ เรียกร้องสิทธิการมีชีวิตอยู่ของชาวปาเลสไตน์ ในขณะที่กองทัพอิสราเอลยกระดับโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นถล่มฉนวนกาซา แก้แค้นเหตุนักรบฮามาสบุกจู่โจมอาละวาดเข่นฆ่าชีวิตผู้คคนในอิสราเอลเมื่อช่วงต้นเดือน
หนึ่งในการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดเกิดขึ้นในลอนดอน โดยภาพถ่ายทางอากาศพบเห็นฝูงชนจำนวนมากเดินขบวนไปทั่วใจกลางเมืองหลวง วิงวอนให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา
"พวกมหาอำนาจไม่ได้แสดงบทบาทมากพอในเวลานี้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงมาอยู่ที่นี่ เราเรียกร้องสำหรับการหยุดยิง เรียกร้องสำหรับสิทธิต่างๆ ของชาวปาเลสไตน์ สิทธิการอยู่รอด สิทธิมนุษยชน และสิทธิทั้งหมดของเรา" ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าว "นี่ไม่เกี่ยวกับฮามาส แต่มันเกี่ยวข้องกับการปกป้องชีวิตชาวปาเลสไตน์"
การประท้วงในลอนดอนเกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ สำหรับการชุมนุมรอบสถานทูตอิสราเอล ทั้งนี้ การเดินขบวนส่วนใหญ่แล้วเป็นไปอย่างสันติ แต่ตำรวจเปิดเผยว่าได้ทำการจับกุมขาป่วนไป 9 ราย โดยในนั้น 2 คน ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ และอีก 7 คน ก่อความปั่นป่วนแก่ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และบางส่วนในนั้นจะถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง
ตำรวจประมาณการว่า มีผู้ออกมาร่วมเดินขบวนราว 50,000 คน ถึง 70,000 คน
สะท้อนจุดยืนเดียวกับวอชิงตัน นายกรัฐมนตรีซูแน็ก ไม่ได้เรียกร้องสำหรับข้อตกลงหยุดยิง แต่สนับสนุนการหยุดพักด้านมนุษยธรรม เปิดทางส่งมอบความช่วยเหลือเข้าไปยังฉนวนกาซา
ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล ตามหลังเหตุพวกฮามาสบุกโจมตีนองเลือดเล่นงานอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
ยอดผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาพุ่งแตะระดับ 7,650 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ถล่มแก้แค้นเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน
มีแรงสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งและความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอิสราเอล จากบรรดารัฐบาลตะวันตกและพลเรือนจำนวนมากต่อเหตุถูกพวกฮามาสโจมตี อย่างไรก็ตาม การตอบโต้แก้แค้นของอิสราเอลก็โหมกระพือความโกรธแค้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกอาหรับและเหล่าประเทศมุสลิมทั้งหลาย
ในมาเลเซีย ฝูงชนจำนวนมากตะโกนสโลแกนต่อต้านปฏิบัติการของอิสราเอลต่างๆ บริเวณด้านนอกสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์
ส่วนในตุรกี ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ปราศรัยกับผู้สนับสนุนหลายแสนคน ณ การชุมนุมใหญ่ในอิสตันบูล เรียกอิสราเอลว่าเป็นผู้บุกรุก และเน้นย้ำจุดยืนของเขาที่ว่าพวกฮามาส ไม่ใช่องค์กรก่อการร้าย หลังจากก่อนหน้านี้ แอร์โดอัน เคยเรียกเสียงดุด่าอย่างรุนแรงมาจากอิสราเอล เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ หลังเรียกพวกติดอาวุธกลุ่มนี้ว่าเป็น "นักรบเพื่อเสรีภาพ"
ชาวอิรักจำนวนมากเข้าร่วมเดินขบวนในแบกแดด ส่วนในเวสต์แบงก์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง พวกผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ในวันเสาร์ (28 ต.ค.) เรียกร้องทั่วโลกแบนผลิตภัณฑ์ของอิสราเอล "อย่างสนับสนุนการเข่นฆ่าเด็กๆ ปาเลสไตน์" พวกเขาตะโกน
ในยุโรป พบเห็นผู้คนเดินขบวนตามท้องถนนสายต่างๆ ทั้งในกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก กรุงโรมของอิตาลี และกรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน
บางเมืองในฝรั่งเศส สั่งห้ามการชุมนุมนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น ด้วยเกรงว่ามันอาจโหมกระพือความตึงเครียดทางสังคม แต่แม้จะมีคำสั่งแบนในปารีส ยังพบเห็นคนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันประท้วงเป็นกลุ่มเล็กๆ ในวันเสาร์ (28 ต.ค.) นอกจากนี้ ประชาชนอีกหลายร้อยคนยังได้เดินขบวนในเมืองมาร์กเซย์ ทางภาคใต้ของประเทศด้วย
ที่กรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ประชาชนหลายพันคนถือธงปาเลสไตน์และชูป้ายข้อความว่า "ปลดปล่อยปาเลสไตน์" ระหว่างเดินขบวนไปยังอาคารรัฐสภา
(ที่มา : รอยเตอร์)