ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เร่งเร้าบรรดาพันธมิตรของยูเครน ในวันพุธ (11 ต.ค.) ให้ป้อนอาวุธแก่ประเทศของเขาเพื่อความอยู่รอดในช่วงฤดูหนาว ในการเดินทางเยือนสำนักงานใหญ่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกรัสเซียเปิดฉากรุกรานเต็มรูปแบบ ท่ามกลางความกังวลว่าสงครามอิสราเอลและปาเลสไตน์ จะเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเคียฟ กระตุ้นให้สหรัฐฯ ออกมารับประกันว่า อเมริกามีอาวุธมากพอที่จะสนับสนุนทั้งยูเครนและอิสราเอล
เซเลนสกี ส่งเสียงเรียกร้องอีกครั้ง ร้องขอระบบป้องกันภัยทางอากาศ ขีปนาวุธพิสัยไกลและกระสุน ท่ามกลางความกังวลว่าเหตุฮามาสโจมตีอิสราเอล อาจหันเหความสนใจของสหรัฐฯ ผู้สนับสนุนหลักไปจากความขัดแย้งภายในประเทศของเขา "สำหรับเรา หนทางอยู่รอดระหว่างฤดูหนาวที่จะถึงนี้มีความสำคัญมาก" ประธานาธิบดียูเครน แถลงข่าวกับสื่อมวลชนร่วมกับ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ก่อนการประชุมร่วมของบรรดารัฐมนตรีกลาโหมของพันธมิตรทหารแห่งนี้ "เรากำลังเตรียมการ เราพร้อมแล้ว ตอนนี้เราจำเป็นได้รับการสนับสนุนบางอย่างจากพวกผู้นำ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงมาอยู่ที่นี่"
ในเวลาต่อมา เซเลนสกี แถลงว่าเขาได้รับคำรับประกันจากวอชิงตันว่าความช่วยเหลือด้านการทหารที่จะมอบแก่ยูเครน จะยังคงต่อเนื่องและไร้การติดขัดใดๆ "มันชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้ามอบแรงสนับสนุนที่จำเป็นแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่องและปราศจากปัญหาติดขัดใดๆ สำหรับการป้องกันตนเอง" เขากล่าวระหว่างปราศรัยประจำวัน
ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แถลงความช่วยเหลือด้านอาวุธชุดใหม่แก่เคียฟ มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ ในนั้นรวมถึงขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ เพื่อช่วยเคียฟ รอดพ้นจากความคาดหมายที่ว่ารัสเซียจะเปิดปฏิบัติการจู่โจมช่วงฤดูหนาว "อย่าเข้าใจผิด" ออสติน กล่าวในช่วงเริ่มต้นของการประชุมร่วมกับบรรดาผู้สนับสนุนนานาชาติของยูเครน "สหรัฐฯ จะยืนหยันอยู่เคียงข้างยูเครนตราบที่พวกเขาต้องการ"
แพกเกจอาวุธล่าสุดจากวอชิงตัน ถือเป็นชุดแรกนับตั้งแต่ความปั่นป่วนในสภาคองเกรส ก่อความสงสัยต่อศักยภาพของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อการคงแรงสนับสนุนแก่ยูเครน
เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดียูเครน แสดงความกังวลว่าวิกฤตในอิสราเอลอาจหันเหความสนใจไปจากสงครามในแผ่นดินของเขา ที่ปลดปล่อยโดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อเกือบ 600 วันก่อน "ใครจะรู้ว่ามันจะเป็นไปอย่างไร? ผมคิดว่าไม่มีใครรู้" เซเลนสกี ระบุ
อย่างไรก็ตาม ออสติน ยืนยันว่าสหรัฐฯ จะยังคงมีพลังขับเคลื่อนและทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการวิกฤตต่างๆ ในหลากหลายสมรภูมิ "เราจะยืนหยัดอย่างหนักแน่นเคียงข้างอิสราเอล ในขณะที่เรายังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนยูเครน"
เซเลนสกี เรียกร้องตะวันตกให้การสนับสนุนประชาชนชาวอิสราเอลดังเช่นที่บรรดาผู้สนับสนุนเคียฟหนุนหลังยูเครน ตามหลังถูกรัสเซียรุกรานเมื่อปีที่แล้ว และแสดงให้ชาวอิสราเอลเห็นว่าพวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง "พวกก่อการร้ายอย่างเช่นปูติน หรืออย่างเช่นฮามาส หาทางจับประเทศเสรีและประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายเป็นตัวประกัน และพวกเขาต้องการมีอำนาจเหนือคนที่แสวงหาเสรีภาพ" ผู้นำยูเครนกล่าว "พวกก่อการร้ายไม่เคยเปลี่ยน พวกเขาต้องพ่ายแพ้"
เซเลนสกี เน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบป้องกันภัยทางอากาศ ในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนของยูเครน ในขณะที่ประเทศของเขากำลังเร่งมือเตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ที่มอสโกจะเปิดปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ถล่มซ้ำรอยฤดูหนาวปีก่อน "มิตรสหายทุกคน เราจำเป็นต้องชนะในศึกสงครามฤดูหนาวเหนือพวกก่อการร้าย" เขาบอกกับเหล่าผู้สนับสนุนของเคียฟ
รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล มีกำหนดบรรยายสรุปแก่เหล่ารัฐมนตรีกลาโหมของพันธมิตรนาโต ผ่านวิดีโอลิงก์ในวันพฤหัสบดี (12 ต.ค.)
วิกฤตในอิสราเอล เกิดขึ้นในขณะที่ทำเนียบขาว กำลังดิ้นรนหาหนทางหนึ่งในการคงกระแสอาวุธป้อนแก่ยูเครน ตามหลังเผชิญความยากลำบากในการขอความเห็นชอบในสภาคองเกรส
ไบเดน พยายามสยบกระแสความกังวลในหมู่พันธมิตรของวอชิงตันที่ให้การสนับสนุนเคียฟ หลังจากความช่วยเหลือรอบใหม่ถูกตัดออกจากข้อตกลงหนึ่งในสภาคอสเกรส เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาลเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ มอบความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครน มากมายกว่าที่สมาชิกยุโรปในนาโตทั้งหมดและแคนาดารวมกัน นับตั้งแต่มอสโกเปิดฉากรุกรานเต็มรูปแบบเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้แทนทูตตะวันตก ณ นาโต ยืนกรานว่าการจัดหาอาวุธป้อนแก่ยูเครน ไม่เสี่ยงเหือดแห้งไปในอนาคตอันใกล้นี้ "เราต้องเดินหน้ายกระดับและค้ำจุนกระแสการป้อนอาวุธและกระสุนนี้อย่างมั่นคง" เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตกล่าว
ยูเครน กำลังผลักดันความพยายามก้าวมาเป็นสมาชิกนาโต เพื่อรับประกันความมั่นคงในระยะยาวของตนเอง ในนามที่ต้องเผชิญความทะเยอทะยานของมอสโก และ ณ ที่ประชุมซัมมิตของพันธมิตรทหารแห่งนี้เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา หาทางอำนวยความสะดวกแก่เส้นทางเข้าร่วมของเคียฟ แต่ยังไม่มอบคำเชิญอย่างเป็นทางการ หรือให้กรอบเวลาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกของยูเครน
(ที่มา : เอเอฟพี)