รอยเตอร์ - อดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงศึกชิงทำเนียบขาวเมื่อวันเสาร์ (28 ต.ค.) หลังจากไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้มีสิทธิออกเสียงที่สนับสนุนรีพับลิกันเชื่อว่า ตนเองเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแทนโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยังคงนำโด่งในโพล
การประกาศแบบสุดเซอร์ไพรส์ของเพนซ์ในงานประชุมผู้บริจาคของรีพับลิกัน ยิววิช โคเอลิชัน ที่ลาสเวกัส ทำให้เขาเป็นผู้สมัครที่มีชื่อเสียงคนแรกที่ถอนตัว ขณะที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงเป็นตัวเก็งเต็งหนึ่ง
เพนซ์กล่าวว่า หลังจากตระเวนหาเสียงทั่วอเมริกามาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เขามั่นใจว่า นี่ไม่ใช่เวลาของตนเอง และตัดสินใจยุติแคมเปญ
อย่างไรก็ตาม เพนซ์ไม่ได้บอกว่าจะให้การรับรองผู้สมัครคนใด แถมดูเหมือนโจมตีทรัมป์ด้วยการเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนรีพับลิกันส่งมอบประเทศให้อยู่ในมือผู้ที่รักษามาตรฐานของพรรค ซึ่งจะดึงดูดการกระทำที่ดีและสร้างสรรค์ของมนุษย์ตามที่อดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น เคยกล่าวไว้
เพนซ์สำทับว่า บุคคลนั้นควรเป็นคนที่นำพาประเทศด้วยอัธยาศัยไมตรี
ทางด้านรอน ดีแซนทิส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา และทรัมป์ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องที่เพนซ์ประกาศถอนตัวระหว่างหาเสียง มีแต่นิกกี้ เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาธ์แคโรไลนา ที่ยกย่องเพนซ์เป็นนักสู้เพื่ออเมริกาและอิสราเอล ขณะที่ดีแซนทิส มาโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์หลังจากนั้นว่า เพนซ์เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้สมัครคนอื่นๆ ออกมาประกาศถอนตัวตามเพนซ์ จากขณะนี้ที่มีผู้สมัครเกินครึ่งโหล และผู้บริจาคที่ต้องการหาตัวเลือกแทนทรัมป์ยังไม่ปักใจบริจาคสนับสนุนใคร
อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์มีคะแนนนำลิ่วในโพลอาจไม่สลักสำคัญนัก และผู้สมัครคนอื่นๆ อาจตัดสินใจสู้ต่อ โดยยังไม่มีตัวเลือกใดโดดเด่นขึ้นมานับจากที่แคมเปญหาเสียงของดีแซนทิส เริ่มเนือยลงหลังจากออกสตาร์ทอย่างน่าผิดหวัง
ในส่วนเพนซ์ วัย 64 ปีนั้น แตกหักกับทรัมป์อย่างเปิดเผยด้วยการวิจารณ์อดีตประธานาธิบดีผู้นี้อย่างรุนแรงจากบทบาทในเหตุการณ์ม็อบบุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021
เพนซ์เดิมพันว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงที่สนับสนุนรีพับลิกันจะให้รางวัลตนเองจากการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แทนที่จะเชื่อฟังคำสั่งของทรัมป์ให้ล้มล้างผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ซึ่งเพนซ์รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีและทำหน้าที่ทางพิธีการแทนประธานาธิบดีในวุฒิสภา
ฐานเสียงของทรัมป์ไม่เคยยกโทษให้เพนซ์ที่ให้การรับรองโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งดังกล่าว
ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็น ทรัมป์เป็นหนึ่งในผู้สมัครที่มีคะแนนนิยมสูงสุดในการเลือกตั้งรอบไพรมารีในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้สนับสนุนรีพับลิกันส่วนใหญ่ไม่สนใจที่ทรัมป์โกหกว่า ถูกปล้นชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2020 รวมทั้งการที่เขาพยายามล้มล้างผลการเลือกตั้ง
เพนซ์ประกาศลงสมัครเป็นตัวแทนรีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน แต่ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนและผู้บริจาคได้มากพอในรอบไพรมารีเพื่อให้คงอยู่ในการแข่งขันต่อไป โดยเขามีคะแนนในโพลเป็นตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น
เดือนตุลาคม เพนซ์ยังขาดแคลนเงินสด ยอดการระดมเงินบริจาคไตรมาส 3 เมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า แคมเปญหาเสียงของเขาเป็นหนี้ 620,000 ดอลลาร์ และมีเงินสดในมือเพียง 1.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าน้อยกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ มาก
ในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา อดีตรองประธานาธิบดีที่ลงสมัครเพื่อเป็นตัวแทนพรรคในศึกชิงทำเนียบขาวมักประสบความสำเร็จ เช่น จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ของรีพับลิกันในปี 1988 และอัล กอร์ ของเดโมแครตในปี 2000 ตัวไบเดนเองก็เคยเป็นรองประธานาธิบดีในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามามาก่อน
เพนซ์ไม่สามารถเอาชนะพละกำลังทางการเมืองของทรัมป์ รวมถึงคู่แข่งที่ดึงดูดผู้มีสิทธิออกเสียงรอบไพรมารีและผู้บริจาคได้มากกว่า ซึ่งรวมถึงเฮลีย์ และดีแซนทิส
ระหว่างหาเสียง เพนซ์ชูแนวคิดอนุรักษนิยมทางสังคมและการเมืองดั้งเดิม รวมทั้งนโยบายต่างประเทศสายเหยี่ยว โดยเรียกร้องให้เพิ่มความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนและลดการใช้จ่ายด้านสวัสดิการ อุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมของเขายังถูกบดบังสนิทด้วยแนวคิดประชานิยมและแนวคิดฉายเดี่ยว “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์